| |
สรุปความเรื่องเจตนาเจตสิก   |  

เจตนาเจตสิก อยู่ในกลุ่ม อัญญสมานราสี คือ หมวดแห่งอัญญสมานเจตสิก ๑๓ ดวง เป็น สัพพจิตตสาธารณเจตสิก คือ เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้ทุกดวง

เจตนาเจตสิก เป็น นิยตโยคีเจตสิก คือ เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้โดยแน่นอน หมายความว่า เมื่อระบุว่า ประกอบกับจิตดวงใดได้แล้ว เมื่อจิตดวงนั้นเกิดขึ้น ย่อมมีเจตนาเจตสิกประกอบร่วมด้วยเสมอ

เจตนาเจตสิก เป็นสภาวธรรมที่กระตุ้นเตือนสัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกอื่น ๆ ที่เกิดพร้อมกับตนให้มุ่งมั่นทำหน้าที่ของตน ๆ โดยไม่ท้อถอย โดยการทำหน้าที่ ๒ ประการ คือ

๑. สังวิธานกิจ คือ การกระตุ้นเตือนสัมปยุตตธรรมให้กระทำกิจของตน ๆ ให้สำเร็จลง เป็นกุศลกรรม อกุศลกรรม วิบาก และกิริยา โดยไม่ให้ย่อท้อถดถอย ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่ประกอบในอกุศลจิต ๑๒ กุศลจิต ๒๑ กิริยาจิต ๒๐ และในผลจิต ๔ หรือ ๒๐

๒. พีชนิทานกิจ คือ การกระตุ้นเตือนสัมปยุตตธรรมให้ถือเอาเชื้อของกรรมที่ทำเสร็จแล้ว เพื่อรอส่งผลให้ปรากฏขึ้นต่อไป เรียกว่า การเก็บเชื้อของกรรม ได้แก่ เจตนาเจตสิกที่ประกอบในโลกียวิบากจิต ๓๒

ด้วยเหตุนี้ ถ้าไม่มีเจตนาเจตสิกแล้ว การเกิดขึ้นแห่งกรรมก็ดี การส่งผลเป็นวิบากก็ดี ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้ และการกระทำทุกอย่าง ย่อมไม่สำเร็จเป็นกรรมบถ เมื่อเป็นเช่นนี้ สัตว์ทั้งหลายย่อมไม่ต้องเกิดมาชดใช้กรรม หรือไม่มีความแตกต่างกันในเรื่องกรรม

อนึ่ง เมื่อการกระทำไม่สำเร็จเป็นกรรมแล้ว ย่อมไม่มีวิบากจิตที่จะส่งผลให้ได้รับรู้ต่อไป การเวียนว่ายตายเกิดย่อมมีขึ้นไม่ได้ แต่เพราะมีเจตนาเจตสิก ความเป็นไปในสังสารวัฏและการหลุดพ้นจากสังสารวัฏของสัตว์ทั้งหลายจึงมีได้

เจตนาเจตสิกเกิดร่วมกับเจตสิก ๕๑ ดวง [เว้นตัวเอง] คือ

เมื่อประกอบกับอกุศลจิต ๑๒ ย่อมเกิดพร้อมกับอัญญสมานเจตสิก ๑๒ [เว้นเจตนา] และอกุศลเจตสิก ๑๔ ตามที่จิตแต่ละดวงนั้นจะมีเจตสิกอะไรประกอบร่วมด้วยได้ เมื่อประกอบกับอเหตุกจิต ๑๘ ย่อมเกิดพร้อมกับอัญญสมานเจตสิก ๑๑ [เว้นเจตนาและฉันทะ] ตามที่จิตแต่ละดวงนั้นจะมีเจตสิกอะไรประกอบร่วมด้วยได้เมื่อประกอบโสภณจิต ๕๙ หรือ ๙๑ ดวง ย่อมเกิดพร้อมกับอัญญสมานเจตสิก ๑๒ [เว้นเจตนา] และโสภณเจตสิก ๒๕ ตามที่จิตแต่ละดวงนั้นจะมีเจตสิกอะไรประกอบร่วมด้วยได้ เจตนาเจตสิกนี้ย่อมเกิดพร้อมกับเจตสิกเหล่านั้นด้วย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |