| |
ความหมายของสัททรูป   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๒๐๖ ได้แสดงความหมายของสัททรูปไว้ดังต่อไปนี้

คำว่า สัททะ [สัททารมณ์คือเสียง] คือ รูปที่ถึงการรับรู้ด้วยโสตปสาท

อีกนัยหนึ่ง สัททะ คือ รูปที่บอก หมายถึง บอกเนื้อความนั้น ๆ หรือที่ตั้งของตน

อีกนัยหนึ่ง สัททะ คือ รูปที่แผ่ไปสู่ทิศหรือสถานที่นั้น ๆ โดยฉับพลัน

เพราะฉะนั้น เมื่อสรุปความแล้ว สัททรูปย่อมมีความหมาย ๓ ประการ คือ

๑. รูปที่ถึงความรับรู้ด้วยโสตปสาท ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “สปฺปติ โสตวิญฺเยฺยภาวํ คจฺฉตีติ สทฺโท” แปลความว่า รูปใดย่อมถึงความเป็นสภาพอันจิตและเจตสิกพึงรับรู้ได้ด้วยโสตปสาท เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า สัททะ

๒. รูปที่บอกเนื้อความนั้น ๆ หรือที่ตั้งของตน ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “สทฺทยติ ตํ ตํ อตฺถํ วา อตฺตโน วตฺถุ วา อาจิกฺขตีติ สทฺโท” แปลความว่า รูปใดย่อมบอกเนื้อความหรือเรื่องราวของตนนั้น ๆ ที่ได้ยินได้ฟัง เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า สัททะ

๓. รูปที่แผ่ไปสู่ทิศหรือสถานที่นั้น ๆ โดยเร็วพลัน ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “สทติ ตํ ตํ ทิสํ วา ขเณน วิสฺสรติ วิปฺผรตีติ สทฺโท” แปลความว่า รูปใดย่อมแผ่กระจายเสียงที่ได้ยินไปสู่ทิศหรือสถานที่นั้น ๆ โดยเร็วพลัน เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า สัททะ

บทสรุปของผู้เขียน :

สัททรูป หมายถึง สัททารมณ์ ได้แก่ เสียงต่าง ๆ เป็นสภาพธรรมที่กระทบกับประสาทหู ทำให้เกิดโสตวิญญาณจิต คือ การได้ยินเสียง ฯ

สัททะ คือ เสียงที่ปรากฏเป็นอารมณ์ให้แก่โสตวิญญาณนี้ ชื่อว่า สัททารมณ์ มีความหมายโดยสรุป ๓ ประการ คือ

๑. เป็นรูปที่ถึงความเป็นสภาพอันจิตและเจตสิกพึงรับรู้ได้ด้วยโสตปสาท หมายความว่า สัททรูปหรือสัททารมณ์คือเสียงต่าง ๆ นั้น บุคคลจะรับรู้โดยทวารอื่นไม่ได้เลย นอกจากโสตทวาร อันได้แก่ โสตปสาทรูป เท่านั้น ซึ่งเป็นไปโดยสภาพธรรมชาติหรือธรรมดาของสภาวธรรม โดยไม่มีใครมาบงการหรือบังคับบัญชาให้เป็นไปแต่ประการใด ล้วนเป็นไปตามเหตุปัจจัยเท่านั้น นี้หมายเอาสัททรูปที่เป็นสัททารมณ์อันเป็นปัจจุบัน ซึ่งปรากฏแก่โสตทวาริกจิตเท่านั้น ถ้าเป็นสัททารมณ์ที่เป็นธัมมารมณ์ซึ่งปรากฏแก่มโนทวาริกจิตนั้น สามารถปรากฏได้ทั้งที่เป็นอดีต ปัจจุบัน และอนาคต อันบุคคลรับรู้ได้ทางใจ

๒. เป็นรูปที่บอกเนื้อความหรือเรื่องราวของตนแก่ผู้ที่ได้ยินได้ฟัง หมายความว่าเสียงที่ปรากฏออกมานั้น ย่อมประกาศบอกสภาพ ความหมาย หรือเรื่องราวต่าง ๆ ของตน แก่บุคคลผู้ได้ยินได้ฟังและสามารถเข้าใจได้ว่า สภาพของเสียงนั้นคืออะไร มีความหมายหรือเนื้อความเป็นอย่างไร และแสดงเรื่องราวเกี่ยวกับอะไร เป็นต้น ตามความหมายที่แสดงมานี้ เป็นการกล่าวโดยอ้อม เพราะเสียงเป็นรูปธรรมชนิดหนึ่ง เรียกว่า สัททรูป ซึ่งมีสภาพเป็นอัพยากตะ คือ เป็นสภาวธรรมที่ไม่มีความขวนขวายด้วยตนเอง เป็นอจิตตกะ คือ เป็นสภาวธรรมที่ไม่มีเจตนาในการจัดแจงปรุงแต่งหรือบงการบังคับบัญชาให้สิ่งใดเกิดขึ้นแต่ประการใด เพราะฉะนั้น จึงไม่สามารถประกาศบอกเนื้อหาหรือความหมายหรือเรื่องราวของตนแก่บุคคลใด ๆ ได้เลย เพียงแต่เมื่อบุคคลได้ฟังเสียงนั้น ๆ แล้ว ย่อมประมวลสภาพของเสียงให้เป็นความหมายว่า เป็นสิ่งนั้น สิ่งนี้ และรวบรวมเนื้อความเหล่านั้นให้ติดต่อกันตามลำดับ จนสามารถรู้เป็นเรื่องราวต่าง ๆ ทางมโนทวารวิถีจิตได้เท่านั้น

๓. เป็นรูปที่แผ่กระจายเสียงที่ได้ยินไปสู่ทิศหรือสถานที่นั้น ๆ โดยเร็วพลัน หมายความว่า สัททารมณ์คือเสียงต่าง ๆ นั้น เมื่อปรากฏขึ้นแล้ว ย่อมแผ่สภาพของตนไปสู่ทิศต่าง ๆ โดยรวดเร็ว ย่อมไม่ตั้งอยู่กับที่ ทำให้บุคคลหรือสัตว์ทั้งหลายสามารถรับรู้คือได้ยินได้ในเวลาอันรวดเร็ว ตามกำลังของเสียงหรือสมรรถภาพแห่งเหตุปัจจัยของบุคคลนั้น ๆ นี้เป็นการกล่าวโดยอ้อม เพราะสภาพของเสียงนั้น เป็นรูปธรรมชนิดหนึ่ง ที่เรียกว่า สัททรูป ซึ่งมีสภาพเป็นอัพยากตะ และเป็นอจิตตกะ เป็นต้นดังกล่าวแล้ว [ในข้อที่ ๑] เพราะฉะนั้น จึงไม่มีเจตนาที่จะจัดแจงหรือบงการบังคับบัญชาให้ตนเองหรือสิ่งใดเป็นไปอย่างนั้นอย่างนี้แต่ประการใด ย่อมเป็นไปตามเหตุปัจจัยของตนเท่านั้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |