| |
โลกุตตรปัญญา   |  

โลกุตตรปัญญา ได้แก่ มรรคญาณ และผลญาณนั้นเอง ซึ่งเป็นญาณที่เกิดสืบเนื่องมาจากกัมมัสสกตาปัญญา เป็นเหตุไกล คือ เมื่อบุคคลเกิดสัมมาทิฏฐิ มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องบาปบุญ คุณโทษ ประโยชน์และสิ่งที่ไม่ใช่ประโยชน์ แล้วทำการศึกษาเรียนรู้ ในความเป็นไปของสัตว์ทั้งหลายได้อย่างถูกต้อง และน้อมนำมาเจริญวิปัสสนาภาวนา จนรู้เห็นความเป็นไปของสังขารรูปนาม ที่เป็นไปโดยไตรลักษณ์ เกิดปัญญารู้เห็นโดยลำดับ ตั้งแต่นามรูปปริจเฉทญาณ เป็นต้น จนถึงโคตรภูมิญาณ แล้วมรรคญาณ ผลญาณ อันเป็นโลกุตตรปัญญาย่อมเกิดขึ้นติดต่อจากโคตรภูญาณทันทีโดยไม่มีระหว่างคั่น เพราะฉะนั้น วิปัสสนาปัญญาจึงเป็นเหตุใกล้ให้เกิดโลกุตตรธรรม โลกุตตรปัญญามี ๘ ประการ ตามลำดับดังนี้

๑. โสดาปัตติมรรคญาณ หมายถึง ปัญญาญาณที่มีสภาพเหมือนกระแสน้ำที่ไหลเข้าไปสู่อริยมรรค คือ เป็นปัญญาญาณที่เข้าถึงพระนิพพานเป็นครั้งแรก หมายความว่า โสดาปัตติมรรคญาณนี้ เป็นปัญญาญาณที่เข้าถึงกระแสคือสภาวะของพระนิพพาน ด้วยการได้เสพรสชาติของพระนิพพพานอย่างประจักษ์แจ้งเป็นครั้งแรกของบุคคลนั้น ซึ่งยังไม่เคยได้เสพมาก่อนเลยในขณะที่เวียนว่ายตายเกิดอยู่ในสังสารวัฏนี้ อนึ่ง โสดาปัตติมรรคญาณนี้ เป็นปัญญาญาณที่เกิดขึ้นพร้อมกับการประหาณอนุสัยกิเลส ๒ อย่าง คือ ทิฏฐานุสัย และวิจิกิจฉานุสัย หรือประหาณอกุศลจิต ๕ ดวง คือ ทิฏฐิคตสัมปยุตตจิต ๔ วิจิกิจฉาสัมปยุตตจิต ๑ โดยเด็ดขาดเป็นสมุจเฉทปหาน นอกจากนี้ ยังทำกิเลสที่ประกอบในทิฏฐิคตวิปปยุตตจิต ๔ โทสมูลจิต ๒ ให้เบาบางลง [เรียกว่า ตนุกรปหาน] จนไม่สามารถแสดงอาการอันหยาบที่จะเป็นเหตุให้นำไปสู่อบายภูมิได้อีกต่อไป

๒. โสดาปัตติผลญาณ หมายถึง ปัญญาญาณที่เกิดขึ้นเพื่อเสวยวิมุตติสุข [ความสุขที่เกิดจากความหลุดพ้น] หลังจากที่โสดาปัตติมรรคญาณ ได้ทำการประหาณทิฏฐานุสัยและวิจิกิจฉานุสัย ให้เด็ดขาดเป็นสมุจเฉทปหาน และทำอนุสัยกิเลสที่เหลือให้เบาบางลงไปแล้ว เมื่อโสดาปัตติมรรคญาณดับลงแล้ว โสดาปัตติผลญาณนี้ ย่อมเกิดขึ้นติดต่อกันทันที โดยไม่มีจิตอื่นมาเกิดคั่นระหว่างเลย เพื่อเสวยทิฏฐสุขนิพพาน คือ ความสุขในพระนิพพานอันจะพึงเสวยได้ในปัจจุบันภพ

๓. สกิทาคามิมรรคญาณ หมายถึง ปัญญาญาณของพระอริยบุคคลผู้เข้าถึงความเป็นบุคคลผู้ที่จะเวียนมาสู่มนุษยโลกนี้อีกเพียงครั้งเดียว เป็นอย่างมาก แล้วจะปรินิพพาน หมายความว่า พระสกิทาคามีบุคคลนั้นจะกลับมาเกิดในมนุษย์โลกนี้อีกเพียง ๑ ชาติ แล้วจะเวียนไปสู่เทวโลกและพรหมโลก จนได้บรรลุอริยมรรคอริยผลเบื้องสูงขึ้นไปตามลำดับ จนถึงอรหัตตมรรคอรหัตตผล แล้วเข้าสู่ปรินิพพานไป สกิทาคามิมรรคญาณ เป็นปัญญาญาณที่เกิดขึ้นพร้อมกับทำการประหาณอนุสัยกิเลสที่เหลือจากโสดาปัตติมรรคญาณได้ประหาณไปแล้ว แต่เป็นการกระทำให้อนุสัยกิเลสเหล่านั้นเบาบางลงไปอีก เรียกว่า ตนุกรปหาน เท่านั้น

๔. สกิทาคามิผลญาณ หมายถึง ปัญญาญาณที่เกิดขึ้นในทันทีที่สกิทาคามิมรรคญาณดับลง ซึ่งเป็นปัญญาญาณที่เกิดขึ้นเพื่อเสวยวิมุตติสุขหลังจากที่สกิทาคามิมรรคญาณได้ทำการประหาณอนุสัยกิเลสโดยตนุกรปหานเสร็จสิ้นแล้ว

๕. อนาคามิมรรคญาณ หมายถึง ปัญญาญาณที่ทำบุคคลให้เข้าถึงความเป็นผู้ที่ไม่ต้องกลับมาปฏิสนธิในกามโลกอีกแล้ว ซึ่งเป็นปัญญาญาณที่เกิดขึ้นเพื่อประหาณกามราคานุสัยและปฏิฆานุสัยเป็นสมุจเฉทปหาน ให้หมดสิ้นไป ไม่มีเหลืออยู่ในขันธสันดานอีกแล้ว

๖. อนาคามิผลญาณ หมายถึง ปัญญาญาณที่เกิดขึ้นในลำดับแห่งอนาคามิ มรรคจิตโดยทันที ไม่มีจิตดวงอื่นมาเกิดคั่นระหว่าง เป็นอกาลิโก ซึ่งเป็นปัญญาญาณที่เกิดขึ้นเพื่อเสวยวิมุตติสุขหลังจากที่อนาคามิมรรคญาณได้ทำการประหาณกามราคานุสัยและปฏิฆานุสัยเป็นสมุจเฉทปหาน ให้หมดสิ้นไปจากขันธสันดานแล้ว

๗. อรหัตตมรรคญาณ หมายถึง ปัญญาญาณที่ทำให้บุคคลเข้าถึงความเป็นผู้ควรแก่การสักการบูชาอย่างยิ่งของเหล่าเทวดาและมนุษย์ทั้งหลาย เป็นปัญญาญาณที่เกิดขึ้นเพื่อประหาณภวราคานุสัย มานานุสัย และอวิชชานุสัย หรือโอรัมภาคิยสังโยชน์ ๕ อย่าง ได้แก่ รูปราคะ อรูปราคะ มานะ อุทธัจจะ และอวิชชา โดยสมุจเฉทปหาน ไม่ให้เหลืออยู่ในขันธสันดานเลย

๘. อรหัตตผลญาณ หมายถึง ปัญญาญาณที่เกิดขึ้นติดต่อกันทันทีหลังจากอรหัตตมรรคญาณได้ทำการประหาณอนุสัยกิเลสที่เหลือทั้งหมดโดยสมุจเฉทปหานแล้ว โดยไม่มีจิตอื่นมาเกิดคั่นระหว่าง เป็นอกาลิโก ซึ่งเป็นปัญญาญาณที่เกิดขึ้นเพื่อเสวยวิมุตติสุขจากการที่อรหัตตมรรคญาณได้ทำการประหาณอนุสัยกิเลสที่เหลือจากมรรคญาณเบื้องต่ำประหาณมาแล้วให้สูญสิ้นหมดไปโดยไม่มีกิเลสใดๆเหลืออยู่ในขันธสันดานอีกแล้ว


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |