ไปยังหน้า : |
ร่างกายนี้มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาหาร ถ้าไม่มีอาหาร ย่อมดำรงอยู่ไม่ได้ แม้ฉันใด ถีนมิทธะก็มีอาหารเป็นที่ตั้ง ดำรงอยู่ได้เพราะอาหาร ถ้าไม่มีอาหารแล้ว ย่อมดำรงอยู่ไม่ได้ ฉันนั้น
อาหารของถีนมิทธะ ได้แก่ สภาพจิตที่เกิดความห่อเหี่ยว และซึมเศร้า ง่วงเหงา หดหู่ เบื่อหน่าย สิ่งที่เป็นอาหารให้ถีนมิทธะที่ยังไม่เกิด ได้เกิดขึ้น หรือทำให้ถีนมิทธะที่เกิดแล้วเจริญไพบูลย์ยิ่งขึ้น ได้แก่ อาการตกค้างอยู่ในจิตใจของความห่อเหี่ยว ซึมเศร้า ง่วงเหงา หดหู่ เบื่อหน่าย หรือ การกระทำไว้ในใจโดยอุบายอันไม่แยบคาย ที่เรียกว่า อโยนิโสมนสิการ ในสิ่งเหล่านี้ คือ
๑. ความไม่ยินดีในสถานที่อันสงัด หรือ ในธรรมทั้งหลายอันเป็นกุศล ซึ่งทำให้จิตตกไปสู่ความเกียจคร้านหรือหันเหไปสู่อกุศลกรรม
๒. ความเกียจคร้าน [โดยอ้างว่า ร้อนนัก หนาวนัก หิวกระหายนัก ยังเช้าอยู่ เย็นแล้ว เป็นต้น] แล้วไม่ทำการงาน
๓. ความบิดกายด้วยอำนาจกิเลส [บิดร่างกาย เอียงไปมา ให้ดูเหมือนไม่สบายกาย ด้วยอำนาจความเกียจคร้าน]
๔. ความเมาอาหาร เช่น รับประทานมากเกินไป รับประทานอาหารที่ย่อยยาก หรือร่างกายอ้วนอึดอัดเนื่องจากรับประทานมากเกินไป
๕. อาการที่ใจหดหู่ คือ ความไม่เหมาะควรแก่การงานของจิต เนื่องจากจิตใจท้อแท้ เบื่อหน่าย ขาดความพร้อมของร่างกายและจิตใจที่จะกระทำกิจการงาน
เมื่อบุคคลไม่ใช้โยนิโสมนสิการให้รู้เท่าทันในสิ่งเหล่านี้ และไม่แก้ไขอาการเหล่านี้ให้หายไป อาการเหล่านี้ย่อมติดค้างอยู่ในใจ ซึ่งมีผลกระทบให้ร่างกายเป็นไปตามสภาพของอาการเหล่านั้นด้วย เช่น มักเหน็ดเหนื่อยเมื่อยล้า มีอาการหาวนอน ง่วงซึมอยู่เสมอ แม้จะได้นอนพักผ่อนมาจนเต็มที่แล้ว ก็ยังมีอาการหาวและง่วงอยู่ร่ำไป กลายเป็นปกติของบุคคลนั้นไป