| |
กัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิ ๑๐ ประการ   |  

กัมมัสสกตาสัมมาทิฏฐิ หมายถึง ปัญญาที่รู้ความเป็นไปของสัตว์ทั้งหลาย ว่าเป็นไปตามกฎแห่งกรรม ใครทำกรรมอันใดไว้ ผู้นั้น ต้องรับผลของกรรมนั้น ทั้งโดยทางตรงและทางอ้อม มี ๑๐ ประการ คือ

๑. อัตถิ ทินนัง เห็นว่า การทำบุญให้ทานย่อมได้รับผลดีมีประโยชน์ หมาย ความว่า เมื่อบุคคลพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมมีความเห็นว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรมของตน ฉะนั้น การให้ทาน ถือว่า เป็นกรรมดีอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการอนุเคราะห์สงเคราะห์แสดงความเอื้อเฟื้อต่อกันในสังคม เป็นสิ่งที่จะส่งผลให้ได้รับผลดีมีประโยชน์อย่างแน่นอน ไม่ใช่เป็นกิริยาที่สูญเปล่าแต่ประการใด

๒. อัตถิ ยิฏฐัง เห็นว่า การบูชากราบไหว้ ย่อมได้รับผลดีมีประโยชน์ หมาย ความว่า เมื่อบุคคลพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมมีความเห็นว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรมของตน ฉะนั้น การบูชากราบไหว้ หรือการบวงสรวงโดยวิธีการที่ถูกต้องตามหลักทำนองคลองธรรม ถือว่า เป็นกรรมดีอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการอ่อนน้อมถ่อมตนต่อผู้ใหญ่กว่า โดยชาติก็ดี โดยวัยก็ดี หรือโดยคุณก็ดี เป็นสิ่งที่จะส่งผลให้ได้รับผลดีมีประโยชน์อย่างแน่นอน ไม่ใช่เป็นกิริยาที่สูญเปล่าแต่ประการใด

๓. อัตถิ หุตัง เห็นว่า การต้อนรับเชื้อเชิญ ย่อมได้รับผลดีมีประโยชน์ หมาย ความว่า เมื่อบุคคลพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมมีความเห็นว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรมของตน ฉะนั้น การต้อนรับ การเชื้อเชิญโดยวิธีการที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรม ถือว่า เป็นกรรมดีอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นการแสดงน้ำใจมีไมตรีจิตต่อกันในสังคม เป็นสิ่งที่จะส่งผลให้ได้รับผลดีมีประโยชน์อย่างแน่นอน ไม่ใช่เป็นกิริยาที่สูญเปล่าแต่อย่างใด

๔. อัตถิ สุกะตะทุกกะตานัง กัมมานัง ผะลัง วิปาโก เห็นว่า การทำดีและทำชั่ว ย่อมได้รับผลดีทั้งทางตรงและทางอ้อม หมายความว่า เมื่อบุคคลพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมมีความเห็นว่า สัตว์ทั้งหลายย่อมเป็นไปตามกรรมของตน ฉะนั้น การทำดีหรือการทำชั่วของสัตว์ทั้งหลาย ย่อมส่งผลให้ได้รับ ทั้งในชาตินี้และชาติหน้า ทั้งโดยตรงและโดยอ้อม ไม่ใช่เป็นกิริยาที่สูญเปล่าแต่อย่างใด

๕. อัตถิ อะยัง โลโก เห็นว่า โลกนี้มีอยู่ หมายความว่า เมื่อบุคคลพิจารณาโดยอุบายอันแยบคายแล้ว ย่อมมีความเห็นว่า สัตว์ทั้งหลายที่เกิดขึ้นและเป็นไปอยู่นี้ เป็นสภาพที่มีอยู่ในโลกจริงโดยสมมติบัญญัติ ส่วนในความเป็นปรมัตถ์นั้น มีเพียงสภาพของรูปธรรมนามธรรมเท่านั้น อนึ่ง ในเมื่อโลกยังดำรงอยู่และเป็นไปอยู่ อย่างนี้ สัตว์โลกที่จะมาเกิดในโลกนี้อีก ย่อมมีแน่นอน ฉะนั้น จึงสรุปได้ว่า บุคคลผู้มีความเห็นชอบ ย่อมเห็นว่า สภาพของสัตว์ก็ดี สภาพของปรมัตถ์ก็ดี ยังมีอยู่และเป็นไปในสังสารวัฎฎ์นี้เรื่อยไป จนกว่าจะถึงนิพพานกันหมด สภาพเหล่านี้จึงจะไม่มีอยู่อีกต่อไป

๖. อัตถิ ปะโร โลโก เห็นว่า ภพหน้ามีอยู่ หมายความว่า สัตว์ผู้ที่ตายจากโลกนี้ไปแล้ว ในเมื่อยังมีกิเลสและกรรมหรือมีเชื้อแห่งกรรมนั้นอยู่ จะต้องเกิดขึ้นในภพหน้าอีกแน่นอน

๗. อัตถิ มาตา เห็นว่า มารดามีคุณต่อบุตรธิดาจริง และการทำดีทำชั่วต่อมารดานั้นมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อม หมายความว่า มารดาเป็นผู้มีคุณต่อบุตรธิดาทั้งหลาย เป็นพระพรหมผู้ทำให้ลูกเกิดมา เป็นบูรพาจารย์ผู้สอนลูกเป็นคนแรก เป็นพระอรหันต์ผู้ควรเพื่อการบูชาของลูก เป็นทักขิไณยบุคคลผู้ควรรับทักษิณาทานของลูก ฉะนั้น การทำดีต่อมารดาย่อมได้รับผลดีมีประโยชน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในทางตรงกันข้าม การทำชั่วต่อมารดา ย่อมได้รับผลชั่ว ทั้งทางตรงและทางอ้อมเช่นเดียวกัน

๘. อัตถิ ปิตา เห็นว่า บิดามีคุณต่อบุตรธิดาจริงและการทำดีทำชั่วต่อบิดานั้น ย่อมมีผลทั้งทางตรงและทางอ้อม หมายความว่า บิดานั้น ก็เป็นไปเช่นเดียวกันกับมารดา เพราะเป็นผู้มีบทบาทสำคัญเคียงคู่กับมารดา ฉะนั้น การทำดีต่อบิดาย่อมได้รับผลดีมีประโยชน์ ทั้งทางตรงและทางอ้อม ในทางตรงกันข้าม การทำชั่วต่อบิดา ย่อมได้รับผลชั่ว ทั้งทางตรงและทางอ้อมเช่นเดียวกัน

๙. อัตถิ สัตตา โอปะปาติกา เห็นว่า สัตว์ที่เกิดผุดขึ้นเติบโตทันทีมีอยู่ หมายความว่า สัตว์ที่เกิดขึ้นมาโดยไม่ต้องอาศัยครรภ์มารดา หรือเกิดโดยไม่ต้องอาศัยมารดาบิดาเลย แต่เกิดผุดขึ้นทันทีด้วยอำนาจแห่งกรรมนั้นมีอยู่จริง ได้แก่ สัตว์นรกทั้งหมด เปรต อสุรกาย เทวดา บางจำพวก และพรหมทุกชั้น

๑๐. อัตถิ โลเก สะมะณะพ๎ราห๎มะณา สะมัคคะตา สัมมาปะฏิปันนา อิมัง โลกัง วิภาเวต๎วา ปะเรสัง ปะเวเทนตา เห็นว่า สมณะพราหมณ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ รู้ประจักษ์แจ้งโลกนี้และโลกหน้าด้วยตนเอง และประกาศให้ผู้อื่นรู้ได้นั้น มีอยู่ หมายความว่า บุคคลที่ขวนขวายบำเพ็ญบารมี และสั่งสมมาจนเต็มเปี่ยมบริบูรณ์แล้ว สามารถรู้แจ้งแทงตลอดสรรพสิ่งทั้งปวงโดยตนเอง ทำโลกนี้ให้สว่างด้วยแสงแห่งปัญญา และประกาศบอกแก่บุคคลทั้งหลาย ให้สว่างไสวตามนั้นมีอยู่จริง ได้แก่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้า และพระปัจเจกพุทธเจ้า นั่นเอง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |