| |
บุรุษโทษ ๑๘ ประการ   |  

บุคลิกลักษณะของบุรุษที่เป็นโทษ ด้วยอำนาจอกุศลกรรมเก่า อันอาจนำมาซึ่งความทุกข์และความเดือดร้อนแก่ตัวบุคคลนั้นเอง และแก่บุคคลที่เกี่ยวข้อง รวมทั้งสามารถเป็นแรงผลักดันหรือกระตุ้นให้เกิดพฤติกรรมทางกาย ทางวาจา และทางใจ อันเนื่องมาจากมีบุคลิกลักษณะทางรูปร่างที่เป็นบุรุษโทษนั้นเป็นปัจจัยทำให้เกิดปฏิกิริยาทางจิตใจและแสดงพฤติกรรมออกมาทางกายและทางวาจาดังกล่าวแล้วได้ ซึ่งสามารถสังเกตพิจารณาเห็นได้ เพื่อจะหาทางหลีกเหลี่ยงในการคบหา หรือหาทางป้องกันและแก้ไขพฤติกรรมนั้น ๆ ของเขาไม่ให้เกิดขึ้น หรือบรรเทาให้น้อยลงได้ มี ๑๘ ประการรุ.๒๖๙ คือ

๑. พลังกปาโท มีเท้าทั้ง ๒ ข้างใหญ่และโค้งคด [เท้ากาง]

๒. อันธนโข เล็บทั้งหมดทุกนิ้วมีสีดำเป็นหนองเน่า [เล็บกุด]

๓. โอพัทธปิณฑิโก มีปลีน่องทู่ยู่ขึ้นแล้วยานลงเป็นกระติกย้อย [น่องทู่]

๔. ทีฆุตตโรฏโฐ มีริมฝีปากบนหุบย้อยหุ้มริมฝีปากล่าง [ริมฝีปากบนยาวยาน ปากห้อย]

๕. จปโล น้ำลายไหลเป็นยางยืดออกมาทั้งสองแก้ม [น้ำลายไหลเยิ้มอยู่เสมอ]

๖. กฬาโร เขี้ยวงอกแยกย้อยออกมาพ้นปาก เหมือนเขี้ยวหมู [เขี้ยวโง้งเหมือนเขี้ยวหมู]

๗. ภัคคนาสโก มีจมูกฟุบแฟบดูน่าชัง [จมูกบี้]

๘. กุมโภทโร ท้องพลุ้ยเป็นกระเปาะตั้ง ดังหม้อใหญ่ [ท้องป่อง]

๙. ภัคคปิฏฐิ สันหลังไหล่ค่อมติดโกงหัก [หลังโกง]

๑๐. วิสมจักขุโก ตาถลนลึกทรลักษณ์ ข้างหนึ่งเล็กข้างหนึ่งใหญ่ ไม่เสมอกัน [ตาเหล่]

๑๑. โลหมัสสุ หนวดเครามีลักษณะดั่งลวดทองแดง ดูน่ากลัว [หนวดแดง]

๑๒. หริตเกโส ผมโหรงเหลืองสลัวดังสีสาน [ผมเหลือง]

๑๓. วลีนัง ตามตัวสะครานคล่ำด้วยเส้นเอ็นนูนเกะกะ [เส้นเอ็นขึ้นสะพรั่งหรือหนังย่นเป็นเกลียว]

๑๔. ติลกาหโต มีขี้แมลงวันและตกกระดั่งโรยงา [เกลื่อนไปด้วยกระดำ หรือเป็นไฝเต็มตัว]

๑๕. ปิงคโล ลูกตาก็เหลือกเหล่เหลืองเหมือนตาแมว [ตาเหลือกตาเหลือง]

๑๖. วินโต ร่างกายก็คดค้อมที่คอ หลังสะเอว พร้อมทั้ง ๓ แห่ง เหมือนแกล้งปั้น [มีอวัยวะค้อม ๓ แห่ง คือ เอวคด หลังโกง คอเอียง]

๑๗. วิกโฎ เท้าทั้ง ๒ ก็เหหันห่างเกะกะกางเก [ในเวลาเดินเท้าลั่นดังเผาะๆ]

๑๘. พรหาขโร ขนตามตัวหยาบใหญ่ดังแปรงหมู ดูผิดมนุษย์เหลือล้น [ตัวโต]

แต่อาการเหล่านี้ อาจเกิดจากสาเหตุอย่างอื่น เพราะฉะนั้น ต้องพิจารณาจากเหตุปัจจัยแวดล้อมอย่างอื่นประกอบด้วย อย่าเพิ่งตัดสินโทษของบุรุษ ด้วยอาการเหล่านี้อย่างใดอย่างหนึ่งทันที เพราะอาจเกิดความผิดพลาดได้ บุรุษแก้ว คือ บุรุษผู้มีบุญบางท่าน ก็อาจมีอาการเหล่านี้ได้ เพราะเหตุปัจจัยบางอย่าง เช่น กรรมเก่า เป็นต้น แต่จิตใจของเขาอาจน้อมไปในบุญกุศลหรือมุ่งมั่นอยู่ในความดีงาม หรือพยายามฝึกฝนตนเอง เพื่อความดีงาม ให้พ้นจากเคราะห์กรรมร้ายทั้งหลายก็ได้

อนึ่ง บุรุษที่มีรูปลักษณ์งดงามสมบูรณ์พร้อม ปราศจากบุรุษโทษทั้ง ๑๘ ประการเหล่านี้ ก็อาจมีความคิดนึกหรืออุปนิสัยไปในเรื่องที่ไม่ดี คือ มีจิตใจโลเลในกามคุณ หรือคิดร้ายในบุคคลทั้งหลาย มีความงมงายมัวเมาในสิ่งที่ไร้สาระ เป็นต้นก็มีได้ เพราะฉะนั้น จึงไม่ควรตัดสินเด็ดขาดฝ่ายเดียวทันทีเลยว่า เป็นบุรุษแก้ว แต่ต้องพิจารณาจากเหตุปัจจัยแวดล้อมและอุปนิสัยความประพฤติในชีวิตประจำวันเสียก่อน ซึ่งต้องอาศัยการสังเกตการณ์อย่างใกล้ชิดและใช้เวลาพอสมควร จึงจะรู้ได้

เพราะฉะนั้น บุรุษโทษ ๑๘ ประการนี้ เป็นการกล่าวโดยทั่วไป ที่สามารถเป็นไปได้โดยมาก สำหรับเป็นเกณฑ์เครื่องสังเกตพิจารณาและวินิจฉัยเท่านั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |