| |
สมังคิตา ๕   |  

สมังคิตา หมายถึง ความประชุมพร้อมแห่งเหตุปัจจัยที่จะทำให้กุศลกรรม หรืออกุศลกรรมนั้นสำเร็จลงได้ครั้งหนึ่ง ๆ ย่อมถึงพร้อมด้วยธรรม ๕ ประการ คือ

๑. อายูหนสมังคิตา หมายถึง ความเพียรพยายามในการกระทำกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรมนั้น ครบองค์เป็นปโยคสมบัติ

๒. เจตนาสมังคิตา หมายถึง เจตนาในกาลทั้ง ๓ คือ บุพพเจตนา มุญจนเจตนาและอปรเจตนา ในการกระทำกุศลกรรมหรืออกุศลกรรมนั้นครบบริบูรณ์ ไม่บกพร่อง ซึ่งเจตนาสมังคิตานี้ ย่อมมีได้ในบุคคลทั่วไป ยกเว้นพระอรหันต์ เพราะพระอรหันต์ท่านไม่มีเจตนาที่จะกระทำกรรมอันจะยังผลใด ๆ ให้เกิดขึ้นอีกแล้ว

๓. กัมมสมังคิตา หมายถึง กุศลกรรมหรืออกุศลกรรม อันเป็นเหตุที่จะก่อให้เกิดผลในอนาคตนั้น ครบองค์แห่งกรรมบถ คือ สำเร็จเป็นตัวกรรมครบบริบูรณ์พร้อมที่จะส่งผลให้เกิดขึ้นได้ทั้งที่เป็นทิฏฐธัมมเวทนียกรรม คือ กรรมให้ผลในปัจจุบันชาติก็ดี อุปปัชชเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลในชาติต่อไป [ชาติที่ ๒ หลังจากตายจากภพชาติที่ทำกรรมนั้นแล้ว] ก็ดี หรือ อปราปริยเวทนียกรรม คือ กรรมที่ให้ผลตั้งแต่ชาติที่ ๓ [หลังจากทำกรรมนั้นแล้ว] เรื่อยไปจนกว่าจะถึงนิพพานก็ดี

๔. วิปากสมังคิตา หมายถึง ผลของกุศลกรรม หรือ อกุศลกรรมในอดีต ที่ประกอบพร้อมด้วยกรรมในปัจจุบัน [ได้รับปัจจัยสนับสนุนจากกรรมในปัจจุบัน] ก็พร้อมที่จะให้ผลเกิดขึ้น ถ้ายังไม่ถึงซึ่งนิพพานตราบใด ย่อมไม่แคล้วคลาดไปจากวิปากสมังคิตานี้อยู่ตราบนั้น หมายความว่า จะต้องได้รับผลของกรรมนั้น ๆ ไม่ชาติใดก็ชาติหนึ่ง โดยสถานะ ๔ ประการ ได้แก่ ชนกกรรม คือ กรรมนำเกิดก็ดี อุปถัมภกกรรม คือ กรรมอุดหนุนก็ดี อุปปีฬิกกรรม คือ กรรมเบียดเบียนก็ดี หรือ อุปฆาตกกรรม คือ กรรมตัดรอนก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง ตามสมควรแก่เหตุปัจจัยที่จะให้ผลเกิดขึ้นได้

๕. อุปัฏฐานสมังคิตา หมายถึง อารมณ์ที่เป็นผลของกรรม ๓ ประการ คือ กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ หรือ คตินิมิตอารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ปรากฏขึ้นในเวลาใกล้ตาย อันจะเป็นเหตุนำบุคคลนั้นไปเกิดในภพภูมิที่กรรมนั้นจัดสรรให้ต่อไป แต่อุปัฏฐานสมังคิตานี้ มีกำลังอ่อนกว่าสมังคิตา ๔ อย่างข้างต้นนั้น

อนึ่ง อำนาจของกรรมที่จะส่งผลให้ได้รับในชาติต่อไปนั้น ย่อมกระทำอารมณ์ให้ปรากฏเมื่อใกล้ตาย ได้แก่ กรรมอารมณ์ กรรมนิมิตอารมณ์ หรือคตินิมิตอารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |