| |
เหตุให้เกิดความฝัน ๔ ประการ   |  

เหตุแห่งความฝัน เมื่อว่าโดยสรุปแล้ว มี ๔ ประการรุ.๕๖๓ คือ

๑. ปุพพนิมิตตโต ฝันเพราะอำนาจกุศลกรรมและอกุศลกรรม หมายถึง เหตุการณ์อันจะก่อให้เกิดผลเป็นความสุขหรือความทุกข์ในกาลข้างหน้า เรียกว่า บุพนิมิต หรือ กรรมนิมิต ก็ได้ เหตุแห่งความฝันชนิดนี้ ย่อมมีส่วนให้เกิดเป็นความจริงมากกว่าเหตุอย่างอื่น

๒. อนุภูตปุพพโต ฝันเพราะจิตหน่วงเอาอารมณ์ที่ตนเคยประสบมาก่อน หมายถึง จิตของบุคคลนั้นหน่วงนึกถึงอารมณ์ต่าง ๆ ที่ตนเองได้เคยพบเคยเห็นเคยได้ยินหรือเคยได้รับรู้มาก่อนทางทวารทั้ง ๖ เรียกว่า จิตอาวรณ์ เมื่อเวลานอนหลับ ความที่จิตยังค้างคาอยู่กับอารมณ์นั้น จึงทำให้ปรากฏเป็นความฝัน แต่เหตุแห่งความฝันนี้ ย่อมมีส่วนจริงบ้าง ตามสภาพจิตของบุคคลที่มีสมาธิหรือไม่มีสมาธิ ถ้าเป็นคนมีสมาธิจิตดี ความฝันย่อมมีส่วนจริงมากกว่า แต่ถ้าไม่มีสมาธิจิต มีอาการฟุ้งซ่านซัดส่าย ความฝันย่อมมีส่วนจริงน้อย

๓. เทวโตปสังหรโต ฝันเพราะเทวดามาบอกเหตุร้ายและเหตุดี เรียกว่า เทพสังหรณ์ หมายถึง เทวดาที่เป็นอุปปัตติเทพ ซึ่งเป็นผู้มีความรู้ในนิมิตดีหรือนิมิตร้ายที่จะเกิดขึ้นในกาลข้างหน้า ที่เรียกว่า ตาทิพย์ อันเกิดจากกำเนิด เมื่อเทวดานั้นได้รู้ได้เห็นนิมิตนั้นแล้ว ก็มาสังหรณ์คือเนรมิตให้เห็นในความฝัน แต่ก็มิใช่ว่าจะถูกต้องหรือเป็นจริงเสมอไป บางครั้งอาจเป็นเทวบุตรมาร คือ เทวดาผู้นับเนื่องในหมู่มาร ต้องการหลอกให้บุคคลหลงเชื่อ เพื่อวัตถุประสงค์บางอย่าง เช่น ต้องการเครื่องเซ่นสังเวย หรือต้องการหลอกลวงเล่นเป็นเรื่องสนุกสนาน เป็นต้น

๔. ธาตุโขภโต ฝันเพราะธาตุในร่างกายกำเริบ เรียกว่า ธาตุกำเริบ หมายถึง ความฝันเพราะวาโยธาตุกำเริบ คือ ธาตุลมในร่างกายไม่ปกติ มีสภาพแปรปรวนหรือลมเดินไม่ปกติ เกิดปฏิกิริยาธาตุปั่นป่วน ทำให้หลับไม่สนิท เกิดความฝันขึ้น หรือฝันเพราะน้ำดีกำเริบ กล่าวคือ น้ำดีในร่างกายมีอาการผิดปกติ เนื่องจากความอาพาธป่วยไข้หรือเกิดอุบัติภัยจากเหตุปัจจัยต่าง ๆ ส่งผลให้เส้นประสาทในร่างกายมีความผิดปกติ จิตไม่สามารถอาศัยทำงานได้เต็มที่ ทำให้เกิดความแปรปรวนทางจิตตามไปด้วย เมื่อเกิดมาก ๆ เข้า ย่อมทำให้ละเมอเพ้อฝันไปต่าง ๆ และถ้ากำเริบมากถึงขีดสุด อาจทำให้เป็นบ้าเสียสติได้ ที่เรียกว่า คนดีแตก หรืออีกนัยหนึ่ง เกิดเพราะเสมหะกำเริบ คือ มีเสมหะออกมามาก ทำให้พัวพันลำคอและหลอดเสียง และพัวพันอวัยวะต่าง ๆ ทำให้เกิดอาการไอและเจ็บคอ เมื่อไอและเจ็บคอมาก ๆ ย่อมทำให้นอนไม่หลับ หรือหลับไม่สนิท ทำให้เกิดอาการฝันไปต่าง ๆ ได้

เพราะฉะนั้น เมื่อสรุปความแล้ว เหตุแห่งความฝันย่อมมี ๔ ประการ ตามที่กล่าวแล้ว ซึ่งเรียกสั้น ๆ ว่า บุพนิมิต จิตอาวรณ์ เทพสังหรณ์ ธาตุกำเริบ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |