| |
พระพุทธวจนะเกี่ยวกับมัจฉริยะ   |  

มัจฉริยสูตร

[ว่าด้วยเหตุที่บุคคลไม่สามารถให้ทานได้]

ครั้งหนึ่ง พระพุทธเจ้าประทับอยู่ ณ พระวิหารเชตวัน อารามของท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐี กรุงสาวัตถี ครั้งนั้นแล เมื่อปฐมยามล่วงไปแล้ว พวกเทวดาสตุลลปกายิกา [เทวดาผู้มีกายละเอียดเหมือนปุยนุ่น] มากด้วยกัน มีวรรณะงาม ยังพระวิหารเชตวันทั้งสิ้นให้สว่างรุ่งเรืองแล้ว ได้เข้าไปเฝ้าพระพุทธเจ้า ครั้นแล้วจึงถวายอภิวาทพระพุทธเจ้า แล้วยืนอยู่ ณ ที่สมควรส่วนข้างหนึ่ง

เทวดาองค์หนึ่งได้กล่าวคาถานี้ในสำนักพระพุทธเจ้าว่า เพราะความตระหนี่ และความประมาทอย่างนี้ บุคคลจึงให้ทานไม่ได้ บุคคลผู้หวังบุญ รู้แจ้งอยู่ พึงให้ทานได้ ในลำดับนั้นแล เทวดาอีกองค์หนึ่งจึงได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระพุทธเจ้าว่า “คนตระหนี่กลัวภัยใดย่อมให้ทานไม่ได้ ภัยนั้นนั่นแล ย่อมมีแก่คนตระหนี่ผู้ไม่ให้ทาน คนตระหนี่ย่อมกลัวความหิวและความกระหายใด ความหิวและความกระหายย่อมถูกต้องคนตระหนี่นั้น ผู้เป็นพาลทั้งในโลกนี้และในโลกหน้า เพราะฉะนั้น บุคคลควรกำจัดความตระหนี่อันเป็นสนิมในใจแล้ว ให้ทานเถิด เพราะบุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลาย ทั้งในโลกนี้และโลกหน้า”

ลำดับนั้นแล เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระพุทธเจ้าว่า “ชนทั้งหลายเหล่าใด เมื่อของมีน้อยก็แบ่งให้ เหมือนพวกเดินทางไกลย่อมแบ่งของให้แก่พวกที่เดินทางร่วมกัน ฉันนั้น ชนทั้งหลายเหล่านั้น เมื่อบุคคลทั้งหลายเหล่าอื่นตายแล้ว ชื่อว่า ย่อมไม่ตาย ธรรมนี้เป็นของบัณฑิตแต่ปางก่อน ชนพวกหนึ่งเมื่อของมีน้อยก็แบ่งให้ ชนพวกหนึ่งมีของมากก็ไม่ให้ ทักษิณาที่ให้แต่ของน้อย ย่อมนับเสมอด้วยพันเท่าของสิ่งของเป็นอันมากที่บุคคลไม่ได้ให้”

ลำดับนั้นแล เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กล่าวคาถานี้ในสำนักของพระพุทธเจ้าว่า “ทาน อันคนพาลเมื่อให้ ย่อมให้ได้ยาก กุศลธรรม อันคนพาลเมื่อทำ ย่อมทำได้ยาก อสัตบุรุษย่อมไม่ทำตามธรรมของสัตบุรุษ ธรรมของสัตบุรุษอัน อสัตบุรุษดำเนินตามได้แสนยาก เพราะฉะนั้น การไปจากโลกนี้ของสัตบุรุษและอสัตบุรุษจึงต่างกัน อสัตบุรุษย่อมไปสู่นรก สัตบุรุษย่อมเป็นผู้ดำเนินไปสู่สวรรค์”

ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กราบทูลคำนี้กะพระพุทธเจ้าว่า ข้าแต่พระพุทธเจ้า คำของใครหนอแลเป็นสุภาษิต

พระพุทธเจ้าตรัสว่า คำของพวกท่านทั้งหมดเป็นสุภาษิตโดยปริยาย แต่พวกท่านจงฟังคำของเราบ้าง “บุคคลแม้ใด พึงประพฤติธรรม ประพฤติสะอาด เป็นผู้เลี้ยงภริยา และเมื่อของมีน้อยก็ให้ได้ เมื่อบุรุษแสนหนึ่งบูชาภิกษุพันหนึ่งหรือบริจาคทรัพย์พันกหาปณะ การบูชาของบุคคลเหล่านั้นย่อมไม่ถึงส่วนแห่งร้อยของบุคคลนั้น”

ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่งได้กล่าวกับพระพุทธเจ้าด้วยคาถาว่า “การบูชาอันไพบูลย์ใหญ่โตนี้ ย่อมไม่เท่าถึงส่วนแห่งทานที่บุคคลให้ด้วยความประพฤติธรรม เพราะเหตุอะไร เมื่อบุรุษแสนหนึ่งบูชาภิกษุพันหนึ่ง หรือบริจาคทรัพย์พันกหาปณะ การบูชาของบุรุษเหล่านั้นย่อมไม่ถึงส่วนแห่งร้อยของบุคคลนั้น

ลำดับนั้น พระพุทธเจ้าได้ตรัสกับเทวดาด้วยพระคาถาว่า “บุคคลเหล่าหนึ่งตั้งอยู่ในกรรม ปราศจากความสงบ [ปราศจากธรรม] โบยเขา ฆ่าเขา ทำให้เขาเศร้าโศกแล้วให้ทาน ทานนั้นจัดว่าเป็นทานมีหน้านองด้วยน้ำตา จัดว่าทานเป็นไปด้วยอาชญา จึงไม่เท่าถึงส่วนแห่งทานที่ให้ด้วยความสงบ [ประพฤติธรรม] เมื่อบุรุษแสนหนึ่งบูชาภิกษุพันหนึ่ง หรือบริจาคทรัพย์พันกหาปณะ การบูชาของบุรุษเหล่านั้น ย่อมไม่ถึงส่วนแห่งร้อยของบุคคลนั้น โดยนัยนี้”

ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่ง ได้กราบทูลคำนี้ในสำนักของพระพุทธเจ้าว่า “คนตระหนี่กลัวภัยใดย่อมไม่ให้ทาน ภัยนั้นแลย่อมมีแก่คนตระหนี่ผู้ไม่ให้ทาน คนตระหนี่กลัวความหิวและความกระหายใด ความหิวและความกระหายนั้นย่อมถูกต้อง คนตระหนี่นั่นแหละผู้เป็นพาลทั้งในโลกนี้และโลกหน้า เพราะฉะนั้น บุคคลควรกำจัดความตระหนี่อันเป็นสนิมในใจ [มลทิน] ให้ทานเถิด เพราะบุญทั้งหลายย่อมเป็นที่พึ่งของสัตว์ทั้งหลายในโลกหน้า”

ลำดับนั้น เทวดาอีกองค์หนึ่ง ได้กราบทูลคำนี้ในสำนักของพระพุทธเจ้าว่า “ชนเหล่าใด เมื่อของมีน้อยก็แบ่งให้เหมือนพวกเดินทางไกลแบ่งของให้แก่พวกที่เดินทางร่วมกัน ชนเหล่านั้น เมื่อบุคคลเหล่าอื่นตายแล้ว ชื่อว่า ย่อมไม่ตาย ธรรมนี้เป็นของบัณฑิตแต่ปางก่อน ชนพวกหนึ่ง เมื่อของมีน้อยก็แบ่งให้ ชนพวกหนึ่งแม้ของมีมากก็ไม่ให้ ทักษิณา [ของทำบุญ] ที่ให้แต่ของน้อยนับเสมอด้วยพัน”

อนึ่ง บุคคลผู้ตระหนี่ไม่ให้ทานเหล่านั้น เมื่อบุคคลอื่นตายแล้ว ชื่อว่า ย่อมตาย เหมือนกัน เพราะความตายคือความเป็นผู้มีปกติไม่ให้ทาน เหมือนอย่างว่า บุคคลที่ตายแล้ว เมื่อบุคคลอื่นนำสิ่งของทั้งหลายมีข้าวและน้ำเป็นต้นแม้จำนวนมากมาวางแวดล้อม แล้วบอกว่า สิ่งนี้จงเป็นของผู้นี้ สิ่งนี้จงเป็นของผู้นี้ ดังนี้ บุคคลผู้ตายแล้วย่อมไม่สามารถลุกขึ้นมารับการแจกจ่ายได้ ฉันใด แม้บุคคลผู้ไม่ให้ทานก็เหมือนกัน เพราะฉะนั้น โภคะทั้งหลายของผู้ตายแล้ว และของผู้มีปกติไม่ให้ทาน จึงชื่อว่า เสมอกัน ด้วยเหตุนี้แหละ บุคคลผู้มีปกติให้ทาน เมื่อชนทั้งหลายมีประมาณเท่านี้ตายแล้ว ชื่อว่า ย่อมไม่ตาย [เพราะคุณความดียังปรากฏอยู่]

อีกนัยหนึ่ง คนทั้งหลายผู้เดินทางไกลกันดารร่วมกันเมื่อเสบียงมีน้อย บุคคลผู้เดินทางร่วมกันย่อมแบ่งให้ คือ ย่อมให้ทานนั่นแหละแก่บุคคลผู้เดินทางร่วมกัน ฉันใด ข้อนี้ก็ฉันนั้นแล คนเหล่าใดเดินทางร่วมกันไปสู่ทางกันดาร คือ สงสารอันมีเบื้องต้นและที่สุดที่บุคคลรู้ไม่ได้ ครั้นเมื่อวัตถุที่พึงให้แม้มีน้อย ย่อมแบ่งของให้ได้ ชนเหล่านั้น ครั้นเมื่อชนเหล่าอื่นตายแล้ว จึงชื่อว่า ย่อมไม่ตาย

เมื่อพระตถาคตเจ้า ทรงกระทำซึ่งทานอันหาค่ามิได้อย่างนี้แล้ว เทวดาผู้ยืนอยู่ ณ ที่ใกล้ จึงคิดว่า พระพุทธเจ้าทรงยังมหาทานอย่างนี้ให้เป็นไปด้วยคาถาบาทหนึ่ง ดุจเอาวัตถุอันประกอบไปด้วยรัตนะตั้งร้อยใส่เข้าไปในนรก ซัดไปซึ่งทานอันมากอย่างนี้ว่า มีประมาณนิดหน่อยอย่างนี้ ดุจประหารอยู่ซึ่งมณฑลแห่งพระจันทร์ จึงกล่าวคาถาว่า การบูชาอันไพบูลย์นี้ อันใหญ่โตนี้ย่อมไม่เท่าถึงส่วนแห่งทานที่บุคคลให้ด้วยความประพฤติธรรม เพราะเหตุไร เมื่อบุรุษแสนหนึ่งบูชาภิกษุพันหนึ่ง หรือบริจาคทรัพย์พันกหาปณะ การบูชาของบุรุษเหล่านั้น ย่อมไม่ถึงส่วนร้อยของบุคคลอย่างนั้น

ลำดับนั้น พระพุทธเจ้า เมื่อจะทรงจำแนกทานแสดงแก่เทวดานั้นจึงตรัสว่า “บุคคลเหล่าหนึ่ง ตั้งอยู่ในกรรม ปราศจากความสงบ โบยเขา ฆ่าเขา ทำให้เขาเศร้าโศกแล้วให้ทาน ทานนั้นจัดว่า ทานมีหน้านองด้วยน้ำตา จัดว่าทานเป็นไปกับด้วยอาชญา จึงไม่เท่าถึงส่วนแห่งทานที่ให้ด้วยความสงบ”

พระพุทธเจ้าตรัสต่อไปว่า ทักษิณาที่บุคคลคุกคามผู้อื่นและประหารแล้วให้ เรียกว่า ทักษิณาเป็นไปกับด้วยอาชญา พระพุทธเจ้า เมื่อจะทรงแสดงเนื้อความนี้อย่างนี้ว่า เราไม่อาจถือเอามหาทานแล้วทำให้มีผลน้อย หรือ ทานอันน้อยทำให้มีชื่อว่ามีผลมาก เพราะความเป็นพระพุทธเจ้า ก็แต่มหาทานนี้ ชื่อว่า มีผลน้อยอย่างนี้ เพราะความไม่บริสุทธิ์เกิดขึ้นแก่ตน ทานน้อยนี้ ชื่อว่า มีผลมากอย่างนี้ เพราะความบริสุทธิ์เกิดขึ้นแก่ตน ดังนี้ จึงตรัสคำว่า โดยนัยอย่างนี้ เมื่อบุรุษแสนหนึ่งบูชาภิกษุพันหนึ่ง หรือบริจาคทรัพย์พันกหาปณะ การบูชาของบุคคลเหล่านั้น ย่อมไม่ถึงส่วนแห่งร้อย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |