| |
วิตก ๖ อย่าง [เนื่องด้วยอารมณ์]   |  

๑. รูปวิตก หมายถึง อาการที่ตรึกนึกคิดถึงรูป เรียกว่า การยกจิตขึ้นสู่รูปารมณ์ หมายความว่า การที่จักขุวิญญาณจิตจะรับรู้รูปารมณ์ คือ รูปต่าง ๆ ได้นั้น ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นจิตที่เกิดก่อนจักขุวิญญาณจิตในจักขุทวารวิถีนั่นแหละ เป็นจิตที่ทำหน้าที่หน่วงนึกถึงรูปารมณ์และรับพิจารณารูปารมณ์นั้นเรียบร้อยแล้วจึงส่งมาให้จักขุวิญญาณจิต จักขุวิญญาณจิตจึงสามารถรับรู้รูปารมณ์ได้ เพราะฉะนั้น วิตกเจตสิกที่ประกอบในปัญจทวาราวัชชนจิตนั่นเอง เป็นผู้ตรึกนึกถึงรูปารมณ์เป็นเบื้องต้น ทำให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดร่วมกันในปัญจทวาราวัชชนจิตสามารถรับพิจารณารูปารมณ์ได้ แต่จักขุวิญญาณจิตไม่มีวิตกเจตสิกประกอบร่วมด้วย เพราะจักขุวิญญาณจิต เป็นเพียงทำการรับรู้รูปารมณ์ที่ปัญจทวาราวัชชนจิตรับพิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้วส่งมาให้เท่านั้น โดยจักขุวิญญาณจิตไม่ต้องตรึกถึงรูปารมณ์นั้นอีกเลย

๒. สัททวิตก หมายถึง อาการที่ตรึกนึกคิดถึงเสียง เรียกว่า การยกจิตขึ้นสู่ สัททารมณ์ หมายความว่า การที่โสตวิญญาณจิตสามารถรับรู้สัททารมณ์ คือ เสียงต่าง ๆ ได้นั้น ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นจิตที่เกิดก่อนโสตวิญญาณจิตในโสตทวารวิถีนั่นแหละ เป็นจิตที่ทำหน้าที่หน่วงนึกถึงสัททารมณ์และรับพิจารณาสัททารมณ์นั้นเรียบร้อยแล้วจึงส่งมาให้โสตวิญญาณจิต โสตวิญญาณจิตจึงสามารถรับรู้สัททารมณ์ได้ เพราะฉะนั้น วิตกเจตสิกที่ประกอบในปัญจทวาราวัชชนจิตนั่นเอง เป็นผู้ตรึกนึกถึงสัททารมณ์เป็นเบื้องต้น ทำให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดร่วมกันในปัญจทวาราวัชชนจิตนั้นสามารถรับพิจารณาสัททารมณ์ได้ แต่โสตวิญญาณจิตไม่มีวิตกเจตสิกประกอบร่วมด้วย เพราะโสตวิญญาณจิต เพียงแต่ทำการรับรู้สัททารมณ์ที่ปัญจทวาราวัชชนจิตรับพิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้วส่งมาให้เท่านั่นเอง โดยโสตวิญญาณจิตไม่ต้องตรึกถึงสัททารมณ์นั้นอีกเลย

๓. คันธวิตก หมายถึง อาการที่ตรึกนึกคิดถึงกลิ่น เรียกว่า การยกจิตขึ้นสู่คันธารมณ์ หมายความว่า การที่ฆานวิญญาณจิตสามารถรับรู้คันธารมณ์ คือ กลิ่นต่าง ๆ ได้นั้น ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นจิตที่เกิดก่อนฆานวิญญาณจิตในฆานทวารวิถีนั่นแหละ เป็นจิตที่ทำหน้าที่หน่วงนึกถึงคันธารมณ์และรับพิจารณาคันธารมณ์เรียบร้อยแล้วจึงส่งมาให้ฆานวิญญาณจิต ฆานวิญญาณจิตจึงสามารถรับรู้คันธารมณ์ได้ เพราะฉะนั้น วิตกเจตสิกที่ประกอบในปัญจทวาราวัชชนจิตนั้นเอง เป็นผู้ตรึกนึกถึงคันธารมณ์เป็นเบื้องต้น ทำให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดร่วมกันในปัญจทวาราวัชชนจิตสามารถรับพิจารณาคันธารมณ์ได้ แต่ฆานวิญญาณจิตไม่มีวิตกเจตสิกประกอบร่วมด้วย เพราะฆานวิญญาณจิต เพียงแต่ทำการรับรู้คันธารมณ์ที่ปัญจทวาราวัชชนจิตรับพิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้วส่งมาให้เท่านั้น โดยฆานวิญญาณจิตไม่ต้องตรึกถึงคันธารมณ์นั้นอีกเลย

๔. รสวิตก หมายถึง อาการที่ตรึกนึกคิดถึงรส เรียกว่า การยกจิตขึ้นสู่ รสารมณ์ หมายความว่า การที่ชิวหาวิญญาณจิตสามารถรับรู้รสารมณ์ คือ รสต่าง ๆ ได้นั้น ปัญจทวาราวัชชนจิตซึ่งเป็นจิตที่เกิดก่อนชิวหาวิญญาณจิตในชิวหาทวารวิถีนั่นแหละ เป็นจิตที่ทำหน้าที่หน่วงนึกถึงรสารมณ์และรับพิจารณารสารมณ์เรียบร้อยแล้วจึงส่งมาให้ชิวหาวิญญาณจิต ชิวหาวิญญาณจิตจึงสามารถรับรู้ รสารมณ์ได้ เพราะฉะนั้น วิตกเจตสิกที่ประกอบในปัญจทวาราวัชชนจิตนั่นเอง เป็นผู้ตรึกนึกถึง รสารมณ์เป็นเบื้องต้น ทำให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดร่วมกันในปัญจทวาราวัชชนจิตสามารถรับพิจารณารสารมณ์ได้ แต่ชิวหาวิญญาณจิตไม่มีวิตกเจตสิกประกอบร่วมด้วย เพราะชิวหาวิญญาณจิต เพียงแต่ทำการรับรู้รสารมณ์ที่ปัญจทวาราวัชชนจิตรับพิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้วส่งมาให้เท่านั้นเอง โดยชิวหาวิญญาณจิตไม่ต้องตรึกถึงรสารมณ์นั้นอีกเลย

๕. โผฎฐัพพวิตก หมายถึง อาการที่ตรึกนึกคิดถึงสัมผัสต่าง ๆ เรียกว่า การยกจิตขึ้นสู่โผฏฐัพพารมณ์ หมายความว่า การที่กายวิญญาณจิตสามารถรับรู้โผฏฐัพพารมณ์ คือ สัมผัสเย็น ร้อน อ่อน แข็ง หย่อน ตึงได้นั้น ปัญจทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นจิตที่เกิดก่อนกายวิญญาณจิตในกายทวารวิถีนั่นแหละ เป็นจิตที่ทำหน้าที่หน่วงนึกถึงโผฏฐัพพารมณ์และรับพิจารณาโผฏฐัพพารมณ์เรียบร้อยแล้วจึงส่งมาให้กายวิญญาณจิต กายวิญญาณจิตจึงสามารถรับรู้โผฏฐัพพารมณ์ได้ เพราะฉะนั้น วิตกเจตสิกที่ประกอบในปัญจทวาราวัชชนจิตนั่นเอง เป็นผู้ตรึกนึกถึงโผฏฐัพพารมณ์เป็นเบื้องต้น ทำให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดร่วมกันในปัญจทวาราวัชชนจิตนั้นสามารถรับพิจารณาโผฏฐัพพารมณ์ได้ แต่กายวิญญาณจิตไม่มีวิตกเจตสิกประกอบร่วมด้วย เพราะกายวิญญาณจิตเพียงแต่ทำการรับรู้โผฏฐัพพารมณ์ที่ปัญจทวาราวัชชนจิตรับพิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้วส่งมาให้เท่านั้นเอง โดยกายวิญญาณจิตไม่ต้องตรึกถึงโผฏฐัพพารมณ์นั้นอีกเลย

๖. ธัมมวิตก หมายถึง อาการที่ตรึกนึกคิดถึงอารมณ์ ๖ ที่ปรากฏทางใจโดยสภาพที่เป็นธัมมารมณ์ เรียกว่า การยกจิตขึ้นสู่ธัมมารมณ์ หมายความว่า การที่มโนวิญญาณจิตแต่ละดวงสามารถรับรู้ธัมมารมณ์ คือ ความรู้สึกนึกคิดในสภาพของรูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะต่าง ๆ ที่ปรากฏทางใจได้นั้น มโนทวาราวัชชนจิต ซึ่งเป็นจิตที่เกิดก่อนชวนจิตในมโนทวารวิถีนั่นแหละ เป็นจิตที่ทำหน้าที่หน่วงนึกถึงธัมมารมณ์และรับพิจารณาธัมมารมณ์เรียบร้อยแล้วจึงส่งมาให้ชวนจิต ชวนจิตจึงสามารถรับรู้ธัมมารมณ์ได้ เพราะฉะนั้น วิตกเจตสิกที่ประกอบในมโนทวาราวัชชนจิตนั่นเอง เป็นผู้ตรึกนึกถึงธัมมารมณ์เป็นเบื้องต้น ทำให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดร่วมกันในมโนทวาราวัชชนจิตสามารถรับพิจารณาธัมมารมณ์ได้ และทำให้วิถีจิตดวงอื่น ๆ คือ ชวนจิตและตทาลัมพนจิต สามารถเกิดติดต่อกันตามลำดับไปได้ อนึ่ง แม้วิตกเจตสิกที่ประกอบกับชวนจิตและตทาลัมพนจิตเหล่านั้น ก็ทำการยกสัมปยุตตธรรมทั้งหลายขึ้นสู่ธัมมารมณ์ที่ปรากฏตามลำดับเรื่อยไป จนกระทั่งถึงภวังคจิต วิตกเจตสิกที่ประกอบกับภวังคจิต ย่อมทำการยกสัมปยุตตธรรมคือภวังคจิตและเจตสิกขึ้นสู่อารมณ์เก่าของตนเองตามเดิมต่อไป

ด้วยเหตุนี้ วิตกเจตสิกจึงมีบทบาทในการรับรู้อารมณ์ของสัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตน ถ้าขาดวิตกเจตสิกเสียแล้ว ย่อมไม่มีสภาวธรรมที่จะยกจิตขึ้นสู่อารมณ์ใหม่ได้ ยกเว้นจิตที่ไม่ต้องมีการกระทบกับอารมณ์ เป็นเพียงการรับรู้อารมณ์ที่จิตดวงอื่นรับพิจารณาเสร็จเรียบร้อยแล้วส่งมาให้เท่านั้น ได้แก่ ทวิปัญจวิญญาณจิต ๑๐ หรือสภาพจิตนั้นได้ล่วงเลยภาวะที่ไม่ต้องมีวิตกเจตสิกแล้ว ได้แก่ ฌานจิต ๕๖ ดวง คือ ทุติยฌานจิต ๑๑ ตติยฌานจิต ๑๑ จตุตถฌานจิต ๑๑ และปัญจมฌานจิต ๒๓ เพราะได้ละวิตกองค์ฌานไปแล้วนั่นเอง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |