| |
บทบาทของปัญญินทรียเจตสิก   |  

๑. อโมหเหตุ ปัญญินทรียเจตสิก ชื่อว่า อโมหเหตุ หมายถึง ธรรมที่ทำให้ผลธรรมเกิดขึ้นและเจริญขึ้น รวมทั้งทำให้ผลธรรมตั้งมั่นในอารมณ์ที่ถูกต้อง ซึ่งเป็นเหตุให้กุศลธรรมทั้งหลายเกิดขึ้น และทำให้ผลธรรมตั้งมั่นและเจริญขึ้นได้

๒. สัมมาทิฏฐิ ปัญญินทรียเจตสิก ชื่อว่า สัมมาทิฏฐิ หมายถึง ความเห็นชอบตามทำนองคลองธรรม จนถึงสัมมาทิฏฐิมรรคที่เป็นประธานในการประหาณอนุสัยกิเลสให้เด็ดขาดจากขันธสันดาน เป็นหนทางไปสู่สุคติและพระนิพพาน

๓. ปัญญินทรีย์ ปัญญินทรียเจตสิก ชื่อว่า ปัญญินทรีย์ หมายถึง คุณธรรมที่เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในหน้าที่ของตน โดยไม่ก้าวก่ายหน้าที่ของธรรมอื่น

๔. อนัญญตัญญัสสามิตินทรีย์ ปัญญินทรียเจตสิก ชื่อว่า อนัญญตัญญัสสามิตินทรีย์ หมายถึง ปัญญาในโสดาปัตติมรรคจิต ซึ่งเป็นสภาวธรรมที่รู้พระนิพพานเป็นครั้งแรก โดยที่ยังไม่เคยรู้มาก่อน

๕. อัญญินทรีย์ ปัญญินทรียเจตสิก ชื่อว่า อัญญินทรีย์ หมายถึง ปัญญาในมรรคเบื้องบน ๓ และผลเบื้องต่ำ ๓ ซึ่งเป็นสภาวธรรมที่รู้พระนิพพานที่เคยรู้มาแล้ว [จากโสดาปัตติมรรคจิต]

๖. อัญญาตาวินทรีย์ ปัญญินทรียเจตสิก ชื่อว่า อัญญาตาวินทรีย์ หมายถึง ปัญญาในอรหัตตผลจิต ซึ่งเป็นสภาวธรรมที่รู้พระนิพพานตามที่รู้มาก่อนแล้วนั่นแหละ

๗. ปัญญาพละ ปัญญินทรียเจตสิก ชื่อว่า ปัญญาพละ หมายถึง คุณธรรมอันเป็นกำลังไม่หวั่นไหวต่อธรรมที่เป็นปฏิปักษ์ของตน ได้แก่ อวิชชา คือ ความไม่รู้

๘. วิมังสาธิบดี ปัญญินทรียเจตสิก ชื่อว่า วิมังสาธิบดี หมายถึง คุณธรรมที่เป็นใหญ่เป็นผู้ปกครองในสัมปยุตตธรรมที่เกิดพร้อมกับตนให้เป็นไปตามอำนาจของตน

๙. วิมังสิทธิบาท ปัญญินทรียเจตสิก ชื่อว่า วิมังสิทธิบาท หมายถึง คุณธรรมที่เป็นเหตุให้สำเร็จความประสงค์ด้วยปัญญา

๑๐. ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ ปัญญินทรียเจตสิก ชื่อว่า ธัมมวิจยสัมโพชฌงค์ หมายถึง คุณธรรมที่เป็นประธานในบรรดาองค์แห่งธรรมเป็นเครื่องตรัสรู้อริยสัจ ๔


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |