| |
ชื่อเรียกกามคุณ ๘ ประการ   |  

ในภยสูตร ปฐมปัณณาสก์ อังคุตตรนิกาย ฉักกนิบาต และทุติยปัณณาสก์ อัฏฐกนิบาต สมเด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าได้ทรงแสดงถึงชื่อที่ใช้เรียกกามคุณไว้ ๘ ประการรุ.๒๔๔ คือ

กามคุณ หมายถึง อารมณ์ที่เป็นเครื่องผูกมัดใจให้เกาะเกี่ยวและหลงใหล ซึ่งเปรียบเหมือนยางเหนียว เมื่อบุคคลถูกต้องเข้าแล้ว ย่อมเกาะติด ยิ่งจับก็ยังติดแน่น ยากที่จะแกะออกได้ กามคุณมี ๕ อย่าง คือ รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะหรือสัมผัสต่าง ๆ หรือมี ๖ ประการ โดยเพิ่มธัมมารมณ์ คือ ความคิดนึกถึงกามคุณ ๕ เหล่านั้นวนเวียนอยู่ในใจ และเป็นศูนย์กลางของความยึดติดผูกพัน เพราะความรู้สึกทางใจนั้นมีกำลังในการยึดหน่วงอยู่นานมากกว่าความรู้สึกที่เกิดทางปัญจทวาร ทางปัญจทวารนั้นรับแล้วก็ผ่านไป ส่วนทางใจนั้นย่อมยึดติดและฝังแน่นอยู่ ตราบเท่าที่ยังไม่ปล่อยวางหรือยังละคลายออกไปจากใจไม่ได้ บางคนถึงกับตกเป็นทาสของอารมณ์ที่ตนเองยึดติดผูกพันนั้นไปตลอดชีวิตก็มี เพราะฉะนั้น สภาพของกามคุณอารมณ์ทั้งหลายจึงมีชื่อเรียกที่บ่งบอกถึงความหมายถึง ๘ ประการ คือ

๑. ภยะ ชื่อว่า เป็นภัย

๒. ทุกขะ ชื่อว่า เป็นทุกข์

๓. โรคะ ชื่อว่า เป็นโรค

๔. คัณฑะ ชื่อว่า เป็นดังหัวฝี

๕. สัลละ ชื่อว่า เป็นดุจลูกศร

๖. สังคะ ชื่อว่า เป็นเครื่องติดข้อง

๗. ปังกะ ชื่อว่า เป็นดุจเปือกตม

๘. คัพภะ ชื่อว่า เป็นดุจการอยู่ในครรภ์

อธิบายความว่า

๑. กามคุณอารมณ์ทั้งหลาย ได้ชื่อว่า ภยะ ซึ่งแปลว่า เป็นสิ่งที่น่ากลัว เพราะเป็นสิ่งที่น่ากลัวสำหรับพระอริยบุคคลและพระโยคาวจรบุคคลทั้งหลาย อนึ่ง ได้ชื่อว่า เป็นภัย เพราะกามคุณอารมณ์ทั้งหลายย่อมนำมาซึ่งภัยแก่บุคคลผู้หลงใหลติดพันอยู่ ได้แก่ ภัยจากความเกิด แก่ เจ็บ ตาย ภายจากความเศร้าโศกเสียใจ ความพลัดพราก ความคับแค้นใจ เป็นต้น และภัยจากการทะเลาะเบาะแว้งแย่งชิง ภัยจากความยึดมั่นหวงแหน ภัยจากอาชญาแผ่นดิน เป็นต้น อันมีกามคุณอารมณ์ทั้งหลายเป็นเหตุ

๒. กามคุณอารมณ์ทั้งหลาย ได้ชื่อว่า ทุกขะ ซึ่งแปลว่า เป็นทุกข์ นั้น หมายความว่า เป็นสภาพที่เป็นเหตุให้เกิดทุกข์ต่าง ๆ ตามมา ได้แก่ ทุกข์เพราะความเกิด แก่ เจ็บ ตาย เศร้าโศกเสียใจพิไรรำพัน ความคับแค้นใจ ทุกข์เพราะความพลัดพรากจากของที่รัก ทุกข์เพราะต้องประสบกับสิ่งที่ไม่ชอบใจหรือเบื่อหน่ายแล้ว และทุกข์ในสังสารวัฏฏ์ มีการเกิดในอบายเป็นต้น

๓. กามคุณอารมณ์ทั้งหลาย ได้ชื่อว่า โรคะ ซึ่งแปลว่า เป็นโรค นั้น หมายความว่า กามคุณอารมณ์ทั้งหลายนั้นย่อมเป็นดังโรค คือ เครื่องเสียดแทงให้ได้รับความเจ็บปวดทุกข์ทรมาน เปรียบเหมือนบุคคลผู้ถูกโรคเสียดแทงแล้ว ย่อมไม่ได้รับความสุขสบายกายใจเหมือนในเวลาปกติ ฉันใด บุคคลที่ถูกกามคุณอารมณ์เสียดแทงจิตใจแล้ว ย่อมไม่ได้รับความปลอดโปร่งโล่งใจและความสงบเบาสบายแห่งร่างกาย ฉันนั้น

๔. กามคุณอารมณ์ทั้งหลาย ได้ชื่อว่า คัณฑะ ซึ่งแปลว่า เป็นดังหัวฝี นั้น หมายความว่า ธรรมดาหัวฝีเมื่อเกิดขึ้นที่ใดแล้ว ย่อมทำให้อวัยวะส่วนนั้นได้รับความเจ็บปวด ทั้งต้องระวังมิให้กระทบกับสิ่งใด ซึ่งจะทำให้ได้รับความเจ็บปวดทรมาน และธรรมดาหัวฝีย่อมโตขึ้นและเข้าถึงความสุกงอมเรื่อย ๆ มีอันแตกไปในที่สุด ฉันใด กามคุณอารมณ์ทั้งหลายก็ฉันนั้น เมื่อบุคคลใดเข้าไปยึดติดพัวพันแล้ว บุคคลนั้นย่อมได้รับความทุกข์ทรมานในการแสวงหาและในการหวงแหน ต้องคอยประคับประคองรักษา ต้องคอยดูแลประคบประหงมและบำรุงบำเรออยู่เสมอ แต่สุดท้ายก็ต้องประสบกับความสูญเสีย

๕. กามคุณอารมณ์ทั้งหลาย ได้ชื่อว่า สัลละ ซึ่งแปลว่า เป็นดุจลูกศร นั้น หมายควมว่า ปกติลูกศรเมื่อเสียบแทงเข้าที่อวัยวะส่วนใดแล้ว ย่อมทำให้บุคคลนั้นได้รับความเจ็บปวด หรือพิกลพิการ หรือถึงแก่ความตายได้ ฉันใด กามคุณอารมณ์ทั้งหลายก็ฉันนั้น เมื่อเสียบแทงอยู่ในจิตใจของบุคคลใดแล้ว ย่อมทำให้บุคคลนั้นได้รับความทุกข์ทรมานต่าง ๆ นานา อาจถึงแก่ชีวิตได้เช่นเดียวกัน

๖. กามคุณอารมณ์ทั้งหลาย ได้ชื่อว่า สังคะ ซึ่งแปลว่า เป็นเครื่องติดข้อง นั้น หมายความว่า กามคุณอารมณ์ทั้งหลายเปรียบเหมือนบ่วงหรือเครื่องกับดักหรือเหยื่อล่อ เมื่อบุคคลใดติดใจหลงไหลแล้ว บุคคลนั้นย่อมต้องพัวพันเกี่ยวข้องและได้รับความทุกข์ยากลำบากทรมานอยู่กับสิ่งเหล่านั้น ยากที่จะตัดใจออกไปให้พ้นจากสิ่งนั้นได้

๗. กามคุณอารมณ์ทั้งหลาย ได้ชื่อว่า ปังกะ ซึ่งแปลว่า เป็นดุจเปือกตม นั้น หมายความว่า ธรรมดาเปือกตมหรือโคลนดูด ย่อมมีสภาพเหนียวและเหลวลื่น เมื่อสัตว์หรือบุคคลใดตกลงไปแล้ว ยากที่จะขึ้นมาได้ ฉันใด กามคุณอารมณ์ทั้งหลายก็ฉันนั้น ย่อมมีสภาพที่น่ายินดีติดใจ เมื่อบุคคลใดติดใจหลงใหลแล้ว ก็ยากที่จะตัดใจให้พ้นจากสิ่งนั้นได้ บุคคลนั้นย่อมได้รับความทุกข์ยากลำบากทรมานทั้งกายและใจนานาประการ

๘. กามคุณอารมณ์ทั้งหลาย ได้ชื่อว่า คัพภะ ซึ่งแปลว่า เป็นดุจการอยู่ในครรภ์ นั้น หมายความว่า ธรรมดาของสัตว์ผู้อยู่ในครรภ์มารดานั้น ย่อมได้รับความทุกข์ยากลำบากและทรมานด้วยอาการต่าง ๆ มีความร้อนอบอ้าว ความเย็นยะเยือก ความอึดอัด กลิ่นเหม็นคาวนานาประการ เป็นต้น ฉันใด บุคคลที่ติดอยู่ในกามคุณอารมณ์ก็ฉันนั้น ย่อมประสบกับภาวะที่คับแค้นเป็นทุกข์นานาประการเช่นเดียวกัน


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |