| |
การเจริญอากาสานัญจายตนฌาน   |  

พระโยคีบุคคลนั้น พึงพยายามฝึกฝนรูปาวจรปัญจมฌาน [หรือจตุตถฌาน] ที่ตนได้แล้วนั้น ให้มีความชำนาญในวสีทั้ง ๕ เมื่อออกจากรูปาวจรปัญจมฌาน [หรือจตุตถฌาน] นั้นแล้ว ก็เพ่งปฏิภาคนิมิตของฌานนั้นต่อไป พร้อมกับพิจารณาให้เห็นโทษของปฏิภาคนิมิตนั้น ทั้งพยายามที่จะพรากใจออกจากปฏิภาคนิมิตนั้น แล้วพยายามยึดหน่วงเอาอากาศบัญญัติ ที่ชื่อว่า กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัติ นั้นให้มาปรากฏเป็นอารมณ์แทนที่ปฏิภาคนิมิตของกสิณบัญญัตินั้น โดยมนสิการว่า “ปฐวีกสิณปฏิภาคนิมิตเป็นต้นนั้นไม่มี มีแต่อากาศที่ว่างเปล่าอยู่เท่านั้น” พร้อมกับภาวนาว่า “อากาโส อะนันโต ๆ แปลว่า อากาศไม่มีที่สิ้นสุด ๆ” เมื่อปัญจมฌานลาภีบุคคล [หรือจตุตถฌานลาภีบุคคล] พยายามภาวนาอยู่เช่นนี้เรื่อยไป จนจิตปราศจากนิกันติตัณหา คือ ความยินดีพอใจในปฏิภาคนิมิตของรูปาวจรปัญจมฌาน [หรือจตุตถฌาน] นั้นแล้ว จิตขึ้นสู่อุปจารสมาธิต่อไป ในไม่ช้า ปฏิภาคนิมิตของรูปาวจรปัญจมฌาน [หรือจตุตถฌาน] นั้นย่อมหายไปจากจิตใจ คงเหลือแต่อากาศที่ว่างเปล่าภายในขอบเขตของปฏิภาคนิมิตเดิมนั้น และแผ่ออกไปอย่างกว้างขวาง อุปมาเหมือนบุคคลที่เพ่งดูช่องหน้าต่างโดยไม่ได้ใส่ใจในผ้าม่านที่ติดอยู่ที่ช่องหน้าต่างนั้นเลย พอดีในขณะนั้น ผ้าม่านก็หลุดลงไปด้วยกำลังลมที่พัดมาอย่างแรง บุคคลนั้นจึงมองเห็นแต่ความว่างเปล่าในขอบเขตของช่องหน้าต่างนั้นเท่านั้น ข้อนี้ฉันใด พระโยคีบุคคล ก็ฉันนั้นเหมือนกัน ไม่ใส่ใจในปฏิภาคนิมิตของรูปาวจรปัญจมฌาน [หรือจตุตถฌาน] นั้นเลย พยายามเพิกใจออกไปจากปฏิภาคนิมิตนั้น จนเหลือแต่สภาพอากาศที่ว่างเปล่าในขอบเขตแห่งปฏิภาคนิมิตนั้นและแผ่กว้างออกไปจนรู้สึกว่ามีแต่อากาศเวิ้งว้างว่างเปล่าไม่มีที่สุดไม่มีประมาณ เมื่อนั้น อากาสานัญจายตนฌานจิตก็ปรากฏเกิดขึ้นพร้อมกับยึดหน่วงเอากสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัตินิมิตนั้นมาเป็นอารมณ์อย่างแนบแน่น ในขณะนั้น สภาพจิตตรงฌานจิตได้เปลี่ยนจากรูปาวจรปัญจมฌานจิต [หรือจตุตถฌานจิต] มาเป็นอรูปาวจรจิต เปลี่ยนจากรูปาวจรภูมิมาเป็นอรูปาวจรภูมิ และเปลี่ยนสภาพบุคคลจากรูปาวจรปัญจมฌานลาภี [หรือจตุตถฌานลาภี] มาเป็นอรูปฌานลาภีบุคคล [บุคคลผู้ได้อรูปฌาน] อนึ่ง วิญญาณัญจายตนฌานก็ดี อากิญจัญญายตนฌานก็ดี เนวสัญญานาสัญญายตนฌานก็ดี ที่จะกล่าวถึงข้างหน้านั้น ย่อมจัดเป็นอรูปฌานหรืออรูปาวจรจิตและอรูปาวจรภูมิเช่นเดียวกัน

ส่วนในขณะแห่งบริกรรมญาณ [ปริ] อุปจารญาณ [อุ] อนุโลมญาณ [นุ] โคตรภูญาณ [โค] ในฌานวิถี และชวนจิตในปัจจเวกขณวิถีนั้น จิตเป็นมหากุศลญาณสัมปยุตตจิต [สำหรับของติเหตุกปุถุชนและพระเสกขบุคคล ๓] หรือเป็นมหากิริยาญาณสัมปยุตตจิต [สำหรับของพระอรหันต์] ซึ่งเป็นกามาวจรจิต หรือกามาวจรภูมิทั้งหมด

อากาสานัญจายตนฌาน มีชื่อ ๓ อย่าง คือ

๑. ชื่อว่า อรูปฌาน เพราะฌานนี้ปราศจากอารมณ์ที่เป็นรูป กล่าวคือ มีสภาพที่ไม่ใช่รูปเป็นอารมณ์ ได้แก่ กสิณุคฆาฏิมากาสบัญญัตินิมิต

๒. ชื่อว่า อากาสานัญจายตนฌานเพราะฌานนี้ มีความมั่นคง ตั้งอยู่อย่างไม่หวั่นไหว เกิดขึ้นโดยอาศัยอากาศบัญญัติที่ไม่ปรากฏว่า เบื้องต้นคือความเกิดและเบื้องปลายคือความดับนั้นอยู่ที่ตรงไหน เพราะว่า มีแต่ความเวิ้งว้างว่างเปล่าของอากาศที่ไม่มีที่สุดเท่านั้นปรากฏเป็นอารมณ์

๓. ชื่อว่า ปฐมารุปปฌาน เพราะอากาสานัญจายตนฌานนี้ เกิดขึ้นเป็นลำดับที่ ๑ ในบรรดาอรูปฌานทั้ง ๔


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |