| |
อิฏฐารมณ์ ๒ อย่าง   |  

๑. สภาวอิฏฐารมณ์ หมายถึง อารมณ์อันน่าปรารถนา ซึ่งเป็นไปโดยสภาวะตามความเป็นจริง โดยอาศัยปัจจัยเป็นเครื่องตัดสิน คือ วิปากจิตที่รับ มัชฌัตตบุคคล ทวารที่เกิด อารมณ์ที่ปรากฏทางทวารนั้น และในกาลเวลาที่เป็นไปโดยปกติ หมายความว่า การที่จะตัดสินว่า อารมณ์นั้นเป็นอิฏฐารมณ์โดยสภาวะอันเป็นผลที่เกิดจากกุศลกรรมโดยตรงนั้น ต้องใช้ปัจจัย ๕ ประการเป็นเครื่องพิจารณาตัดสิน ได้แก่

๑] วิปากจิต หมายถึง วิปากจิตที่เกิดขึ้นรับนั้น ต้องเป็นกุศลวิปากจิต คือ มีการตอบสนองต่ออารมณ์นั้นโดยสภาพที่ดี มีความสบายใจ แต่เป็นสิ่งที่สังเกตรู้ได้ยาก สำหรับบุคคลทั่วไป ต้องเป็นบัณฑิตผู้มีปัญญาเท่านั้น จึงจะสามารถสังเกตรู้ได้

๒] มัชฌัตตบุคคล หมายถึง บุคคลที่อยู่ในฐานะระดับปานกลาง เป็นผู้ที่ได้พบได้ประสบอารมณ์ที่มีความหลากหลายมากสมควร สามารถเปรียบเทียบสภาพของอารมณ์ได้ถูกต้องและมีมาตรฐานกว่า ส่วนบุคคลที่อยู่ในฐานะที่ร่ำรวย มีวิถีชีวิตอยู่ในสังคมชั้นสูงนั้น มักได้ประสบกับอารมณ์ที่ดียิ่งอยู่เสมอ ฉะนั้น เมื่อได้ประสบอารมณ์ที่ดียิ่งของบุคคลทั่วไป ก็มักตัดสินว่า เป็นเพียงอารมณ์ดีระดับปานกลาง หรือเมื่อได้ประสบกับอารมณ์ที่ดีระดับปานกลางของบุคคลทั่วไป ก็มักตัดสินว่า เป็นอารมณ์ที่ไม่ดีไป ส่วนบุคคลที่อยู่ในฐานะยากจน มีวิถีชีวิตอยู่แต่ในสังคมชั้นต่ำนั้น เมื่อได้ประสบกับอารมณ์ที่ดีระดับปานกลางของบุคคลทั่วไป ก็มักตัดสินว่า เป็นอารมณ์ที่ดียิ่ง หรือเมื่อได้ประสบกับอารมณ์ที่ไม่ดีบางอย่างของบุคคลทั่วไป ซึ่งตนเห็นว่าเป็นอารมณ์ที่ดี ก็มักตัดสินว่า เป็นอารมณ์ที่ดีไป ฉะนั้น บุคคล ๒ จำพวกนี้ จึงถือเอาเป็นเครื่องตัดสินอารมณ์ที่ดีโดยสภาวะไม่ได้ ต้องใช้บุคคลที่อยู่ในฐานะระดับปานกลาง ที่เรียกว่า มัชฌัตตบุคคล เท่านั้น

๓] ทวาร หมายถึง ทวารที่อารมณ์นั้นปรากฏ ต้องใช้เฉพาะทวารที่ตรงกับสภาพของอารมณ์นั้น คือ รูปารมณ์ต้องใช้จักขุทวารเป็นเครื่องตัดสิน สัททารมณ์ก็ต้องใช้โสตทวารเป็นเครื่องตัดสิน ดังนี้เป็นต้น เพราะอารมณ์ที่ดีสำหรับทวารหนึ่ง อาจเป็นอารมณ์ที่ไม่ดี สำหรับอีกทวารนอกจากนี้ก็ได้ เช่น พริกสีสวยสด เป็นอารมณ์ที่ดีทางจักขุทวาร แต่เมื่อเด็ดพริกนั้นมาจิ้มที่นัยน์ตาอันมีกายประสาทอยู่ด้วย พริกนั้นก็กลายเป็นอนิฏฐารมณ์ของกายประสาทที่นัยน์ตาไป ดังนี้เป็นต้น

๔] อารมณ์ หมายถึง อารมณ์ที่ปรากฏนั้น ต้องเป็นอารมณ์ที่มีสภาพตรงกับทวารที่รับนั้น ๆ เช่น รูปารมณ์ต้องปรากฏทางจักขุทวาร สัททารมณ์ต้องปรากฏทางโสตทวาร ดังนี้เป็นต้น เพราะอารมณ์ที่ดีทางทวารหนึ่ง อาจกลายเป็นอารมณ์ที่ไม่ดีสำหรับทวารนอกนี้ก็ได้ ดังกล่าวแล้วในเรื่องทวาร

๕] กาล หมายถึง กาลเวลาที่รับอารมณ์นั้น ต้องใช้กาลเวลาที่เป็นโดยปกติของบุคคลนั้นเป็นเครื่องตัดสิน เพราะอารมณ์ที่ดีสำหรับกาลเวลาปกตินั้น อาจกลายเป็นอารมณ์ที่ไม่ดีสำหรับกาลเวลาที่ไม่ปกติ เช่น คนรัก ย่อมเป็นอารมณ์ที่ดีสำหรับในเวลาปกติที่รักใคร่กันอยู่ แต่ในเวลาที่เกิดความบาดหมางกันหรือหักอกกัน คนรักนั้น ก็กลายเป็นอารมณ์ที่ไม่ดีสำหรับในกาลไม่ปกติเช่นนั้น หรือ อาหารอร่อยเป็นอารมณ์ที่ดีสำหรับบุคคลนั้นในเวลาปกติ แต่เมื่อบุคคลนั้น ป่วยไข้ไม่สบาย อาหารนั้น ก็อาจกลายเป็นอนิฏฐารมณ์ คือ เป็นของแสลงของบุคคลนั้นได้ ในยามป่วยไข้เช่นนั้น ดังนี้เป็นต้น

เพราะฉะนั้น เมื่อใช้วิปากจิตที่รับ มัชฌัตตบุคคล ทวารที่เกิด อารมณ์ที่ปรากฏทางทวารนั้น และในกาลเวลาที่เป็นไปโดยปกติ เป็นเครื่องตัดสินแล้ว ย่อมตัดสินได้ว่า เป็นอิฏฐารมณ์โดยสภาวะ เรียกว่า สภาวอิฏฐารมณ์

๒. ปริกัปปอิฏฐารมณ์ หมายถึง อารมณ์ที่น่าปรารถนาที่เป็นไปเฉพาะบุคคล หรือ เฉพาะกาล หมายความว่า ปริกัปปอิฏฐารมณ์นี้ มีสภาพที่ตรงกันข้ามกับสภาวอิฏฐารมณ์ที่กล่าวแล้ว ซึ่งได้แก่ อนิฏฐารมณ์โดยสภาวะ ที่เรียกว่า สภาวอนิฏฐารมณ์นั่นเอง แต่บุคคลบางคน หรือสัตว์บางจำพวก ที่มีการเสพคุ้นกับอารมณ์นั้นอยู่เสมอ ก็เลยมีความเห็นว่า อารมณ์นั้น เป็นอารมณ์ที่ดี ซึ่งเมื่อใช้วิปากจิตที่รับ มัชฌัตตบุคคล ทวารที่เกิด อารมณ์ที่ปรากฏทางทวารนั้นในกาลเวลาที่เป็นไปโดยปกติ เป็นเครื่องตัดสินแล้ว อารมณ์นั้นก็คือ สภาวอนิฏฐารมณ์ นั่นเอง ซึ่งมีความเป็นไปตรงกันข้ามกับการตัดสินสภาพของสภาวอิฏฐารมณ์ ดังนี้เป็นต้น

๑] วิปากจิต หมายถึง อารมณ์นั้นเป็นอนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่เป็นผลของอกุศลกรรม แต่บุคคลนั้นมีความเสพคุ้นในอารมณ์นั้นอยู่เสมอ ถึงแม้สภาพวิปากจิตที่รับรู้จะเป็นอกุศลวิบากก็ตาม แต่บุคคลนั้นกลับเสพอารมณ์นั้นด้วยความพอใจที่เป็นกุศล [ฉันทะในมหากุศล] ก็มี หรือด้วยความพอใจที่เป็นโลภะก็มี เช่น ซากศพอันเน่าเหม็นเป็นอนิฏฐารมณ์ของบุคคลทั่วไปโดยสภาพ แต่ว่า นกแร้ง นกกา ที่มีการเสพคุ้นในการกินของสกปรก ก็มีความเห็นว่า ของสกปรกเหล่านั้นเป็นอารมณ์ที่น่ายินดีอย่างยิ่ง ดังนั้นเมื่อได้พบซากศพแล้ว จึงพากันบินถลาเข้าไปรุมกินซากศพนั้นอย่างเอร็ดอร่อย แต่สภาพของวิปากจิตที่เกิดขึ้นแก่นกแร้งนกกาที่ต้องรับรู้ต่ออารมณ์นั้นเป็นอกุศลวิบากที่ ตนเองเคยสร้างไว้ ดังนี้เป็นต้น ซึ่งวิปากจิตที่เกิดขึ้นรับรู้ปริกัปปอิฏฐารมณ์นี้ มักมีสภาพตรงข้ามกับสภาพของชวนจิตที่เสพก็ได้

๒] หีนบุคคล หมายถึง ใช้บุคคลที่อยู่ในฐานะยากจน มีวิถีชีวิตอยู่แต่ในสังคมชั้นต่ำ เมื่อได้ประสบกับอารมณ์ที่ไม่ดีสำหรับบุคคลทั่วไป ซึ่งตนมีความเสพคุ้นในอารมณ์นั้นอยู่เสมอ ก็มีความเห็นว่า เป็นอารมณ์ที่ดี จึงมักตัดสินว่า เป็นอารมณ์ที่ดีไป เช่น คำด่า คำพูดหยาบคายทั้งหลาย เป็นอนิฏฐารมณ์ของกัลยาณชนทั้งหลาย แต่กลับเป็นอิฏฐารมณ์ สำหรับหีนบุคคลที่มีการเสพคุ้นกับคำด่า คำหยาบคายอยู่เสมอฉะนั้น คำด่า คำหยาบคายนั้น จึงเรียกว่า ปริกัปปอิฏฐารมณ์ ของหีนบุคคลนั้น

๓] ทวาร หมายถึง ทวารที่อารมณ์นั้นปรากฏ มีสภาพไม่ตรงกับสภาพของอารมณ์นั้น เช่น ไม้คมแฝกที่มีลักษณะสวยงาม เมื่อปรากฏทางจักขุทวาร ก็เป็นรูปารมณ์ที่เป็นอิฏฐารมณ์ คือ รูปอันน่ายินดีของบุคคลบางคนที่เสพคุ้นจนมีความชื่นชอบในไม้คมแฝกนั้น แต่เมื่อไม้คมแฝกนั้นมากระทบทางกายประสาทของบุคคลนั้นเข้าอย่างแรง ก็กลายเป็นโผฏฐัพพารมณ์ที่เป็นอนิฏฐารมณ์ทางกายทวารของบุคคลนั้นไป ดังนี้เป็นต้น

๔] อารมณ์ หมายถึง อารมณ์ที่ปรากฏนั้น มีสภาพไม่ตรงกับทวารที่รับ เช่น อารมณ์ที่ไม่ดีทางทวารหนึ่ง อาจกลายเป็นอารมณ์ที่ดีสำหรับอีกทวารหนึ่งนอกจากนี้ก็ได้ ดังกล่าวแล้วในเรื่องทวาร

๕] กาล หมายถึง กาลเวลาที่รับอารมณ์นั้นเป็นเวลาที่ไม่ปกติของบุคคลนั้น เช่น เสือเป็นสัตว์ที่ดุร้าย เป็นอนิฏฐารมณ์ของบุคคลทั้งปวง แต่เมื่อเสือนั้นเกิดตายลง บุคคลบางคนที่มีความเสพคุ้นในเรื่องการกินเนื้อเสือก็ดี หรือต้องการหนังเสือไปจำหน่ายก็ดี ย่อมมีความยินดี เมื่อได้พบซากศพเสือนั้น ดังนี้เป็นต้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |