ไปยังหน้า : |
อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๕๕๒ ได้แสดงความหมายของจิตตชรูปสามัญไว้โดยสังเขป ดังต่อไปนี้
จิตตชรูปสามัญ หมายถึง จิตตชรูปที่เป็นไปตามปกติธรรมดาของร่างกาย เช่น การหายใจเข้า หายใจออก การเต้นของหัวใจ เป็นต้น ซึ่งมีกลุ่มรูปเกิดขึ้นเพียงอวินิพโภครูป ๘ และวิการรูป ๓ ตามสมควรเท่านั้น จิตที่ทำให้จิตตชรูปสามัญเกิดขึ้นได้นั้น มี ๗๕ ดวง คือ อกุศลจิต ๑๒ อเหตุกจิต ๘ [เว้นทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐] กามาวจรโสภณจิต ๒๔ มหัคคตจิต ๒๓ [เว้นอรูปาวจรวิบากจิต ๔] โลกุตตรจิต ๘
คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน:
จิตตชรูปสามัญ หมายถึง รูปร่างกายของสัตว์ทั้งหลายในเวลาเป็นปกติธรรมดา ในขณะที่ไม่ได้เคลื่อนไหวร่างกาย หรือไม่ได้แสดงปฏิกิริยาใด ๆ ออกมา เช่น การนอนเฉย ๆ การหายใจเข้าออกแบบธรรมดา การเต้นของหัวใจในเวลาปกติ การนอนหลับสนิท เป็นต้น ซึ่งเกิดจากจิต ๗๕ ดวงแบบปกติ [เว้นทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ อรูปวิบากจิต ๔] เป็นปัจจัยทำให้เกิดขึ้น อาการปกติของรูปที่เกิดจากจิตเหล่านี้ ย่อมมีกลุ่มรูปเกิดขึ้นพร้อมกัน ๘ รูป เรียกว่า สุทธัฏฐกกลาป แปลว่า กลุ่มรูป ๘ รูปล้วน ๆ ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ คือ มหาภูตรูป ๔ วัณณรูป ๑ คันธรูป ๑ รสรูป ๑ และอาหารรูป ๑ จิตตชรูปสามัญนี้ถึงแม้จะไม่มีปฏิกิริยาอาการใด ๆ ปรากฏก็ตาม แต่ย่อมมีสภาพแตกต่างจากสุทธัฏฐกกลาป [สามัญ] ของรูปที่เป็นซากศพแล้ว และรูปของสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลาย ซึ่งบุคคลทั่วไปสามารถสังเกตรู้ได้
อนึ่ง จิตตชรูปสามัญนี้ ถ้าเป็นไปโดยอาการหนักแน่นหรือเข้มแข็ง แต่ไม่ได้มีอาการเคลื่อนไหวทางกายหรือทางวาจาด้วย ย่อมมีวิการรูป ๓ คือ ลหุตา ความเบา มุทุตา ความอ่อนโยน และกัมมัญญตา ความเหมาะควรแก่การงาน เช่น การนอนนิ่ง ๆ ของบุคคลที่มีร่างกายปกติไม่เจ็บไข้ การหายใจอย่างโล่งอก เป็นต้น ในขณะนั้น ย่อมมีกลุ่มรูปที่เกิดพร้อมกัน ๑๑ รูป ได้แก่ อวินิพโภครูป ๘ วิการรูป ๓ ที่เรียกว่า ลหุตาทิเอกาทสกกลาป แปลว่า กลุ่มรูป ๑๑ โดยมีลหุตารูปเป็นต้นเกิดร่วมอยู่ด้วย