| |
ปัจฉานุตาปธรรม ๑๐ ประการ   |  

ปัจฉานุตาปธรรม หมายถึง การกระทำหรือสิ่งที่ทำให้บุคคลต้องเดือดร้อนใจในภายหลัง อันเป็นเหตุให้เกิดกุกกุจจะ มี ๑๐ ประการ คือ

๑. ไม่แสวงหาทรัพย์ตอนที่เป็นหนุ่มสาว หมายความว่า บุคคลเมื่อยังเป็นหนุ่มสาวอยู่ ไม่ทำการพยายามในการแสวงหาทรัพย์ ไม่ทำการงานก่อร่างสร้างตัวให้มีหลักฐานมั่นคง ครั้นเมื่อแก่ตัวลงหาทรัพย์ไม่ได้แล้ว ย่อมเกิดความเดือดร้อนกาย เกิดความทุกข์ใจในภายหลัง ด้วยเมื่อหวนคิดถึงความหลังว่า “เมื่อก่อนตอนที่เรามีกำลังดีอยู่ไม่ได้แสวงหาทรัพย์ไว้เป็นทุนเลย บัดนี้เราแก่หง่อมแล้ว ไม่สามารถหาทรัพย์ได้แล้ว ชีวิตของเราจึงต้องลำบาก ทั้งในบัดนี้และในกาลข้างหน้าต่อไป”

๒. ไม่ได้ศึกษาศิลปวิทยาเมื่อตอนปฐมวัย หมายความว่า วิชาที่สมควรแก่ตน ซึ่งเป็นปัจจัยในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง และเป็นพื้นฐานในการสร้างความสุขความเจริญแก่ตนเอง หากว่าบุคคลใดไม่ได้ทำการศึกษาไว้ก่อนตั้งแต่ปฐมวัย เมื่อวัยล่วงเลยไปแล้ว การที่จะหันมาทำการศึกษาใหม่ก็เป็นการลำบาก เพราะไม่มีเวลาบ้าง เพราะสติปัญญาและมันสมองลดน้อยถอยลงไปบ้าง บุคคลนั้นย่อมเกิดความเดือดร้อนใจในภายหลังว่า “เราไม่ได้ศึกษาเล่าเรียนวิชาความรู้ไว้ ผู้ไม่มีวิชาความรู้ย่อมเป็นอยู่ได้อย่างลำบาก เหมือนนกไม่มีขนปีก ย่อมบินขึ้นสู่ที่สูงไม่ได้ ฉันนั้น”

๓. ชอบคดโกง หมายความว่า บุคคลที่ถูกอกุศลครอบงำแล้วได้กระทำการคดโกงบุคคลอื่นหรือสัตว์อื่น ด้วยความโหดร้ายและทารุณ ทำให้บุคคลอื่นหรือสัตว์อื่นได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนเพราะการกระทำของตน เมื่อบุคคลผู้คดโกงเกิดความสำนึกได้ในภายหลัง หรือภายหลังได้ประสบเคราะห์กรรมอันเป็นผลของการคดโกง บุคคลนั้นย่อมเกิดความเดือดร้อนใจว่า “เมื่อก่อน เราได้คดโกง ส่อเสียด กินสินบน อย่างโหดร้ายทารุณ สร้างความเดือดร้อนแก่บุคคลอื่นเป็นอันมาก การกระทำของเราในกาลก่อน เป็นความชั่วหยาบยิ่งหนอ”

๔. ชอบฆ่าสัตว์ด้วยความโหดร้ายทารุณ หมายความว่า บุคคลที่ชอบฆ่าสัตว์ด้วยวิธีการทรมาน โดยเห็นเป็นของสนุกสนานเป็นเกมส์กีฬา เมื่อได้สำนึกรู้สึกถึงความเป็นบาปในการกระทำเหล่านั้น ด้วยมาคิดคำนึงว่า เมื่อก่อนเราชอบฆ่าสัตว์ อย่างหยาบช้าเลวทราม และโหดร้ายทารุณ การกระทำของเราเป็นสิ่งที่ไม่ประเสริฐ เป็นความไม่อ่อนน้อมต่อสัตว์ทั้งหลาย” ดังนี้เป็นต้นแล้ว บุคคลนั้นย่อมเกิดความเดือดร้อนใจ หวาดผวาต่อผลของกรรมที่จะย้อนกลับมาถึงตน

๕. ชอบคบชู้ หมายความว่า บุคคลใดได้เคยประพฤติผิดในกาม ด้วยการคบชู้กับภรรยาสามีหรือบุตรธิดาของบุคคลอื่น ที่ไม่ใช่คู่ครองของตน เมื่อบุคคลนั้นได้เกิดความสำนึกระลึกรู้ว่าการกระทำนั้นเป็นบาปอันหยาบช้าเลวทราม ที่จะให้ผลเป็นความทุกข์แก่ตนเอง หรือก่อผลกระทบต่อบุคคลที่ตนรัก อันจะก่อความปวดร้าวใจให้เกิดขึ้นแก่ตนเองแล้ว บุคคลนั้นย่อมเกิดความเดือดร้อนใจอยู่เป็นนิตย์เมื่อระลึกถึงกรรมชั่วหยาบนั้น

๖. มีความตระหนี่ หมายความว่า บุคคลที่มีความตระหนี่ถี่เหนียว หวงแหนในทรัพย์สมบัติของตน ซึ่งควรจะได้ใช้สอยให้เป็นประโยชน์แก่ตนเอง และบุคคลรอบข้าง ตลอดถึงการใช้เป็นปัจจัยในการสั่งสมบุญกุศลเป็นเสบียงบุญต่อไปในภพชาติหน้า แต่ตนเองกลับมีความกระเบียดกระเสียนในการใช้สอยทรัพย์นั้น ทำให้เกิดความเดือดร้อนแก่ตนเองและบุคคลรอบข้าง ตลอดถึงไม่ได้ใช้สอยทรัพย์ให้เป็นประโยชน์ใด ๆ เลย มีแต่โทษที่เกิดจากความยึดถือหวงแหน ทุกข์ที่เกิดจากการต้องระวังรักษา เมื่อบุคคลนั้นเกิดความสำนึกรู้สึกตัวว่า การกระทำของตนเองที่ผ่านมา เป็นไปด้วยอำนาจความตระหนี่ มีแต่สร้างความทุกข์ให้กับตนเองและบุคคลรอบข้าง โดยไม่มีคุณงามความดีที่ควรจะเกิดขึ้นจากทรัพย์สมบัตินั้นเลย เขาย่อมเกิดความเดือดร้อนใจขึ้นด้วยคิดว่า “เมื่อก่อนนั้น ข้าวน้ำและวัตถุสิ่งของเรามีอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เราก็มิได้ให้ทานเลย” ดังนี้เป็นต้น

๗. ไม่เลี้ยงดูบิดามารดา หมายความว่า บุคคลที่ไม่ได้ทำปฏิการะตอบแทนคุณบิดามารดาด้วยการอุปถัมภ์เลี้ยงดูท่านตามสมควรที่ตนจะพึงทำ ด้วยอำนาจความประมาท ไม่รู้เท่าทันความจริง หรือด้วยอำนาจความตระหนี่ถี่เหนียวหวงแหนทรัพย์สมบัติจนเกินเหตุ ทำให้บิดามารดาได้รับความทุกข์ความเดือดร้อนกายใจ เมื่อเขาเกิดความสำนึกรู้สึกผิดชอบชั่วดีขึ้นมา ย่อมเกิดความเดือดร้อนใจ ตำหนิตนเองว่า “เรามีความสามารถพอที่จะเลี้ยงดูบิดามารดาผู้ให้กำเนิดให้ชีวิตแก่เรา ผู้เปรียบประดุจพรหมของลูก เป็นบูรพาจารย์ของลูก เป็นพระอรหันต์ของลูก เป็นอาหุเนยยบุคคลของลูก เป็นปาหุเนยยบุคคลของลูก เป็นบุญเขตของลูก แต่กิจเหล่านั้นเราไม่ได้ทำเลย เราเป็นผู้แคล้วคลาดแล้วจากบุญอันยิ่งใหญ่ทั้งหลายหนอ”

๘. ไม่ทำตามโอวาทของบิดามารดา หมายความว่า บุคคลที่มีนิสัยดื้อรั้น มุทะลุดุดัน ไม่อ่อนน้อมถ่อมตนต่อบิดามารดา ไม่เชื่อฟังคำอบรมสั่งสอนของบิดามารดา ที่ว่ากล่าวแนะนำสั่งสอนด้วยความปรารถนาดี หวังให้บุตรธิดาเป็นคนดี ดำเนินชีวิตไปสู่ความสุขความเจริญก้าวหน้าในชีวิต แต่มักประพฤติแต่สิ่งที่ตรงกันข้ามกับที่บิดามารดาแนะนำพร่ำสอนหรือดื้อรั้นประพฤติในสิ่งที่บิดามารดาห้ามปราม เมื่อบุคคลนั้นเกิดความสำนึกรู้สึกถึงความผิด ที่ตนเองได้กระทำไปแล้วนั้น หรือตนเองได้ประสบความทุกข์ความเดือดร้อนเพราะผลกรรมที่ตนเองได้กระทำไปแล้ว บุคคลนั้นย่อมเดือดร้อนใจถึงการกระทำของตนอยู่เสมอว่า บิดามารดาของเรา ผู้นำรสคือความดีงามอันน่าปรารถนาน่าต้องการทุกอย่างมาให้ เหมือนบุคคลผู้ชี้ขุมทรัพย์อันประเสริฐ คอยเป็นอาจารย์พร่ำสอนเรา แต่เรากลับดูหมิ่นและเมินเฉยต่อคำพร่ำสอนของท่านทั้ง ๒ เราเป็นผู้ไม่มีบุญหนอ เราแคล้วคลาดจากคุณงามความดีที่จะพึงได้พึงถึงแล้วหนอ” ดังนี้เป็นต้น

๙. การไม่เข้าไปนั่งใกล้สมณพราหมณาจารย์ผู้ทรงศีลเป็นพหูสูต หมายความว่า บุคคลใดที่มีความหลงผิด ไม่นิยมชมชอบในสมณพราหมณ์ที่มีศีลมีกัลยาณธรรมอันดีงาม ทรงไว้ซึ่งพหูสูตคือความรู้ความเข้าใจสรรพสิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริงด้วยปัญญาอันยิ่ง แต่ไปนิยมชมชอบในสิ่งอื่นที่ไม่มีสาระแก่นสาร หรือหลงประพฤติในสิ่งที่ผิด ด้วยอำนาจอวิชชาเข้าครอบงำ ไม่เข้าไปใกล้สมณพราหมณ์ผู้ทรงศีลทรงธรรมเหล่านั้น เพื่อสอบสวนทวนถามข้ออรรถข้อธรรมให้เกิดความรู้ความเข้าใจโดยถูกต้อง อันจะเป็นปัจจัยในการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องต่อไป เมื่อบุคคลนั้นเกิดความสำนึกรู้ถึงความผิดพลาดที่ตนเองได้กระทำมา หรือได้รับความทุกข์ทรมานอันเกิดจากผลของอกุศลกรรมที่ตนเองได้ก่อขึ้นในกาลก่อน เพราะความไม่รู้ไม่เข้าใจตามความเป็นจริง บุคคลนั้นย่อมเกิดความเดือดร้อนใจ ด้วยคิดว่า “เมื่อก่อนเรามิได้ไปมาหาสู่สมณพราหมณ์ผู้มีศีลเป็นพหูสูตเลย ถ้าเราได้เข้าไปหาและสนทนาสอบสวนทวนถามข้ออรรถข้อธรรมกับท่านเหล่านั้น เราคงจะได้รับความรู้ความเข้าใจที่ถูกต้อง ชีวิตของเราคงจะมีสาระแก่นสารกว่าที่เป็นอยู่นี้ หรือเราคงไม่ต้องทำกรรมอันชั่วหยาบเห็นปานนี้” ดังนี้เป็นต้น

๑๐. การไม่ประพฤติสุจริตกรรม ไม่เข้าใกล้สัตบุรุษ หมายความว่า บุคคลใดที่มัวประมาท ไม่รู้เท่าทันความเป็นจริง ปล่อยชีวิตให้ล่วงเลยไปโดยเปล่าประโยชน์ ไม่กระทำสุจริตกรรมที่ควรจะกระทำ แต่กลับไปกระทำทุจริตกรรมที่ไม่ควรกระทำเสีย ด้วยความสำคัญว่าควรในสิ่งที่ไม่ควรก็ดี หรือด้วยความหลงผิดคิดไม่รู้เท่าทันก็ดี โดยไม่ยอมเข้าไปหาสัตบุรุษผู้มีความรู้ดีปฏิบัติชอบในกรอบแห่งคุณธรรม มัวหลงใหลคบหาแต่พวกอสัตบุรุษที่คอยชักนำให้กระทำแต่สิ่งที่เป็นทุจริตทุราชีพต่างๆ อยู่เสมอ เมื่อบุคคลนั้นเกิดความสำนึกรู้สึกผิดต่อการกระทำนั้น ๆ หรือได้ประสบกับผลกรรมนั้น ๆ แล้ว ย่อมเกิดความเดือดร้อนใจในภายหลังว่า “สุจริตธรรมที่ประพฤติดีแล้วทำให้เกิดความสุขก็ดี สัตบุรุษที่เข้าไปหาแล้ว ทำให้เกิดคุณงามความดีต่าง ๆ ก็ดี เราไม่ได้กระทำเลย แต่กลับไปประพฤติในสิ่งที่เป็นทุจริตอันก่อทุกข์ให้ และไปคบหาสมาคมกับพวกอสัตบุรุษซึ่งนำความเสื่อมเสียมาสู่เรามากมาย” ดังนี้เป็นต้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |