| |
โสภณเจตสิก   |  

โสภณเจตสิก เป็นเจตสิกฝ่ายดีงาม เมื่อประกอบกับจิตแล้ว ย่อมทำให้จิตผ่องใส ไม่เศร้าหมองเร่าร้อน ตั้งอยู่ในความดีงาม เว้นจากบาปธรรมและทุจริตกรรมต่าง ๆ เจตสิกประเภทนี้ จึงชื่อว่า โสภณเจตสิก มี ๒๕ ดวง คือ โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ วิรตีเจตสิก ๓ อัปปมัญญาเจตสิก ๒ และปัญญินทรียเจตสิก ๑

โสภณสาธารณเจตสิก หมายถึง เจตสิกที่ประกอบได้ทั่วไปในโสภณจิตทั้งหมด ๕๙ หรือ ๙๑ ดวง มี ๑๙ ดวง คือ

ศรัทธาเจตสิก สติเจตสิก หิริเจตสิก โอตตัปปเจตสิก

อโลภเจตสิก อโทสเจตสิก ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก

กายปัสสัทธิเจตสิก จิตตปัสสัทธิเจตสิก กายลหุตาเจตสิก

จิตตลหุตาเจตสิก กายมุทุตาเจตสิก จิตตมุทุตาเจตสิก

กายกัมมัญญตาเจตสิก จิตตกัมมัญญตาเจตสิก กายปาคุญญตาเจตสิก

จิตตปาคุญญตาเจตสิก กายุชุกตาเจตสิก จิตตุชุกตาเจตสิก

วิรตีเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่เป็นเครื่องงดเว้นจากบาปธรรม มีปาณาติบาต เป็นต้น ภาวะแห่งการงดเว้นจากบาปธรรมหรือทุจริตธรรมนี้ ชื่อว่า วิรัติ และเรียกสภาวธรรมที่เป็นเครื่องงดเว้นจากบาปธรรมว่า วิรตีเจตสิก มี ๓ ดวง คือ สัมมาวาจาเจตสิก สัมมากัมมันตเจตสิก สัมมาอาชีวเจตสิก

อัปปมัญญาเจตสิก หมายถึง เจตสิกที่เป็นเครื่องแผ่ไปในสัตว์และบุคคลทั้งหลายโดยไม่มีประมาณ ซึ่งเป็นสภาวธรรมที่มีสัตว์และบุคคลเป็นอารมณ์ จึงชื่อว่า มีสัตวบัญญัติเป็นอารมณ์ อัปปมัญญาธรรมนี้ เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า พรหมวิหารธรรม หมายถึง ธรรมเป็นเครื่องอยู่ของพวกพรหม หรือธรรมประจำใจของผู้ใหญ่ พรหมวิหารธรรมหรืออัปปมัญญาธรรมนั้น ท่านแสดงไว้ ๔ ประการ คือ เมตตา กรุณา มุทิตา อุเบกขา แต่ในอัปปมัญญาเจตสิกนี้ท่านแสดงไว้เพียง ๒ ประการ คือ กรุณาและมุทิตา ซึ่งสภาวธรรมทั้ง ๒ ประการนี้ มีอารมณ์ที่แตกต่างจากโสภณธรรมอื่นโดยเด่นชัด คือ กรุณา มีทุกขิตสัตว์ ได้แก่ สัตว์หรือบุคคลที่กำลังได้รับความทุกข์ยากลำบากหรือจะได้รับความทุกข์ยากลำบากในโอกาศข้างหน้า เพราะได้พิจารณาเห็นเหตุแล้ว มุทิตา มีสุขิตสัตว์ ได้แก่ สัตว์หรือบุคคลที่กำลังได้รับความสุขอยู่หรือจะได้รับความสุขในโอกาสข้างหน้า เพราะได้พิจารณาเห็นเหตุแล้ว ส่วนอัปปมัญญาธรรมหรือพรหมวิหารธรรมอีก ๒ ประการ คือ เมตตากับอุเบกขานั้น มีอารมณ์ที่ไม่แตกต่างจากโสภณธรรมอื่นอย่างเด่นชัดนัก คือ สามารถเป็นไปตามสภาพของโสภณธรรมได้โดยไม่ขัดแย้งกัน ได้แก่ เมตตา องค์ธรรมได้แก่ อโทสเจตสิก ส่วน อุเบกขา องค์ธรรมได้แก่ ตัตตรมัชฌัตตตาเจตสิก

ปัญญินทรียเจตสิก หมายถึง ธรรมชาติที่เป็นใหญ่ เป็นผู้ปกครอง ในการรู้เหตุผลของสภาวธรรมตามความเป็นจริง ได้แก่ ธรรมชาติที่รู้เหตุผลของกรรม ตลอดจนรู้เรื่องอริยสัจโดยนัยเป็นต้นว่า นี้คือทุกข์ นี้คือเหตุให้ทุกข์เกิด นี้คือความดับทุกข์ นี้คือข้อปฏิบัติให้ถึงความดับทุกข์ หรือที่ชื่อว่า ปัญญา เพราะรู้ไตรลักษณ์ มีอนิจจัง เป็นต้น ตามความเป็นจริง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |