ไปยังหน้า : |
๑. สภาวอนิฏฐารมณ์ หมายถึง อารมณ์อันไม่น่าปรารถนา อันเป็นไปโดยสภาวะตามเป็นจริง โดยอาศัยปัจจัยเป็นเครื่องตัดสิน คือ วิปากจิตที่รับ มัชฌัตตบุคคล ทวารที่เกิด อารมณ์ที่ปรากฏทางทวารนั้น และในกาลที่เป็นไปโดยปกติ ซึ่งเมื่อใช้วิปากจิตที่รับ มัชฌัตตบุคคล ทวารที่เกิด อารมณ์ที่ปรากฏทางทวารนั้น และกาลเวลาที่เป็นไปโดยปกติเป็นเครื่องตัดสินแล้วก็มีสภาพเป็นไปตรงกันข้ามกับสภาวอิฏฐารมณ์ ดังที่กล่าวแล้วในเรื่องสภาวอิฏฐารมณ์
๒. ปริกัปปอนิฏฐารมณ์ หมายถึง อารมณ์อันไม่น่าปรารถนาที่เป็นไปเฉพาะบุคคล หรือ เฉพาะกาล ซึ่งเมื่อใช้วิปากจิตที่รับ ปณีตบุคคลหรือหีนบุคคล ทวารที่เกิด อารมณ์ที่ปรากฏทางทวารนั้น และกาลเวลาที่ไม่เป็นไปโดยปกติ เป็นเครื่องตัดสินแล้ว มีสภาพเป็นไปตรงกันข้ามกับปริกัปปอิฏฐารมณ์ ดังที่ได้กล่าวในเรื่องปริกัปปอิฏฐารมณ์
ในบรรดาอารมณ์เหล่านี้ สันตีรณจิต แต่ละดวง ย่อมเป็นไปตามสภาพของอารมณ์ที่เป็นไปโดยสภาวะ คือ สภาวอิฏฐารมณ์ หรือ สภาวอนิฏฐารมณ์ เท่านั้น ไม่ได้เป็นไปโดยสภาพของปริกัปปอารมณ์ หมายความว่า เมื่อมีสภาวอิฏฐารมณ์ปรากฏทางทวารใดทวารหนึ่งแล้ว สันตีรณจิตที่เป็นกุศลวิบากก็จะทำหน้าที่ไต่สวนสภาวอิฏฐารมณ์นั้น เมื่อมีสภาวอนิฏฐารมณ์ปรากฏทางทวารใดทวารหนึ่งแล้ว อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิปากจิต ก็จะเกิดขึ้นไต่สวนสภาวอนิฏฐารมณ์นั้น ฉะนั้น สันตีรณจิตที่เป็นอกุศลวิบาก ย่อมไม่ทำการไต่สวนสภาวอิฏฐารมณ์ และสันตีรณจิตที่เป็นกุศลวิบากก็ย่อมไม่ทำการไต่สวนสภาวอนิฏฐารมณ์ เช่นเดียวกัน