ไปยังหน้า : |
ในอภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนี [แปล]รุ.๒๒ ท่านแสดงคำอธิบายการประมวลรูป ๕ นัยไว้ดังต่อไปนี้
พระอนุรุทธาจารย์ถามว่า รูปจำแนกเป็น ๒๘ อย่างโดยองค์ธรรมอย่างไร แล้วแสดงรูป ๑๑ อย่างนั้นโดยองค์ธรรมด้วยคาถาว่า ภูตปฺปสาทวิสยา [ภูตรูป ปสาทรูป วิสยรูป] เป็นต้น เพราะรูป ๒๘ อย่างที่มีอยู่ในรูป ๑๑ อย่างนั้น ย่อมปรากฏชัดตามข้อความที่กล่าวมาแล้ว เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวว่า อฏฺารสวิธํ [รูป ๒๘ อย่าง] ดังนี้
พึงประกอบบทว่า ภูตรูป ๔ ปสาทรูป ๕ โคจรรูป ๔ โดยไม่นับซ้ำกัน [กับปถวี เตโช วาโย อีก] ภาวรูป ๒ และหทยรูป ๑ รวมรูป ๑๖ อย่างดังกล่าวนี้ พร้อมทั้งชีวิตรู และอาหารรูป รวมเป็นรูป ๑๘ อย่าง เรียกว่า นิปผันนรูป เช่นเดียวกันนี้ อนิปผันนรูป มี ๑๐ คือ ปริจเฉทรูป ๑ วิญญัติรูป ๒ วิการรูป ๓ โดยไม่นับซ้ำกัน [กับวิญญัติรูป ๒ อีก] และ ลักขณรูป ๔ โดยประการดังกล่าวนี้ รูปจึงมี ๒๘ อย่างโดยองค์ธรรม
ในบรรดารูปเหล่านี้ รูปชนิดหลัง ๑๐ อย่าง ไม่ถูกปัจจัยปรุงแต่งทำให้เกิดขึ้น เพราะไม่มีจริงโดยสภาวะ จึงชื่อว่า อนิปผันนรูป
อีกนัยหนึ่ง อนิปผันนรูปที่แสดงไว้โดยย่อและโดยพิสดารในคัมภีร์พระอภิธรรมนั้น ไม่ควรกล่าวว่า ไม่เกิดขึ้นโดยสภาวะ หรือไม่มีจริงโดยปรมัตถ์ เพราะมีอยู่โดยลักษณะปรมัตถ์ที่สำเร็จโดยความเป็นสภาวธรรมล้วน ๆ โดยล่วงความสำเร็จด้วยบัญญัติ มิฉะนั้นแล้ว แม้พระนิพพานที่ไม่มีปัจจัยปรุงแต่ง ซึ่งปราศจากลักษณะคือการเกิดขึ้น ก็ควรชื่อว่า ไม่มีอยู่โดยสภาวะ และไม่มีจริงโดยปรมัตถ์ ดังนั้น รูป ๑๐ อย่างนี้ จึงชื่อว่า อนิปผันนรูป เพราะปราศจากลักษณะคือการเกิดขึ้น หาใช่เพราะไม่มีโดยสภาวะไม่ ข้อความดังกล่าวนี้ย่อมสมควร
ในอภิธัมมัตถสังคหฎีกาชื่อว่าอภิธัมมัตถวิภาวินีรุ.๒๓ ท่านพระฎีกาจารย์ได้แสดงอารัมภบทเบื้องต้นไว้ดังนี้
รูปมี ๒๘ รูป คือ รูปเป็น ๑๘ อย่าง กับชีวิตรูป อาหารรูป ๒ อย่างนี้ คือ ภูตรูป ๔ ปสาทรูป ๕ วิสยรูป ๔ ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ [ชื่อว่า นิปผันนรูป] และรูปปวัตติทั้ง ๑๐ ที่ชื่อว่า อนิปผันนรูป เพราะรูปทั้งหลายเหล่านี้ไม่ได้เกิดจากปัจจัยแผนกหนึ่ง เพราะฉะนั้น รูปเหล่านี้คือ ปริจเฉทรูป ๑ วิญญัติรูป ๒ วิการรูป ๓ ลักขณรูป ๔ จึงได้ชื่อว่า อนิปผันนรูป ๑๐ ดังกล่าวแล้ว
คณาจารย์อภิธรรมในประเทศไทย มีพระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ เป็นต้นรุ.๒๔ ได้แสดงความหมายของนิปผันนรูปและอนิปผันนรูปไว้ดังต่อไปนี้
ในจำนวนรูป ๒๘ นั้น นับตั้งแต่มหาภูตรูปจนถึงอาหารรูป รวม ๑๘ รูปนี้ เป็นรูปปรมัตถ์แท้ [เรียกว่า นิปผันนรูป] ส่วนรูปที่เหลืออีก ๑๐ รูป นับตั้งแต่ปริจเฉทรูปจนถึงลักขณรูป ๔ นั้น ไม่ใช่เป็นรูปปรมัตถ์โดยแท้ เป็นรูปพิเศษที่เกิดขึ้นในรูปปรมัตถ์แท้ ๑๘ รูปนั้นอีกทีหนึ่ง [เรียกว่า อนิปผันนรูป]
ฉะนั้น พระอนุรุทธาจารย์จึงตั้งชื่อรูปปรมัตถ์โดยแท้ ๑๘ รูปนั้นว่า มี ๕ ชื่อ ดังนี้
๑. สภาวรูป คือ รูปที่มีสภาวะของตน ๆ
๒. สลักขณรูป คือ รูปที่มีลักษณะ คือ อนิจจะ ทุกขะ อนัตตะ
๓. นิปผันนรูป คือ รูปที่เกิดขึ้นจากกรรม จิต อุตุ อาหาร
๔. รูปรูป คือ รูปที่มีการเสื่อมสิ้นสลายไป
๕. สัมมสนรูป คือ รูปที่พระโยคีบุคคลสามารถพิจารณาโดยความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้
สำหรับรูปที่ไม่ใช่รูปปรมัตถ์โดยแท้ ๑๐ รูปนั้น มีชื่อตรงกันข้าม ๕ ชื่อ ดังนี้
๑. อสภาวรูป คือ รูปที่ไม่มีสภาวะของตน ๆ
๒. อสลักขณรูป คือ รูปที่ไม่มีลักษณะ คือ อนิจจะ ทุกขะ อนัตตะ
๓. อนิปผันนรูป คือ รูปที่ไม่ได้เกิดขึ้นจากกรรม จิต อุตุ อาหาร โดยเฉพาะ
๔. อรูปรูป คือ รูปที่ไม่มีการเสื่อมสิ้นสลายไป
๕. อสัมมสนรูป คือ รูปที่พระโยคีบุคคลไม่สามารถพิจารณาโดยความเป็น อนิจจัง ทุกขัง อนัตตา ได้
นอกจากนี้ อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๒๕ ได้แสดงคำอธิบายขยายความของนิปผันนรูปกับอนิปผันนรูปไว้ดังต่อไปนี้
ในจำนวนรูปธรรมทั้งหมด ๒๘ รูปนั้น แบ่งออกเป็นประเภทใหญ่ได้ ๒ ประเภท คือ นิปผันนรูป ๑๘ และอนิปผันนรูป ๑๐ รวมเป็น ๒๘ รูป
นิปผันนรูป หมายถึง รูปปรมัตถ์แท้ที่มีสภาวลักษณะเป็นประจำของตนโดยเฉพาะ เช่น ปถวีรูป [รูปดิน มีลักษณะแข็งและอ่อน] อาโปรูป [รูปน้ำ มีลักษณะไหลและเกาะกุม] เตโชรูป [รูปไฟ มีลักษณะร้อนและเย็น] วาโยรูป [รูปลม มีลักษณะเคร่งตึงหรือหย่อนไหว] เป็นต้น รูปเหล่านี้จะทรงสภาวลักษณะของตนไว้เป็นประจำ ไม่ผันแปรเปลี่ยนแปลงสภาวะไปเป็นอย่างอื่นเลย แม้จะมีสภาพเกิดขึ้นและดับไป โดยสภาพแห่งไตรลักษณ์ก็ตาม แต่เมื่อเกิดขึ้นทีไร กับใคร ที่ไหน อย่างไรก็ตาม ย่อมจะมีสภาวะประจำของตนเช่นนั้น เหมือนกัน เช่น ปถวีธาตุ คือ สภาพแข็งหรือสภาพอ่อน ไม่ว่าจะเกิดอยู่กับใครหรือสิ่งใด ที่ไหน เมื่อไร ย่อมปรากฏสภาพแข็งหรืออ่อนอยู่นั่นเอง ไม่เปลี่ยนแปลงสภาพไปเป็นอย่างอื่น จึงชื่อว่า รูปปรมัตถ์แท้ คือ นิปผันนรูป มีจำนวน ๑๘ รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ ปสาทรูป ๕ วิสยรูป ๔ [หรือ ๗] ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ อาหารรูป ๑
อนิปผันนรูป หมายถึง รูปที่ไม่ใช่รูปปรมัตถ์แท้ แต่เกี่ยวเนื่องโดยความเป็นอาการ หรือเป็นเครื่องหมายของนิปผันนรูป เช่น ปริจเฉทรูป คือ รูปที่เป็นช่องว่างคั่นระหว่างกลุ่มรูปต่อกลุ่มรูปของนิปผันนรูป กายวิญญัติรูป คือ รูปที่แสดงอาการเคลื่อนไหวของร่างกาย หรือวจีวิญญัติรูป คือ รูปที่เกี่ยวกับการพูดที่เป็นอาการเคลื่อนไหวทางวาจาของ นิปผันนรูป ดังนี้เป็นต้น เพราะฉะนั้น จึงกล่าวว่า ไม่ใช่รูปปรมัตถ์แท้ หรือเรียกว่า รูปปรมัตถ์เทียม ก็ได้ จึงชื่อว่า อนิปผันนรูป มีจำนวน ๑๐ รูป ได้แก่ ปริจเฉทรูป ๑ วิญญัติรูป ๒ วิการรูป ๓ ลักขณรูป ๔
บทสรุปของผู้เขียน :
ในเรื่องนิปผันนรูปและอนิปผันนรูปนี้ ผู้เขียนจักสรุปเนื้อความและคำอธิบายโดยสังเขปดังต่อไปนี้
นิปผันนรูป แปลว่า รูปปรมัตถ์แท้ หมายถึง รูปปรมัตถ์ที่มีสภาวลักษณะพิเศษโดยเฉพาะของตน ๆ เช่น ปถวีรูป คือ รูปดิน มีลักษณะแข็งหรืออ่อน, อาโปรูป คือ รูปน้ำ มีลักษณะไหลหรือเกาะกุม, เตโชรูป คือ รูปไฟ มีลักษณะร้อนหรือเย็น, วาโยรูป คือ รูปลม มีลักษณะหย่อนหรือตึง เป็นต้น รูปเหล่านี้จะทรงสภาวลักษณะของตนไว้เป็นประจำ ไม่มีการผันแปรเปลี่ยนแปลงสภาวะหรือคุณสมบัติของตนไปเป็นอย่างอื่น เช่น ปถวีรูป คือ รูปดินนั้น ไม่ว่าจะเกิดกับคน สัตว์ หรือสิ่งของต่าง ๆ หรือจะเกิดในเวลาใด ในสถานที่ใดก็ตาม ย่อมมีสภาพแข็งเหมือนกันหมด จะแข็งมากหรือแข็งน้อยจนมีสภาพอ่อน เพราะความแข็งมีน้อยมากก็ตาม แล้วแต่สภาพของธาตุดินนั้นจะมีความหนาแน่นหรือเบาบางแตกต่างกันออกไป ก็ชื่อว่า ธาตุดิน ดังนี้เป็นต้น เพราะเหตุนั้น รูปเหล่านี้จึงได้ชื่อว่า รูปปรมัตถ์แท้ เรียกว่า นิปผันนรูป มีจำนวน ๑๘ รูป ได้แก่ มหาภูตรูป ๔ ปสาทรูป ๕ โคจรรูป ๔ [หรือวิสยรูป ๗] ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ อาหารรูป ๑ รวมเป็นนิปผันนรูป ๑๘
อนิปผันนรูป แปลว่า รูปปรมัตถ์ไม่แท้ หมายถึง รูปที่ไม่ใช่รูปปรมัตถ์แท้ แต่มีความเกี่ยวเนื่องกับรูปปรมัตถ์แท้ คือ เป็นอาการหรือเป็นเครื่องหมายของนิปผันนรูป เช่น ปริจเฉทรูป เป็นรูปที่เป็นช่องว่างคั่นระหว่างรูปกลาปหนึ่งกับอีกรูปกลาปหนึ่งมิให้ติดกันจนแยกกันไม่ออก แต่ให้เห็นความแยกกันเป็นหมวดหมู่ของรูปได้ วิญญัติรูปเป็นรูปที่เป็นอาการเคลื่อนไหวทางกายและทางวาจาของนิปผันนรูป ได้แก่ อิริยาบถต่าง ๆ และคำพูดหรือการเปล่งเสียงออกมาทางวาจาของสัตว์ทั้งหลายนั่นเอง เหล่านี้เป็นต้น แต่ไม่มีสภาวะของรูปเหล่านั้นอยู่ต่างหากโดยเฉพาะ เป็นเพียงอาการเป็นไปของนิปผันนรูปเท่านั้น จึงกล่าวไม่ได้ว่า เป็นรูปปรมัตถ์แท้ เป็นแต่เพียงรูปปรมัตถ์เทียมเท่านั้น หมายความว่า ต้องมีนิปผันนรูปเกิดปรากฏขึ้นก่อนแล้ว อนิปผันนรูปเหล่านี้จึงจะปรากฏตาม เหมือนเงาตามตัว ถ้าไม่มีนิปผันนรูปเกิดปรากฏขึ้นแล้ว อนิปผันนรูปย่อมปรากฏไม่ได้เลย เปรียบเหมือนเงาของสิ่งต่าง ๆ ถ้าไม่มีสิ่งนั้น ๆ แล้ว เงาของสิ่งนั้น ๆ ย่อมปรากฏขึ้นไม่ได้เลย เพราะฉะนั้น รูปเหล่านี้จึงเรียกว่า อนิปผันนรูป มีจำนวน ๑๐ รูป ได้แก่ ปริจเฉทรูป ๑ วิญญัติรูป ๒ วิการรูป ๓ ลักขณรูป ๔ รวมเป็นอนิปผันนรูป ๑๐