ไปยังหน้า : |
นิวรณ์ หมายถึง กิเลสที่เป็นเครื่องขัดขวางมิให้บรรลุคุณความดี มีฌาน เป็นต้น มี ๕ อย่าง หรือ ๖ อย่าง คือ
๑. กามฉันทนิวรณ์ ความยินดีติดใจในกามคุณอารมณ์ หมายความว่า สภาพของกามฉันทนิวรณ์ อันเป็นตัวโลภเจตสิกนี้ ย่อมมีสภาพที่ดิ้นรนไปในกามคุณอารมณ์ คือ รูป เสียง กลิ่น รส โผฏฐัพพะ อันน่าใคร่ น่าปรารถนา น่าชอบใจ เมื่อได้เสพแล้วย่อมเกิดความหลงใหลติดใจ มีความต้องการที่จะเสพอีกเสมอ ๆ หรือถ้าเกิดความเบื่อหน่ายในอารมณ์เก่าแล้ว ย่อมต้องการอารมณ์ใหม่อยู่ร่ำไป ถ้าไม่ได้อารมณ์ดังที่ต้องการ ย่อมเกิดความหวังความดิ้นรนปรารถนาด้วยอำนาจความกำหนัดยินดี เพราะฉะนั้น กามฉันทนิวรณ์นี้จึงเป็นปฏิปักษ์ต่อเอกัคคตา เพราะเอกัคคตาเจตสิกมีความรักใคร่แนบสนิทอยู่กับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งเพียงอย่างเดียว ส่วนกามฉันทนิวรณ์นั้น มีสภาพที่ดิ้นรนทะยานอยากไปในอารมณ์ต่าง ๆ ด้วยอำนาจความกำหนัดยินดี มีความต้องการที่จะลิ้มชิมรสของอารมณ์ใหม่อยู่เสมอ เพราะฉะนั้น เมื่อกามฉันทนิวรณ์มีกำลังมากกว่า ย่อมทำให้เอกัคคตา คือ ตัวสมาธินั้นอ่อนกำลังลงและหลุดจากอารมณ์ที่แนบสนิทได้ง่าย ด้วยเหตุนี้ พระโยคีบุคคลผู้เจริญสมถกรรมฐาน จึงต้องปลูกเอกัคคตาให้มีความรักใคร่แนบสนิทติดอยู่ในอารมณ์สมถะอย่างใดอย่างหนึ่ง ไม่ให้จิตดิ้นรนแส่ไปหาอารมณ์อื่น เมื่อเอกัคคตามีกำลังแก่กล้าแล้ว ย่อมสามารถข่มกามฉันทนิวรณ์ให้สงบราบคาบเป็นวิกขัมภนปหานได้ในที่สุด
๒. พยาบาทนิวรณ์ ความคิดพยาบาทปองร้ายผู้อื่น หมายความว่า พยาบาทนิวรณ์นี้ ได้แก่ โทสเจตสิก คือ ความโกรธ ความเกลียด ความกลัว ความอับอาย เป็นต้น ซึ่งมีสภาพประทุษร้ายหรือผลักไสอารมณ์ หรือต้องการที่จะทำลายอารมณ์ที่รับรู้อยู่นั้นให้ย่อยยับพินาศไป ตามกำลังความรุนแรงของโทสะ พยาบาทนิวรณ์นี้จึงเป็นปฏิปักษ์ต่อปีติ เพราะปีตินั้น มีสภาพที่รักใคร่พอใจ ทะนุถนอมและเอิบอิ่มซึมซาบอยู่ในอารมณ์นั้น ๆ ส่วนพยาบาทนิวรณ์นั้น มีสภาพผลักไสไม่พอใจต่ออารมณ์ และมักต่อต้านหรือทำลายอารมณ์ให้ย่อยยับดับสูญไปโดยเร็ว ปีติเปรียบเสมือนมารดาผู้รักใคร่ทะนุถนอมคลอเคลียในบุตร ส่วนพยาบาทนิวรณ์นั้น เปรียบเหมือนมารผู้มีใจหยาบซึ่งต้องการที่จะทำร้ายทารกนั้นให้ถึงความพินาศตายไป เพราะฉะนั้น เมื่อพยาบาทนิวรณ์มีกำลังมากกว่า ย่อมทำให้จิตเจตสิกผละออกจากอารมณ์กรรมฐาน ไม่ใยดีต่ออารมณ์ และเบือนหน้าหนีจากอารมณ์นั้นด้วยความไม่พอใจ ด้วยเหตุนี้ พระโยคีบุคคลผู้เจริญสมถกรรมฐาน จึงต้องปลูกปีติให้เกิดความรักใคร่ซึมซาบแนบสนิทอยู่ในอารมณ์นั้น เพื่อทำลายกำลังของพยาบาทนิวรณ์ให้หมดไป และเมื่อปีติมีกำลังแก่กล้าแล้ว ย่อมเกิดความแช่มชื่นเอิบอาบอยู่ในอารมณ์เดียว สามารถข่มพยาบาทนิวรณ์ให้สงบราบคาบเป็นวิกขัมภนปหานได้ในที่สุด
๓. ถีนมิทธนิวรณ์ ความเซื่องซึมท้อถอยจากคุณความดี หมายความว่า ถีนเจตสิกเป็นสภาวธรรมที่ทำให้จิตมีอาการเซื่องซึมหรือท้อถอยจากอารมณ์ที่เป็นกุศล ส่วนมิทธเจตสิกนั้น เป็นสภาวธรรมที่ทำให้เจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนมีอาการเซื่องซึมและท้อถอยจากอารมณ์ที่เป็นกุศลด้วย เพราะฉะนั้น ถีนะและมิทธะเจตสิก ๒ ดวงนี้ จึงสามารถเกิดพร้อมกันได้ เรียกว่า สหกทาจิเจตสิก แปลว่า เจตสิกที่เกิดเป็นบางครั้งบางคราว แต่เวลาเกิดต้องเกิดพร้อมกันเสมอ เพื่อทำให้สภาพของบารมีธรรมที่สั่งสมมานั้นเสื่อมถอยหดหายและหมดไป ถีนมิทธนิวรณ์นี้เป็นปฏิปักษ์ต่อวิตก เพราะวิตกนั้น มีสภาพที่ขวนขวายในการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์อยู่เสมอ ไม่ท้อถอยต่ออารมณ์ ส่วนถีนะนั้นทำให้จิตเซื่องซึมและท้อถอยจากอารมณ์ มิทธะย่อมทำให้เจตสิกที่เกิดพร้อมกับตนนั้น เซื่องซึมท้อถอยจากอารมณ์เช่นเดียวกัน ทำให้จิตเจตสิกเกิดอาการคลุมเครือไม่โปร่งใส และเกิดอาการหงอยเหงา ท้อแท้เบื่อหน่ายต่อการรับอารมณ์ ด้วยเหตุนี้ เมื่อถีนมิทธนิวรณ์มีกำลังมากกว่า วิตกองค์ฌานต่อต้านกำลังไม่ไหว ย่อมอ่อนกำลังลงและละทิ้งจากอารมณ์ไป เพราะฉะนั้น ผู้เจริญสมถะจึงต้องปลูกวิตกให้เกิดขึ้น ด้วยการใส่ใจในการยกจิตขึ้นสู่อารมณ์สมถะนั้นบ่อย ๆ และปลูกความรักใคร่ในอารมณ์นั้น โดยไม่ไปใส่ใจในอารมณ์อื่น เพื่อให้วิตกมีกำลังแก่กล้าขึ้น สามารถที่จะข่มถีนมิทธนิวรณ์ให้สงบราบคาบเป็นวิกขัมภนปหานได้ในที่สุด
๔. อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ ความฟุ้งซ่านรำคาญใจในคุณความดีที่ยังไม่ได้ทำ และในบาปอกุศลธรรมที่ได้ทำไปแล้ว ย่อมทำให้เกิดความเดือดร้อนใจขึ้น อันมีความสำคัญผิดคิดว่า “ควรในสิ่งที่ไม่ควรทำ” และคิดว่า “ไม่ควรในสิ่งที่ควรทำ” เป็นต้นเหตุให้เกิดขึ้น อุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์นี้เป็นปฏิปักษ์ต่อสุขเวทนา เพราะสุขเวทนาหรือโสมนัสสเวทนานั้น มีความชื่นชมยินดี พอใจรักใคร่ในอารมณ์นั้น ส่วนอุทธัจจะนั้นมีสภาพฟุ้งซ่านซัดส่ายไปในอารมณ์ต่าง ๆ โดยไม่ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง และกุกกุจจะนั้นมีความรำคาญเบื่อหน่ายต่ออารมณ์ต่าง ๆ ได้ง่าย ไม่ยินดีพอใจอยู่ในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งได้นานเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น สภาพของอุทธัจจะและกุกกุจจะนี้ จึงเป็นไปในทำนองเดียวกัน คือ มีความซัดส่ายไปในอารมณ์ต่าง ๆ อยู่เสมอ ไม่ตั้งมั่นอยู่ในอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง เพราะฉะนั้น ถ้าสภาพของอุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์มีกำลังมากกว่า ย่อมทำให้จิตเจตสิกคลายจากความชื่นชมยินดีต่ออารมณ์ และเกิดความแหนงหน่ายหันเหไปสู่อารมณ์อื่นอยู่เสมอ ทำให้สมาธิจิตไม่แนบสนิทอยู่ในอารมณ์เดียว ด้วยเหตุนี้ พระโยคีบุคคลผู้เจริญสมถกรรมฐาน ต้องปลูกโสมนัสสเวทนา คือ ความยินดีพอใจและความสุขใจ ให้เกิดความแช่มชื่นเบิกบานอยู่ในอารมณ์กรรมฐานอย่างใดอย่างหนึ่ง และให้มีความพึงพอใจอยู่เฉพาะในอารมณ์นั้นอย่างเดียว ไม่แหนงหน่ายไปสู่อารมณ์อื่น เมื่อโสมนัสสเวทนามีกำลังแก่กล้าแล้ว ย่อมสามารถข่มอุทธัจจกุกกุจจนิวรณ์ให้สงบราบคาบเป็นวิกขัมภนปหานได้ในที่สุด
๕. วิจิกิจฉานิวรณ์ ความลังเลสงสัยในคุณพระพุทธเจ้า เป็นต้น หมายความว่า วิจิกิจฉาเป็นสภาวธรรมที่มีความรวนเรลังเลสงสัยในสิ่งที่ไม่ควรลังเลสงสัย ซึ่งมีความไม่เข้าใจกระจ่างแจ้งในสภาพของอารมณ์ เป็นต้นเหตุให้เกิดขึ้น วิจิกิจฉานิวรณ์เป็นปฏิปักษ์ต่อวิจาร เพราะวิจารนั้นมีลักษณะรักใคร่คลอเคลียหรือเคล้าคลึงอยู่ในอารมณ์โดยไม่ทิ้งห่าง เปรียบเหมือนแมลงผึ้งที่รักใคร่ในเกสรดอกไม้ ย่อมจะคลอเคลียและเคล้าคลึงอยู่ในเกสรดอกไม้โดยไม่ยอมทิ้งห่างไป ฉันนั้น ส่วนวิจิกิจฉา มีลักษณะรวนเรเคลือบแคลงไม่ปักใจต่ออารมณ์ จึงไม่สามารถเกาะติดอยู่กับอารมณ์ไว้ได้นาน เพราะฉะนั้น เมื่อสภาพของวิจิกิจฉามีกำลังมากกว่า ย่อมทำให้จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตน เกิดความรวนเรเคลือบแคลงต่ออารมณ์ที่เพ่งบริกรรมอยู่ ไม่สามารถเคล้าคลึงอยู่ในอารมณ์อย่างเดียวได้ ย่อมรวนเรหันเหไปหาอารมณ์อื่นอยู่เสมอ ทำให้จิตหลุดจากอารมณ์กรรมฐานได้ง่าย ด้วยเหตุนี้ พระโยคีบุคคลผู้เจริญสมถกรรมฐาน จึงต้องปลูกวิจารให้เกิดขึ้น ด้วยการใส่ใจต่ออารมณ์และเอาใจไปเคล้าคลึงอยู่ในอารมณ์บ่อย ๆ จนจิตไม่รวนเรหันเหไปสู่อารมณ์อื่น เมื่อวิจารมีกำลังแก่กล้าแล้ว ย่อมสามารถข่มวิจิกิจฉานิวรณ์ให้สงบราบคาบเป็นวิกขัมภนปหานได้ในที่สุด
จากเนื้อความที่ได้อธิบายมานี้ จึงเห็นได้ว่า นิวรณ์ ๕ นั้นย่อมเป็นปฏิปักษ์ต่อปฐมฌานโดยตรง และเป็นปฏิปักษ์ต่อฌานจิตทั้งหมดโดยอ้อม เพราะเมื่อนิวรณ์กำเริบขึ้นแล้ว ย่อมทำให้ฌานจิตที่ได้แล้วเสื่อมสูญไปได้ ด้วยเหตุนี้ ฌานลาภีบุคคล [บุคคลที่ได้ฌาน] จึงต้องสำรวมระวังไม่ให้นิวรณ์กำเริบขึ้นมาได้ และพยายามฝึกฝนฌานให้เกิดวสีทั้ง ๕ [มีกำลังแก่กล้าและเชี่ยวชาญชำนาญ] อยู่เสมอ เพื่อจะได้รักษาสภาพของฌานให้คงอยู่ตลอดไป
๖. อวิชชานิวรณ์ ความไม่รู้สภาพธรรมตามความเป็นจริง หมายความว่า ความไม่รู้ไม่เข้าใจในสภาพความเป็นไปตามที่เป็นจริงของสิ่งต่าง ๆ มีอริยสัจ ๔ เป็นต้น ทำให้สัตว์ทั้งหลายหลงใหลมัวเมา และประพฤติเป็นไปด้วยอาการต่าง ๆ เพราะความไม่รู้นั้นเป็นเหตุ อวิชชานิวรณ์นี้เป็นปฏิปักษ์ต่อการเจริญฌานโดยอ้อม เพราะความไม่รู้ไม่เข้าใจในวิธีการทำฌานให้เกิดขึ้น จึงไม่สามารถทำฌานให้เกิดขึ้นได้ หรือเมื่อสามารถทำฌานให้เกิดขึ้นได้แล้ว แต่ไม่รู้จักวิธีในการรักษาสภาพของฌานที่ได้แล้วให้ดำรงคงอยู่และตั้งมั่นยิ่งขึ้นไป ทำให้ฌานที่ได้แล้วกลับเสื่อมถอยไปได้ง่าย แต่อวิชชานิวรณ์นี้เป็นปฏิปักษ์ต่อการเจริญวิปัสสนาโดยตรง คือ เพราะความไม่รู้หรือความไม่เข้าใจในสภาพของรูปนามที่เป็นอารมณ์ตามความเป็นจริง จึงทำให้ไม่สามารถกำหนดพิจารณาอารมณ์ให้เห็นโดยความเป็นสภาพรูปนามได้ ย่อมเห็นเป็นสภาพสัตว์บุคคล ตัวตน เราเขาอยู่นั่นเอง จึงทำให้ไม่สามารถดำเนินไปสู่หนทางแห่งวิปัสสนาญาณได้ หรือเมื่อสามารถกำหนดรู้สภาพของอารมณ์โดยความเป็นรูปนามได้แล้ว แต่ไม่รู้วิธีการที่จะก้าวขึ้นไปสู่วิปัสสนาญาณชั้นสูงขึ้นไปตามลำดับ และไม่รู้วิธีการที่จะรักษาสภาพวิปัสสนาญาณที่ได้แล้วนั้นให้คงอยู่และมีกำลังแก่กล้ายิ่งขึ้น วิปัสสนาญาณก็อาจเสื่อมถอยลงไปได้ [ยกเว้นโคตรภูญาณ มรรคญาณ ผลญาณ และปัจจเวกขณญาณ ที่ไม่มีการเสื่อมถอย เพราะได้เข้าถึง โลกุตตรธรรม คือ รับพระนิพพานเป็นอารมณ์แล้ว]
หมายเหตุ.. นิวรณ์ ข้อ ๑ ถึงข้อ ๕ เป็นเครื่องกั้นสมถะโดยตรง แต่เป็นเครื่องกั้นวิปัสสนาโดยอ้อม เนื่องจากในการเจริญสติปัฏฐานนั้น มีการกำหนดนิวรณ์โดยความเป็นไตรลักษณ์ เรียกว่า นิวรณบรรพ แต่ถ้ากำหนดรู้ไม่ทัน นิวรณ์ ๕ นี้ สามารถเข้าครอบงำและขัดขวางไม่ให้วิปัสสนาญาณดำเนินไปได้โดยสะดวก ส่วนข้อ ๖ นั้น เป็นเครื่องกั้นสมถะโดยอ้อม แต่เป็นเครื่องกั้นวิปัสสนาโดยตรง