| |
พรหมชาลสูตร (๒)   |  

[อมราวิกเขปิกทิฏฐิ ๔]

[พระพุทธเจ้า] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์ที่มีทิฏฐิไม่แน่นอนตายตัว เมื่อถูกถามปัญหาข้อใด ก็จะตอบแบบดิ้นได้ไม่ตายตัวว่า อย่างนี้ก็มิใช่ อย่างนั้นก็มิใช่ อย่างอื่นก็มิใช่ ไม่ใช่ก็มิใช่ มิใช่ไม่ใช่ก็มิใช่ ด้วยเหตุ ๔ ประการ คือ

๑. เพราะเขาไม่รู้จริง และเกลียดกลัวการพูดเท็จ เห็นว่าถ้าตอบแน่นอนตายตัว ก็อาจเป็นการกล่าวเท็จซึ่งจะมีผลเสียถึงตนได้

๒. เพราะเขาไม่รู้จริง และเกลียดกลัวการมีอุปาทาน เห็นว่าถ้าตอบแน่นอนตายตัว ก็จะเป็นการมีอุปาทานในคำตอบนั้น ซึ่งจะมีผลเสียถึงตนได้

๓. เพราะเขาไม่รู้จริง และเกลียดกลัวการซักถาม เห็นว่าถ้าตอบแน่นอนตายตัว จะถูกผู้มีปัญญาชำนาญการโต้วาทะ ซักไซ้ไล่เลียงสอบสวน ในคำตอบนั้น ตนก็ไม่อาจจะโต้ตอบ และจะมีผลเสียถึงตนได้

๔. เพราะเขาเป็นคนโง่งมงาย แม้แต่ความเห็นของตนที่มีอยู่ ก็ไม่กล้าตอบยืนยันความเห็นนั้นให้แน่นอนตายตัว

สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ที่มีทิฏฐิไม่แน่นอนตายตัว เมื่อถูกถามปัญหาในข้อนั้น ๆ ย่อมกล่าววาจาดิ้นได้ไม่ตายตัว ก็ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง หรือด้วยเหตุทั้ง ๔ ประการ ดังกล่าวมานี้

[อธิจจสมุปปันนิกทิฏฐิ ๒]

[พระพุทธเจ้า] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์ที่มีทิฏฐิว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นลอย ๆ บัญญัติอัตตาและโลกว่าเกิดขึ้นลอย ๆ ด้วยเหตุ ๒ ประการ คือ

๑. พวกเทวดาชื่อว่า อสัญญีสัตว์ [สัตว์ไม่มีสัญญา] เมื่อจุติมาเกิดเป็นมนุษย์ มีสัญญา แล้วบวชเป็นบรรพชิตปฏิบัติธรรมจนบรรลุเจโตสมาธิ [ได้ฌานสมาบัติ] สามารถระลึกถึงการเกิดมีสัญญาได้ แต่ที่ไกลกว่านั้น [ขณะที่เป็นอสัญญีสัตว์] ระลึกไม่ได้ เขาจึงกล่าวว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นลอย ๆ เพราะบัดนี้มีข้าพเจ้าขึ้นมา ทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อนนี้ไม่มี

๒. เพราะเขาเป็นนักตรึก เป็นนักคิดค้น มีความเห็นตามเหตุผลที่ตนคิดค้นได้ว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นลอย ๆ

สมณพราหมณ์เหล่าใดเหล่าหนึ่ง ที่มีทิฏฐิว่าอัตตาและโลกเกิดขึ้นลอยๆ บัญญัติว่า อัตตาและโลกเกิดขึ้นลอย ๆ ก็ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง หรือด้วยเหตุทั้ง ๒ ประการ ดังกล่าวมานี้

[พระพุทธเจ้า] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง กล่าวคำแสดงทิฏฐิเกี่ยวกับสรรพสิ่งในอดีต ๑๘ ประการ ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง หรือด้วยเหตุทั้ง ๑๘ ประการ ดังกล่าวมานี้ เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า เมื่อบุคคลยึดมั่นถือมั่นในเหตุแห่งทิฏฐิเหล่านั้นแล้ว ย่อมมีความเห็นเป็นไปอย่างนั้น ตถาคตรู้ชัดในเหตุนั้นและรู้ชัดยิ่งกว่านั้น ทั้งไม่ยึดมั่นในความรู้ชัดนั้นด้วย เพราะไม่ถือมั่น ตถาคตจึงหลุดพ้น

ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้แหละที่ลึกซึ้ง ซึ่งตถาคตทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเองแล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง เป็นเหตุให้เขากล่าวชมตถาคตตามความเป็นจริง

ข. อปรันตกัปปิกทิฏฐิ ๔๔

อปรันตกัปปิกทิฏฐิ คือ ทิฏฐิเกี่ยวกับสรรพสิ่งในอนาคต ๔๔ ประการ ได้แก่

๑. สัญญีทิฏฐิ คือ ทิฏฐิว่าอัตตาหลังจากตายแล้วยั่งยืน คืออัตตามีสัญญา ๑๖ ประการ

๒. อสัญญีทิฏฐิ คือ ทิฏฐิว่าอัตตาหลังจากตายแล้วยั่งยืน คืออัตตาไม่มีสัญญา ๘ ประการ

๓. เนวสัญญีนาสัญญีทิฏฐิ คือ ทิฏฐิว่าอัตตาหลังจากตายแล้วยั่งยืน คืออัตตา มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ๘ ประการ

๔. อุจเฉททิฏฐิ คือ ทิฏฐิว่า ตายแล้วขาดสูญ ๗ ประการ

๕. ทิฏฐิธรรมนิพพานทิฏฐิ คือ ทิฏฐิว่านิพพานในปัจจุบัน ๕ ประการ

[พระพุทธเจ้า] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง มีทิฏฐิเกี่ยวกับสรรพสิ่งในอนาคต ๔๔ ประการ เพราะเหตุใด เขาจึงมีทิฏฐิเช่นนั้น

[สัญญีทิฏฐิ ๑๖]

[พระพุทธเจ้า] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกที่มีทิฏฐิว่า อัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญา บัญญัติว่า อัตตา ๑๖ ประการนี้ หลังจากตายแล้ว ยั่งยืน มีสัญญา คือ

๑. อัตตาที่มีรูป

๒. อัตตาที่ไม่มีรูป

๓. อัตตาทั้งที่มีรูป ทั้งที่ไม่มีรูป

๔. อัตตาทั้งที่มีรูปก็มิใช่ ทั้งที่ไม่มีรูปก็มิใช่

๕. อัตตาที่มีที่สุด

๖. อัตตาที่ไม่มีที่สุด

๗. อัตตาทั้งที่มีที่สุด ทั้งที่ไม่มีที่สุด

๘. อัตตาทั้งที่มีที่สุดก็มิใช่ ทั้งที่ไม่มีที่สุดก็มิใช่

๙. อัตตาที่มีสัญญาอย่างเดียวกัน

๑๐. อัตตาที่มีสัญญาหลายอย่าง

๑๑. อัตตาที่มีสัญญาประมาณได้

๑๒. อัตตาที่มีสัญญาหาประมาณมิได้

๑๓. อัตตาที่มีสุขอย่างเดียว

๑๔. อัตตาที่มีทุกข์อย่างเดียว

๑๕. อัตตาที่มีทั้งสุขทั้งทุกข์

๑๖. อัตตาที่มีทุกข์ก็มิใช่ สุขก็มิใช่

สมณพราหมณ์ที่มีทิฏฐิว่า อัตตาหลังจากตายแล้วมีสัญญา บัญญัติว่า อัตตาหลังจากตายแล้ว ยั่งยืน มีสัญญา ได้แก่ อัตตาทั้ง ๑๖ ประการ หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ดังกล่าวมานี้

[อสัญญีทิฏฐิ ๘]

[พระพุทธเจ้า] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกที่มีทิฏฐิว่า อัตตาหลังจากตายแล้วไม่มีสัญญา บัญญัติว่า อัตตา ๘ ประการนี้ หลังจากตายแล้ว ยั่งยืน ไม่มีสัญญา คือ

๑. อัตตาที่มีรูป

๒. อัตตาที่ไม่มีรูป

๓. อัตตาทั้งที่มีรูป ทั้งที่ไม่มีรูป

๔. อัตตาทั้งที่มีรูปก็มิใช่ ทั้งที่ไม่มีรูปก็มิใช่

๕. อัตตาที่มีที่สุด

๖. อัตตาที่ไม่มีที่สุด

๗. อัตตาทั้งที่มีที่สุด ทั้งที่ไม่มีที่สุด

๘. อัตตาทั้งที่มีที่สุดก็มิใช่ ทั้งที่ไม่มีที่สุดก็มิใช่

สมณพราหมณ์ที่มีทิฏฐิว่าอัตตาหลังจากตายแล้วไม่มีสัญญา บัญญัติว่าอัตตาหลังจากตายแล้ว ยั่งยืน ไม่มีสัญญา ได้แก่ อัตตาทั้ง ๘ ประการ หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ดังกล่าวมานี้

[เนวสัญญีนาสัญญีทิฏฐิ ๘]

[พระพุทธเจ้า] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกที่มีทิฏฐิว่า อัตตาหลังจากตายแล้ว มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ บัญญัติว่า อัตตา ๘ ประการนี้ หลังจากตายแล้ว ยั่งยืน มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ คือ

๑. อัตตาที่มีรูป

๒. อัตตาที่ไม่มีรูป

๓. อัตตาทั้งที่มีรูป ทั้งที่ไม่มีรูป

๔. อัตตาทั้งที่มีรูปก็มิใช่ ทั้งที่ไม่มีรูปก็มิใช่

๕. อัตตาที่มีที่สุด

๖. อัตตาที่ไม่มีที่สุด

๗. อัตตาทั้งที่มีที่สุด ทั้งที่ไม่มีที่สุด

๘. อัตตาทั้งที่มีที่สุดก็มิใช่ ทั้งที่ไม่มีที่สุดก็มิใช่

สมณพราหมณ์ที่มีทิฏฐิว่า อัตตาหลังจากตายแล้ว มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ บัญญัติว่า อัตตาหลังจากตายแล้ว ยั่งยืน มีสัญญาก็มิใช่ ไม่มีสัญญาก็มิใช่ ได้แก่ อัตตาทั้ง ๘ ประการ หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ดังกล่าวมานี้เท่านั้น

[อุจเฉททิฏฐิ ๗]

[พระพุทธเจ้า] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกที่มีทิฏฐิว่าขาดสูญ บัญญัติว่าอัตตา ๗ ประการนี้ หลังจากตายแล้ว ขาดสูญ ไม่เกิดอีก คือ

๑. อัตตามีรูป ที่ประกอบด้วยมหาภูตรูป ๔ เกิดจากมารดาบิดา

๒. อัตตาที่เป็นทิพย์ มีรูป เป็นกามาพจร บริโภคกวฬิงการาหาร

๓. อัตตาที่เป็นทิพย์ มีรูป สำเร็จด้วยใจ มีอวัยวะและอินทรีย์ไม่บกพร่อง

๔. อัตตาที่เข้าถึงชั้นอากาสานัญจายตนะ

๕. อัตตาที่เข้าถึงชั้นวิญญาณัญจายตนะ

๖. อัตตาที่เข้าถึงชั้นอากิญจัญญายตนะ

๗. อัตตาที่เข้าถึงชั้นเนวสัญญานาสัญญายตนะ

สมณพราหมณ์ที่มีทิฏฐิว่าขาดสูญ บัญญัติว่าอัตตาหลังจากตายแล้ว ขาดสูญ ไม่เกิดอีก ได้แก่ อัตตาทั้ง ๗ ประการ หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ดังกล่าวมานี้

[ทิฏฐธัมมนิพพานทิฏฐิ ๕]

[พระพุทธเจ้า] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกที่มีทิฏฐิว่า นิพพานในปัจจุบันบัญญัติว่าบุคคลจะบรรลุนิพพานอันเป็นธรรมอย่างยิ่งได้ในปัจจุบันด้วยเหตุ ๕ ประการคือ

๑. บุคคลนั้น เพียบพร้อมด้วยกามคุณ ๕

๒. บุคคลนั้น เว้นจากกาม และอกุศลธรรม บรรลุปฐมฌาน

๓. บุคคลนั้น บรรลุทุติยฌาน

๔. บุคคลนั้น บรรลุตติยฌาน

๕. บุคคลนั้น บรรลุจตุตถฌาน

สมณพราหมณ์ที่มีทิฏฐิว่านิพพานในปัจจุบัน บัญญัติว่า บุคคลจะบรรลุนิพพาน อันเป็นธรรมอย่างยิ่งได้ในปัจจุบัน ด้วยเหตุ ๕ ประการ หรืออย่างใดอย่างหนึ่ง ดังกล่าวมานี้

[พระพุทธเจ้า] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง กล่าวคำแสดงทิฏฐิเกี่ยวกับสรรพสิ่งในอนาคต ๔๔ ประการ ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง หรือด้วยเหตุทั้ง ๔๔ ประการ ดังกล่าวมานี้เท่านั้น

[พระพุทธเจ้า] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์พวกหนึ่ง กล่าวคำแสดงทิฏฐิเกี่ยวกับสรรพสิ่งในอดีต และในอนาคต ๖๒ ประการ ด้วยเหตุใดเหตุหนึ่ง หรือด้วยเหตุทั้ง ๖๒ ประการ ดังกล่าวมานี้

เรื่องนี้ตถาคตรู้ชัดว่า เมื่อบุคคลยึดมั่นถือมั่นในเหตุแห่งทิฏฐิเหล่านั้นแล้ว ย่อมมีความเห็นเป็นไปอย่างนั้น ตถาคตรู้ชัดในเหตุนั้นและรู้ชัดยิ่งกว่านั้น ทั้งไม่ยึดมั่นในความรู้ชัดนั้นด้วย เพราะไม่ถือมั่น ตถาคตจึงหลุดพ้น

ภิกษุทั้งหลาย ธรรมเหล่านี้แหละที่ลึกซึ้ง ซึ่งตถาคตทำให้แจ้งด้วยปัญญาอันยิ่งเอง แล้วสอนผู้อื่นให้รู้แจ้ง เป็นเหตุให้เขากล่าวชมตถาคตตามความเป็นจริง

[ฐานะของผู้ถือทิฏฐิ]

[พระพุทธเจ้า] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดที่กล่าวคำแสดงทิฏฐิต่าง ๆ เกี่ยวกับสรรพสิ่งทั้งในอดีตและในอนาคต รวม ๖๒ ประการ ทิฏฐินั้น ๆ ย่อมเป็นความเข้าใจของสมณพราหมณ์เหล่านั้น ซึ่งไม่มีความรู้อย่างแท้จริง เป็นความดิ้นรนของคนที่มีตัณหาเท่านั้น

[ผัสสะเป็นเหตุแห่งทิฏฐิ]

[พระพุทธเจ้า] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดที่กล่าวคำแสดงทิฏฐิต่าง ๆ เกี่ยวกับสรรพสิ่งทั้งในอดีตและในอนาคต รวม ๖๒ ประการ ทิฏฐินั้น ๆ มีขึ้นก็เพราะผัสสะเป็นปัจจัย

[พระพุทธเจ้า] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดที่กล่าวคำแสดงทิฏฐิต่าง ๆ เกี่ยวกับสรรพสิ่งทั้งในอดีตและในอนาคต รวม ๖๒ ประการ เขาเหล่านั้นเว้นผัสสะแล้วจะรู้สึกในทิฏฐินั้น ๆ ย่อมเป็นไปไม่ได้

[พระพุทธเจ้า] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดที่กล่าวคำแสดงทิฏฐิต่าง ๆ เกี่ยวกับสรรพสิ่งทั้งในอดีตและในอนาคต รวม ๖๒ ประการ เขาเหล่านั้น ย่อมมีเวทนาอันเนื่องมาจากผัสสายตนะ [ผัสสะที่เกิดจากการกระทบกับอายตนะ] ทั้ง ๖ เพราะเวทนาของสมณพราหมณ์เหล่านั้นเป็นปัจจัยจึงเกิดตัณหา เพราะตัณหาเป็นปัจจัยจึงเกิดอุปาทาน เพราะอุปาทานเป็นปัจจัยจึงเกิดภพ เพราะภพเป็นปัจจัยจึงเกิดชาติ เพราะชาติเป็นปัจจัยจึงเกิด ชรา มรณะ โสกะ ปริเทวะ ทุกขะ โทมนัส อุปายาส

เมื่อใดภิกษุรู้ชัดตามความเป็นจริงซึ่งความเกิด ความดับ คุณ และโทษ แห่งผัสสายตนะทั้ง ๖ กับทั้งอุบายเป็นเครื่องออกไปจากผัสสายตนะเหล่านั้น เมื่อนั้นภิกษุนี้ย่อมรู้ชัดยิ่งกว่าสมณพราหมณ์เหล่านี้ทั้งหมด

[พระพุทธเจ้า] ภิกษุทั้งหลาย สมณพราหมณ์เหล่าใดที่กล่าวคำแสดงทิฏฐิต่าง ๆ เกี่ยวกับสรรพสิ่งทั้งในอดีตและในอนาคต รวม ๖๒ ประการ เขาเหล่านั้นทั้งหมดถูกทิฏฐิ ๖๒ อย่างเหล่านี้แหละเป็นดุจข่ายปกคลุมไว้ ติดอยู่ในข่ายนี้ เมื่อผุดก็ผุดอยู่ในข่ายนี้ [เมื่อดำลง ก็ดำลงอยู่ในข่ายนี้]


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |