| |
มังสหทยรูปเกิดจากสมุฏฐาน ๔   |  

มังสหทยรูปที่เป็นก้อนเนื้อหัวใจ ซึ่งมีลักษณะคล้ายดอกบัวตูมคว่ำนั้น เป็นรูปที่เกิดจากสมุฏฐาน ๔ คือ กรรม จิต อุตุ และอาหาร เพราะจัดอยู่ในจำพวกอวินิพโภครูป ๘ ซึ่งมีสภาพเป็นอุตุชรูป แต่เป็นอุตุชรูปที่มีสมุฏฐานทั้ง ๔ เป็นปัจจัยสนับสนุน กล่าวคือ

๑. กัมมปัจจยอุตุชมังสหทยรูป หมายถึง ก้อนเนื้อหัวใจที่เกิดจากอุตุโดยมีกรรมเป็นปัจจัยสนับสนุน หมายความว่า ถ้าเป็นรูปที่มีกุศลกรรมที่มีกำลังแก่กล้าเต็มที่เป็นปัจจัยสนับสนุนแล้ว ย่อมทำให้รูปนั้นมีลักษณะงดงาม มีสมรรถภาพสูง กล่าวคือ เข้มแข็ง มีภูมิต้านทานโรคภัยไข้เจ็บได้ดี สามารถรองรับการเต้นของหัวใจได้ดี ระบบการสูบฉีดเลือดหล่อเลี้ยงดี และมีประสิทธิภาพสูง กล่าวคือ สามารถดำรงอยู่ได้เป็นเวลายาวนานและใช้งานได้ดีตลอดจนสิ้นชีวิต ส่วนที่เกิดจากกุศลกรรมที่มีกำลังอ่อน ย่อมมีสมรรถภาพและประสิทธิภาพอ่อนตามเหตุปัจจัยไปด้วย แต่ถ้ามีอกุศลกรรมเป็นปัจจัยสนับสนุน ย่อมเป็นไปตามอำนาจอกุศลกรรม กล่าวคือ มีสภาพตรงกันข้ามกับที่เกิดจากกุศลกรรมดังกล่าวไปแล้ว ขึ้นกับสภาพของกรรมเก่าที่ทำให้ก้อนเนื้อหัวใจของสัตว์นั้น ๆ แต่อบายสัตว์หลายประเภทก็มีก้อนเนื้อหัวใจที่มีทั้งสมรรถภาพและประสิทธิภาพในการใช้งานสูง กล่าวคือ เข้มแข็ง มีภูมิต้านทานโรคภัยไข้เจ็บได้ดี เป็นต้น ทั้งนี้ก็เพราะก้อนเนื้อหัวใจของสัตว์ตนนั้น มีกุศลกรรมเก่าช่วยอุปถัมภ์สนับสนุนให้เป็นไปนั่นเอง

๒. จิตตปัจจยอุตุชมังสหทยรูป หมายถึง ก้อนเนื้อหัวใจที่เกิดจากอุตุโดยมีจิตเป็นปัจจัยสนับสนุน หมายความว่า ถ้าบุคคลใดรู้จักบริหารจิตให้เป็นไปในทางที่ดีอยู่เสมอ เช่น การฝึกสติสมาธิอยู่เสมอ คิดแต่ในทางที่ดี ทำจิตให้เป็นกุศลอยู่เสมอ ทำใจให้เข้มแข็งอยู่เสมอ เหล่านี้เป็นต้น สภาพก้อนเนื้อหัวใจของบุคคลนั้นย่อมได้รับการหล่อเลี้ยงจากอุณหภูมิที่เกิดจากพลังจิตที่ดีนั้นอย่างสมดุล ทำให้สมรรถภาพของหัวใจได้รับการบำรุงให้เป็นไปโดยปกติ และมีประสิทธิภาพในการใช้งานได้ดียิ่งขึ้น ส่วนบุคคลใดมีพฤติกรรมทางจิตที่เป็นไปตรงกันข้ามจากที่กล่าวแล้ว กล่าวคือ มีจิตที่ไม่ดีหรือจิตเสื่อมทราม มีจิตใจอ่อนแอ คิดแต่ในทางที่เป็นอกุศล วิตกกังวลจนเกินเหตุ หรือมักอิจฉาริษยา เป็นต้น ก้อนเนื้อหัวใจของบุคคลนั้นย่อมถูกใช้งานหนักตลอดเวลา ทำให้ทรุดโทรม ทะลุรั่ว และแตกสลายได้

๓. อุตุปัจจยอุตุชมังสหทยรูป หมายถึง ก้อนเนื้อหัวใจที่เกิดจากอุตุโดยมีอุณหภูมิและสภาพแวดล้อมเป็นปัจจัยสนับสนุน หมายความว่า อุณหภูมิภายในร่างกายและสภาพแวดล้อมภายนอกร่างกาย ย่อมมีส่วนส่งเสริมหรือบั่นทอนทำลายก้อนเนื้อหัวใจของบุคคลได้ ถ้าบุคคลนั้นรู้จักควบคุมอุณหภูมิภายในร่างกายและอยู่ในสภาพแวดล้อมที่สมดุล ไม่บริโภคสิ่งที่มีไอควันเป็นพิษและไม่อยู่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ บริโภคแต่สิ่งที่มีอุณหภูมิที่เป็นประโยชน์ต่อหัวใจ และอยู่แต่ในสภาพแวดล้อมที่ดีมีประโยชน์ในการช่วยให้หัวใจสูดฉีดโลหิตได้ปกติ ก้อนเนื้อหัวใจของบุคคลนั้นย่อมมีสภาพแข็งแรงและมีภูมิต้านทานโรคได้ดี แต่ถ้าบุคคลใดประพฤติเป็นไปตรงกันข้าม เช่น บริโภคแต่สิ่งที่มีไอควันเป็นพิษและอยู่แต่ในสภาพแวดล้อมที่เป็นพิษ เป็นต้น ก้อนเนื้อหัวใจของบุคคลนั้นย่อมอ่อนแอ ชำรุดทรุดโทรม ทะลุรั่ว หรือแตกทำลายได้

๔. อาหารปัจจยอุตุชมังสหทยรูป หมายถึง ก้อนเนื้อหัวใจที่เกิดจากอุณหภูมิโดยมีอาหารเป็นปัจจัยสนับสนุน หมายความว่า โอชา คือ สารอาหารที่บุคคลบริโภคเข้าไป ย่อมมีส่วนช่วยบำรุงรักษาหรือบั่นทอนทำลายก้อนเนื้อหัวใจด้วย ถ้าบุคคลใดรู้จักบริโภคอาหารหรือยาที่ช่วยบำรุงรักษาหัวใจอย่างสมดุล ก้อนเนื้อหัวใจของบุคคลนั้นย่อมมีสภาพแข็งแรงและมีสมรรถภาพในการใช้งานได้เป็นอย่างดี แต่ถ้าบุคคลใดบริโภคแต่อาหารและยาที่มีโทษต่อหัวใจ ก้อนเนื้อหัวใจของบุคคลนั้น ย่อมทรุดโทรมและทะลุรั่ว พองอืด ห่อเหี่ยว หรือแตกทำลายได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |