| |
ลักขณาทิจตุกะของเจตนาเจตสิก   |  

บัณฑิตผู้มีปัญญาเป็นเครื่องพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมสามารถกำหนดพิจารณาเรียนรู้สภาวะของเจตนาเจตสิก อันเป็นปรมัตถธรรมอย่างหนึ่ง ซึ่งนับเนื่องในสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้เกิดการรับรู้อารมณ์ที่พิเศษออกไปจากเวทนาขันธ์และสัญญาขันธ์ ด้วยการกระตุ้นเตือนสัมปยุตตธรรมให้มุ่งสู่อารมณ์ โดยอาศัยคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตนที่ไม่เหมือนกับสภาวธรรมอื่น ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกะ ดังต่อไปนี้

๑. เจโตยุตตะลักขะณา มีการชักชวน กระตุ้นเตือนสัมปยุตตธรรมในอารมณ์ เป็นลักษณะ หมายความว่า เจตนานี้ เมื่อเกิดขึ้นแล้ว ย่อมแสดงลักษณะอาการอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตน คือ การชักชวน หรือกระตุ้นเตือน จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนให้เข้าไปจับอยู่กับอารมณ์ไม่ให้หลุดหายไปจากอารมณ์นั้น คือ การจัดแจงให้สัมปยุตตธรรมทำหน้าที่ของตน ๆ ไม่ให้ย่อหย่อน และไม่ให้เกิดความเลื่อมล้ำกัน เพื่อให้กิจการงานของสัมปยุตตธรรมเหล่านั้นสำเร็จโดยเรียบร้อยดีไม่มีบกพร่อง นี้เป็นลักษณะของเจตนาเจตสิก เปรียบเหมือนผู้จัดการที่คอยจัดแจงกิจการงานให้ลูกน้องหรือผู้ร่วมงาน ให้เหมาะสมกับหน้าที่การงานและความสามารถของลูกน้องหรือผู้ร่วมงานแต่ละคน และกระตุ้นเตือนให้กระทำตามหน้าที่ของตน ๆ ไม่ให้ย่อหย่อนหรือโอ้เอ้อืดอาด และไม่ให้เกิดความเหลื่อมล้ำกัน นอกจากกระตุ้นเตือนสัมปยุตตธรรมแล้ว ตนเองก็ทำหน้าที่ไปพร้อมกันด้วย

๒. อายูหะนะระสา มีความกังวลห่วงใยในการรับอารมณ์ของสัมปยุตตธรรม เป็นกิจ หมายความว่า เมื่อเจตนาปรากฏแล้ว ย่อมมีหน้าที่กระตุ้นเตือนจิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตน ที่เรียกว่า สัมปยุตตธรรม ให้ทำกิจไปตามหน้าที่ของตน ๆ ในอารมณ์ที่รับอยู่ และตนเองก็รับอารมณ์นั้นด้วย อุปมาเหมือนเจ้าของนาที่กำลังเกี่ยวข้าวพร้อมกับลูกน้อง เจ้าของนาย่อมมีความเป็นห่วงเป็นใย เกรงว่า ลูกน้องจะทำหน้าที่ของตนไม่เต็มที่ จึงคอยสอดส่องดูแลและกระตุ้นเตือนให้ลูกน้องทำการเกี่ยวข้าวไปอย่างขะมักขะเม่นเต็มกำลังความสามารถของตน และตนเองก็ไม่ได้อยู่เฉย ๆ ย่อมทำการขวนขวายในการเกี่ยวข้าวไป

๓. สังวิธานะปัจจุปปัฏฐานา มีการจัดแจงสัมปยุตตธรรมไว้ในอารมณ์ เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า เจตนาเจตสิกนี้ มีอาการเป็นไปในการจัดแจงหรือกระตุ้นเตือนสัมปยุตตธรรมให้จับอยู่ในอารมณ์ คือ ให้มุ่งมั่นในการกระทำกิจการงานของตน ๆ ไม่ให้หยุดชะงัก ก่อนที่จะสำเร็จกิจในการรับอารมณ์แต่ละครั้ง อุปมาเหมือนหัวหน้างาน หรือนายช่างใหญ่ เป็นต้น ที่สามารถทำกิจการงานของตนให้ดำเนินไปได้โดยไม่บกพร่อง แล้วยังสามารถแนะนำตักเตือนหรือชี้แนะให้ลูกน้องหรือบุคคลอื่นกระทำกิจของตน ๆ ให้สำเร็จไปพร้อมกันได้ด้วย

๔. เสสะขันธัตต์ยะปะทัฏฐานา มีขันธ์ ๓ ที่เหลือ คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ วิญญาณขันธ์ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า เจตนาเจตสิกเป็นสังขารขันธ์ เพราะเป็นสภาวธรรมที่ปรุงแต่งจิตให้รู้อารมณ์เป็นพิเศษ เจตนาเจตสิกจะเกิดขึ้นได้ ต้องอาศัยนามขันธ์ทั้ง ๓ ที่เกิดพร้อมกัน คือ เวทนาขันธ์ สัญญาขันธ์ และวิญญาณขันธ์ ซึ่งเป็นสัมปยุตตธรรมด้วยกัน เป็นเหตุใกล้ให้เกิด เพราะเจตนาเจตสิก เป็นสภาวธรรมที่ทำหน้าที่ชักชวนหรือกระตุ้นเตือนสัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตน ได้แก่ เวทนา สัญญา วิญญาณ [และเจตสิกที่เป็นสังขารขันธ์อื่น] นั่นเอง ถ้าไม่มีสัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกันเสียแล้ว เจตนาเจตสิก ย่อมไม่สามารถกระทำกิจคือการกระตุ้นเตือนชักชวนสัมปยุตตธรรมเหล่านั้นไว้ในอารมณ์ เพราะไม่มีสภาวธรรมที่จะให้จัดแจงหรือกระตุ้นเตือน ก็ไม่จำเป็นต้องเกิดขึ้นแต่อย่างใด อุปมาเหมือนผู้ที่เป็นหัวหน้าปกครองคน ถ้าไม่มีคนที่อยู่ในปกครองแล้ว ความเป็นหัวหน้าย่อมมีไม่ได้ หรือไม่จำเป็นต้องมีนั่นเอง เพราะฉะนั้น เจตนาเจตสิกจะเกิดขึ้นได้ ต้องมีสัมปยุตตธรรมที่เกิดขึ้นพร้อมกับตนด้วย จึงจะสามารถทำหน้าที่จัดแจงหรือกระตุ้นเตือนให้สัมปยุตตธรรมเหล่านั้นกระทำกิจของตน ๆ ได้

เมื่อพิจารณา ลักษณะ รส ปัจจุปปัฏฐาน ของเจตนาแล้ว จะเห็นได้ว่า เจตนาเจตสิกนี้ มีบทบาทสำคัญ เป็นประธานในสัมปยุตตธรรมทั้งหลาย การงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวด้วย กาย วาจา ใจ จะสำเร็จลงได้ ก็ด้วยอาศัยเจตนาเจตสิกนี้ เป็นหัวหน้า ไม่ว่าการงานนั้นจะดีหรือชั่วก็ตาม ด้วยเหตุนี้ พระพุทธองค์จึงตรัสว่า “เจตะนาหัง ภิกขะเว กัมมัง วะทามิ เจตะยิต๎วา กัมมัง กะโรติ กาเยนะ วาจายะ มะนะสา” แปลว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย เราตถาคตกล่าวเจตนานี้แหละว่าเป็นตัวกรรม เพราะบุคคลถูกกระตุ้นเตือนด้วยอำนาจแห่งเจตนาแล้ว ย่อมกระทำการงานที่เกี่ยวด้วยกายบ้าง วาจาบ้าง ใจบ้าง ดังนี้

คำว่า กรรม นี้ เป็นชื่อของการกระทำทางกาย วาจา ใจ การกระทำต่าง ๆ จะสำเร็จลงได้ ต้องอาศัยเจตนาเป็นประธาน หรือเป็นตัวนำ เพราะฉะนั้น เจตนา จึงชื่อว่า กรรม แต่การเรียกเจตนาว่า เป็นตัวกรรมนั้น เป็นการเรียกโดยอ้อม คือ ยกเอาชื่อของผลมาตั้งอยู่ในฐานะแห่งเหตุ เพราะกรรมจะสำเร็จลงได้ ต้องอาศัยสัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกันทำหน้าที่ของตน ๆ โดยไม่บกพร่อง จึงจะสำเร็จเป็นกรรมได้ หมายความว่า จิตและเจตสิกที่ประกอบด้วยธรรมที่เป็นอกุศลหรือเป็นกุศล ต่างขวนขวายทำหน้าที่ของตน ๆ ไม่ให้ย่อหย่อนโดยอาศัยเจตนาเป็นตัวชักนำหรือกระตุ้นเตือน อกุศลกรรมหรือกุศลกรรม จึงจะสำเร็จลงได้ เพราะฉะนั้น คำว่า กรรม ที่เป็นความหมายโดยตรงนั้น จึงได้แก่ อกุศลจิตตุปบาท และกุศลจิตตุปปาท คือ การเกิดขึ้นของอกุศลจิตหรือกุศลจิต ที่มีเจตสิกประกอบร่วมด้วย ตามสมควรที่จะประกอบร่วมกันได้นั่นเอง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |