| |
คู่ที่ ๖ สันติเกรูป กับ ทูเรรูป   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๕๐๗ ท่านได้แสดงสันติเกรูปและทูเรรูปไว้เพียงสั้น ๆ ดังต่อไปนี้

ชื่อว่า สันติเกรูป [รูปใกล้] เพราะใช้ปัญญารับรู้รูปที่อยู่ไกลได้อย่างรวดเร็ว

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๕๐๘ ท่านได้แสดงความหมายของสันติเกรูปและทูเรรูปไว้เพียงสั้น ๆ ดังต่อไปนี้

สันติเกรูป ชื่อว่า อาสันนรูป เพราะถือเอาได้ง่ายกว่า [เข้าใจได้ง่ายกว่า] ทูเรรูปนั้น

ท่านพระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะรุ.๕๐๙ ได้แสดงอธิบายเรื่องสันติเกรูปและทูเรรูปไว้ ดังต่อไปนี้

ปสาทรูป ๕ วิสยรูป ๗ รวม ๑๒ รูปเหล่านี้ เมื่อพิจารณาด้วยปัญญาแล้วรู้ได้ง่าย เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า สันติเกรูป

ส่วนรูปที่เหลืออีก ๑๖ รูปนั้น เมื่อพิจารณาด้วยปัญญาแล้ว ก็รู้ได้ยาก เพราะฉะนั้น จึงชื่อว่า ทูเรรูป

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๕๑๐ ได้แสดงเรื่องสันติเกรูปและทูเรรูปไว้ ดังต่อไปนี้

สันติเกรูป หมายถึง รูปใกล้ คือ รูปที่รู้ได้ง่าย มี ๑๒ รูป ได้แก่ ปสาทรูป ๕ และวิสยรูป ๗

ทูเรรูป หมายถึง รูปไกล คือ รูปที่รู้ได้ยาก มี ๑๖ รูป ได้แก่ รูปที่เหลือ ๑๖ รูป

ปสาทรูป ๕ และวิสยรูป ๗ ที่เป็นโอฬาริกรูปนั่นเอง ได้ชื่อว่า สันติเกรูป ด้วย ซึ่งสันติเกรูปนี้ มุ่งหมายถึง เป็นรูปใกล้ เพราะเป็นรูปที่เกิดขึ้นเสมอ ๆ มิได้ขาด กล่าวคือ เป็นรูปที่ให้เกิดการเห็น การได้ยิน การได้กลิ่น การรู้รส และการรู้สัมผัสถูกต้องอยู่เสมอไม่ค่อยว่างเว้น เป็นของใกล้ที่เกิดขึ้นบ่อย ๆ นี้เอง เมื่อพิจารณาด้วยปัญญาแล้ว ย่อมรู้ได้ง่ายเปรียบเหมือนบุคคลที่อยู่ใกล้ ย่อมเรียกใช้สอยได้ง่ายกว่าคนที่อยู่ไกล เพราะฉะนั้น จึงได้ชื่อว่า สันติเกรูป คือ รูปใกล้

ส่วนรูปที่เหลืออีก ๑๖ รูปนั้น เป็นรูปที่พิจารณาด้วยปัญญาแล้ว ก็ยังรู้ได้ยาก เพราะไม่ได้เกิดขึ้นบ่อย ๆ เพราะฉะนั้น จึงได้ชื่อว่า ทูเรรูป คือ รูปไกล

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

ในอธิการว่าด้วยเรื่องสันติเกรูปและทูเรรูปนี้ ผู้เขียนได้รวบรวมเนื้อหาและคำอธิบายมาประมวลอธิบายขยายความเพิ่มเติมดังต่อไปนี้

๑. สันติเกรูป คือ รูปใกล้ หมายถึง รูปที่รู้ได้ง่าย มี ๑๒ รูป ได้แก่ ปสาทรูป ๕ วิสยรูป ๗ หมายความว่า รูปทั้ง ๑๒ รูปนี้ ได้ชื่อว่า สันติเกรูป คือ เป็นรูปใกล้ เพราะเป็นรูปที่เกิดขึ้นเสมอ ๆ มิได้ขาด กล่าวคือ เป็นรูปที่ทำให้เกิดการเห็นทางจักขุทวาร การได้ยินทางโสตทวาร การสูดดมกลิ่นทางฆานทวาร การลิ้มชิมรสทางชิวหาทวาร และการกระทบสัมผัสทางกายทวาร อยู่เสมอ ตั้งแต่ตื่นขึ้น จนถึงจิตก้าวลงสู่ความหลับ [เป็นภวังคจิต] เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า เป็นของใกล้ เพราะเกิดขึ้นบ่อย ๆ อยู่เสมอนั่นเอง อนึ่ง เพราะเป็นรูปที่สามารถพิจารณารู้ด้วยปัญญาได้โดยง่ายกว่ารูปอื่น ๆ แต่มิได้หมายความว่า เป็นรูปที่อยู่ใกล้ตัว หมายความเพียงว่า เป็นรูปที่อยู่ใกล้กับปัญญาเท่านั้น กล่าวคือ เมื่อพิจารณาด้วยปัญญาแล้ว ยังพอรู้ได้โดยง่าย และเป็นรูปที่บุคคลใช้สอยอยู่เสมอ ได้แก่ ใช้จักขุปสาทรูปในการดูรูป ใช้โสตปสาทรูปในการฟังเสียง ใช้ฆานปสาทรูปในการดมกลิ่น ใช้ชิวหาปสาทรูปในการลิ้มชิมรส และใช้กายปสาทรูปในการกระทบสัมผัสรู้สึกทางกาย เปรียบเหมือนบุคคลที่อยู่ใกล้ชิดหรือสนิทสนม ย่อมสามารถเรียกใช้สอยได้ง่าย และใช้อยู่เป็นประจำ ฉันนั้น

๒. ทูเรรูป คือ รูปไกล หมายถึง รูปที่รู้ได้ยาก มี ๑๖ รูป ได้แก่ รูปที่เหลือจากสันติเกรูปอีก ๑๖ รูปนั่นเอง คือ อาโปธาตุ ๑ ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ อาหารรูป ๑ ปริจเฉทรูป ๑ วิญญัติรูป ๒ วิการรูป ๓ และลักขณรูป ๔ รูปเหล่านี้ ได้ชื่อว่า ทูเรรูป เพราะเป็นรูปที่ไม่ได้ปรากฏทางปัญจทวาร แต่เป็นรูปที่ปรากฏทางมโนทวารอย่างเดียวเท่านั้น เพราะฉะนั้น การที่จะรู้ถึงสภาวะของรูปเหล่านี้ได้ ก็ต้องอาศัยการศึกษาและกำหนดพิจารณาตามสภาวะที่ได้เรียนรู้มา ซึ่งต้องใช้ปัญญาที่ละเอียดลึกซึ้งและต้องหมั่นกำหนดพิจารณาอยู่เนือง ๆ จึงจะสามารถรู้ได้ตามกำลังปัญญาของตน หมายความว่า รูปเหล่านี้แม้จะพิจารณาด้วยปัญญาแล้ว ก็ยังรู้ได้ยาก เพราะไม่ได้ปรากฏทางปัญจทวารวิถีเหมือนกับสันติเกรูปทั้งหลายนั่นเอง แต่มิได้หมายความว่าเป็นรูปที่อยู่ไกลตัว หมายความเพียงว่า เป็นรูปที่อยู่ไกลจากปัญญา ซึ่งเข้าถึงได้ยากเท่านั้น ทูเรรูปเหล่านี้สามารถรับรู้ได้ทางมโนทวาร คือ ทางใจอย่างเดียวเท่านั้น จึงเป็นรูปที่มีสภาวะรู้ได้ยาก มีแต่สมเด็จพระสัมมาสัมพุทธเจ้าเท่านั้นที่ทรงพิจารณารู้เห็นสภาวะแห่งรูปเหล่านี้ได้โดยละเอียดลึกซึ้งทุกประการ และบุคคลผู้มีอภิญญาจิตตลอดทั้งบุคคลผู้มีวิปัสสนาญาณทั้งหลาย ย่อมสามารถกำหนดพิจารณารู้เห็นสภาวะแห่งรูปเหล่านี้ได้ตามสมควรแก่กำลังปัญญาของตน ส่วนบุคคลนอกจากนี้ ย่อมพิจารณารู้สภาวะแห่งรูปเหล่านี้ได้โดยยากหรือไม่สามารถพิจารณารู้ได้เลย ซึ่งการรู้หรือการเข้าถึงรูปเหล่านี้ ย่อมมีขอบเขตที่แตกต่างกันตามสมรรถภาพแห่งปัญญาของแต่ละบุคคลดังกล่าวแล้ว

อนึ่ง ทูเรรูปเหล่านี้ เป็นรูปที่ไม่ได้ปรากฏในความรู้สึกของสัตว์ทั้งหลายอยู่บ่อย ๆ เหมือนกับสันติเกรูปซึ่งสัตว์ทั้งหลายคำนึงถึงอยู่เสมอ แต่ทูเรรูปเหล่านี้เป็นสุขุมรูป คือ เป็นรูปละเอียด ต้องใช้ปัญญาพิจารณาหรือต้องตระหนักรู้อยู่เป็นนิตย์เท่านั้น จึงจะสามารถกำหนดรู้ได้ ด้วยสุตมยปัญญาบ้าง ด้วยจินตมยปัญญาบ้าง และจะรู้ได้เด่นชัดก็ด้วยอำนาจแห่งภาวนามยปัญญาที่เกี่ยวกับวิปัสสนาภาวนา ซึ่งสมรรถภาพในการรับรู้นี้ ย่อมเป็นไปเฉพาะบางครั้งบางคราวและบางบุคคลเท่านั้น เพราะฉะนั้น สุขุมรูปเหล่านี้จึงเปรียบเหมือนบุคคลภายนอกหรือบุคคลที่ไม่สนิทสนมคุ้นเคยกัน ฉันนั้น มักไม่ค่อยได้เรียกหาเรียกใช้มากนัก จะเรียกหาหรือเรียกใช้บ้าง ก็เฉพาะบางครั้งบางคราว และบางบุคคล ในกิจการงานที่เป็นกิจลักษณะเท่านั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |