| |
โคจรรูป ๔ หรือ วิสยรูป ๗   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๑๙๕ ท่านได้แสดงความหมายของโคจรรูปหรือวิสยรูปไว้ดังต่อไปนี้

โคจรรูปมีรูป [วัณณรูป] และรสเป็นต้น แม้มีที่อาศัยร่วมกัน ก็ไม่ปะปนกันนั่นเทียว เพราะความต่างกันแห่งลักษณะ ส่วนพวกปสาทรูปมีที่อาศัยต่างกัน จะปะปนกันอย่างไรได้ เพราะอาโปธาตุอันชาวโลกไม่สามารถสัมผัสได้ โดยเป็นธาตุละเอียด ท่านอาจารย์จึงได้กล่าวไว้ว่า รูป เสียง กลิ่น รส และโผฏฐัพพะ กล่าวคือ ภูตรูปทั้ง ๓ [เว้นอาโปธาตุ] ชื่อว่า โคจรรูป ความเป็นของเย็น แม้ชาวโลกจะถูกต้องจับได้ก็จริง ถึงอย่างนั้น ความเย็นนั้น ก็คือ เตโชธาตุนั่นเอง ก็เมื่อความร้อนมีน้อย จึงรู้สึกว่าเย็น เพราะคุณค่าอะไร กล่าวคือ เย็นไม่มี ชาวโลกจะรู้ความร้อนนี้ได้ ก็เพราะความรู้สึกว่าเย็นเป็นของไม่แน่นอน ประดุจความไม่แน่นอนในฝั่งน้ำ ฝั่งโน้นหรือฝั่งนี้ ฉันนั้น ฯ จริงอย่างนั้น ในฤดูร้อน คนยืนอยู่ที่แดดแล้วเข้าไปสู่ร่มเงา จะรู้สึกว่า เย็น เมื่ออยู่ในร่มเงานั้นนั่นแลนาน ๆ เข้า จะรู้สึกว่าร้อน ก็ถ้าอาโปธาตุพึงเป็นธาตุเย็นไซร้ ก็พึงหาอาโปธาตุได้ในหมวดเดียวกันกับความร้อน แต่หาไม่ได้อย่างนี้ เพราะฉะนั้น จึงไม่มีใครรู้สึกอาโปธาตุว่าเป็นของเย็น แต่อาจารย์เหล่าใดกล่าวว่า ความเป็นของเหลว ชื่อว่า อาโปธาตุ และความเป็นของเหลวนั้น อันบุคคลถูกต้องจับได้ อาจารย์เหล่านั้นก็จะพึงถูกคัดค้านว่า คำที่ว่า ชื่อว่า ความเป็นของเหลวอันบุคคลถูกต้องจับได้นี้ เป็นเพียงความเข้าใจของท่าน ดุจความเข้าใจในสัณฐาน ฉันนั้น สมจริงตามที่ท่านโบราณาจารย์ทั้งหลายกล่าวไว้ว่า

สัตวโลกนี้ถูกต้องภูตรูปทั้ง ๓ ที่เป็นไปกับด้วยความเป็นของเหลว ย่อมเข้าใจว่า เราถูกต้องของเหลว บัณฑิตพึงทราบความเป็นของเหลว เหมือนคนถูกต้องภูตรูปทั้งหลาย ย่อมจับสัณฐานได้ด้วยเข้าใจว่า เราถูกต้องสัณฐาน โดยประจักษ์ ฉันนั้น ฯ

รูปเป็นต้นที่ชื่อว่า โคจรรูป เพราะเป็นอารมณ์ของปัญจวิญญาณ ที่ชื่อว่า โคจร เพราะอรรถว่า เป็นที่เที่ยวไปแห่งโคคืออินทรีย์ จริงอยู่ คำว่า โคจร นี้ เป็นชื่อแห่งอารมณ์ แต่รูปนั้นแม้มีถึง ๕ อย่างมีความเป็นอารมณ์แห่งวิญญาณมีจักขุวิญญาณเป็นต้นเป็นลักษณะ หรือมีความกระทบที่จักขุประสาทเป็นต้นเป็นลักษณะตามลำดับ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |