| |
พระพุทธวจนะเกี่ยวกับวิตก มหาปุริสวิตักกสูตร   |  

มหาปุริสวิตก หมายถึง ความตรึกนึกคิดอย่างละเอียดลึกซึ้งในเหตุการณ์ หรือธรรมต่าง ๆ ของบุคคลผู้มีปัญญาทั้งหลาย มีพระพุทธเจ้าและพระมหาสาวกทั้งหลาย ดังเช่น ท่านพระอนุรุทธเถระ เป็นต้น มี ๘ ประการ คือ

๑. ธรรมนี้เป็นของผู้มีความปรารถนาน้อย ไม่ใช่ของผู้มีความปรารถนามาก

๒. ธรรมนี้เป็นของผู้สันโดษ ยินดีด้วยของที่มีอยู่ ไม่ใช่ของผู้ไม่สันโดษ

๓. ธรรมนี้เป็นของผู้สงัดแล้ว ไม่ใช่ของผู้ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่

๔. ธรรมนี้เป็นของผู้ปรารภความเพียร ไม่ใช่ของผู้เกียจคร้าน

๕. ธรรมนี้เป็นของผู้มีสติตั้งมั่น ไม่ใช่ของผู้มีสติหลงลืม

๖. ธรรมนี้เป็นของผู้มีใจตั้งมั่น ไม่ใช่ของผู้มีใจไม่ตั้งมั่น

๗. ธรรมนี้เป็นของผู้มีปัญญา [ดี] ไม่ใช่ของผู้มีปัญญาทราม

๘. ธรรมนี้เป็นของผู้ยินดีในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า ไม่ใช่ของผู้ยินดีในธรรมที่เนิ่นช้า

ดังหลักฐานที่มาในอนุรุทธมหาวิตักกสูตร พระสุตตันตปิฎก ปฐมปัณณาสก์ อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาต แสดงไว้ว่า พระอนุรุทธเถระ เป็นพระอนุชา [ลูกพี่ลูกน้อง] กับพระพุทธเจ้า คือ เป็นโอรสของพระเจ้าอาของพระพุทธเจ้า เมื่อท่านอุปสมบทแล้วได้เรียนกรรมฐานจากพระธรรมเสนาบดีสารีบุตร ได้เข้าไปสู่ป่าปาจีนวังสะ มฤคทายวัน ขณะเจริญสมณธรรมอยู่นั้น ได้ตรึกถึงมหาปุริสวิตก ๗ ประการ คือ

๑. ธรรมนี้ของผู้มีความปรารถนาน้อย ไม่ใช่ของผู้มีความปรารถนามาก

๒. ธรรมนี้ของผู้สันโดษ ยินดีด้วยของที่มีอยู่ ไม่ใช่ของผู้ไม่สันโดษ

๓. ธรรมนี้ของผู้สงัดแล้ว ไม่ใช่ของผู้ยินดีในการคลุกคลีด้วยหมู่

๔. ธรรมนี้ของผู้ปรารภความเพียร ไม่ใช่ของผู้เกียจคร้าน

๕. ธรรมนี้ของผู้มีสติตั้งมั่น ไม่ใช่ของผู้มีสติหลงลืม

๖. ธรรมนี้ของผู้มีใจตั้งมั่น ไม่ใช่ของผู้มีใจไม่ตั้งมั่น

๗. ธรรมนี้ของผู้มีปัญญา [ดี] ไม่ใช่ของผู้มีปัญญาทราม

เมื่อพระอนุรุทธเถระท่านได้ตรึกนึกคิดอยู่อย่างนี้ พระบรมศาสดาได้ทราบวารจิต จึงได้เสด็จไปยังที่อยู่ของท่าน ทราบว่า ท่านกำลังตรึกอยู่อย่างนั้น จึงทรงอนุโมทนาว่า ดีแล้ว ดีแล้ว อนุรุทธะ แล้วทรงแนะนำให้ตรึกในข้อที่ ๘ ว่า “ธรรมนี้เป็นของผู้ยินดีในธรรมที่ไม่เนิ่นช้า ไม่ใช่ของผู้ยินดีในธรรมที่เนิ่นช้า” ท่านตรึกตามพระพุทธดำรัสนั้น ไม่นานก็ได้บรรลุเป็นพระอรหันต์ ครั้นได้บรรลุเป็นพระอรหันต์แล้ว ท่านได้กล่าวคาถาในเวลานั้นว่า

พระบรมศาสดาผู้เป็นเยี่ยมในโลก ทรงทราบความดำริของข้าพเจ้าแล้ว ได้เข้ามาหาข้าพเจ้าด้วยฤทธิ์โดยพระกาย อันสำเร็จแต่พระหฤทัย พระองค์ได้ทรงแสดงธรรมอันยิ่งกว่าความดำริของข้าพเจ้าเท่าที่ดำริไว้ พระพุทธเจ้าผู้ยินดีแล้วในธรรมอันไม่เป็นเหตุให้เนิ่นช้า ได้ทรงแสดงธรรมอันเป็นเหตุให้เนิ่นช้าแก่ข้าพเจ้า ข้าพเจ้าได้รู้ทั่วถึงธรรมของพระองค์แล้ว ยินดีในศาสนาอยู่ ข้าพเจ้านั้นได้บรรลุวิชชา ๓ แล้วโดยลำดับ คำสอนของพระพุทธเจ้านั้นข้าพเจ้าได้กระทำให้ถึงที่สุดแล้ว


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |