| |
ปาคุญญตาเจตสิก   |  

ปาคุญญตาเจตสิก หมายถึง สภาวธรรมที่มีความคล่องแคล่วว่องไวหรือปราดเปรียว โดยไม่มีความอาพาธ คือ ไม่มีความติดขัดหรือความเชื่องช้าอืดอาด ความเหนื่อยหน่าย หรือความหยาบกระด้าง ของสัมปยุตตธรรมคือจิตและเจตสิกทั้งหลาย เพราะฉะนั้น ปาคุญญตาเจตสิกจึงเป็นสภาวธรรมที่ทำให้สัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนหายจากความอาพาธด้วยอำนาจกิเลสทั้งหลาย แล้วเกิดความพร้อมที่จะรองรับสิ่งที่ดีงามได้โดยสะดวก หรือพร้อมที่จะประกอบกิจการงานของตน ๆ ให้สำเร็จเป็นโสภณกิจ คือ การงานที่ดีงาม หรือการงานที่เป็นกุศล มีประโยชน์และให้ผลเป็นความสุขต่อไปได้โดยสะดวก

ปาคุญญตาเจตสิก มี ๒ ดวง คือ

๑. กายปาคุญญตาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ทำให้เจตสิกขันธ์ ๓ [เวทนาขันธ์, สัญญาขันธ์,สังขารขันธ์] มีความคล่องแคล่วในการงานอันเป็นกุศล หมายความว่า กายปาคัญญตาเจตสิกนี้มีสภาพเป็นสังขารขันธ์ คือ สภาวธรรมที่ร่วมปรุงแต่งจิต เมื่อเกิดพร้อมกับสัมปยุตตธรรมเหล่านั้นแล้วย่อมทำให้เจตสิกทั้งหลายที่เกิดพร้อมกับตนนั้นคลายจากความอาพาธต่าง ๆ หรือทำให้ชนะความอาพาธต่าง ๆ แล้วเกิดความคล่องแคล่ว มีความพร้อมที่จะกระทำกิจของตน ๆ ได้โดยไม่มีความย่อหย่อนหรือเกิดความเหลื่อมล้ำกัน

๒. จิตตปาคุญญตาเจตสิก เป็นธรรมชาติที่ทำให้จิต [วิญญาณขันธ์] มีความคล่องแคล่วต่อการงานอันเป็นกุศล หมายความว่า จิตตปาคุญญตาเจตสิกนี้มีสภาพเป็นสังขารขันธ์ที่ร่วมปรุงแต่งจิตให้รับรู้อารมณ์ที่ดีงาม เมื่อประกอบกับจิตแล้วย่อมทำให้จิตคลายจากความอาพาธต่าง ๆ ด้วยอำนาจกิเลสที่มารุมเร้า ทำให้เกิดความคล่องแคล่ว มีความพร้อมที่จะกระทำโสภณกิจ คือ กิจที่ดีงามให้สำเร็จลุล่วงไปแต่ละขณะจิตที่เกิดขึ้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |