| |
โทษของการนั่ง [เมื่อเข้าหาผู้ใหญ่] ๖ ประการ   |  

การนั่งถือเป็นจิตตชรูปที่เกี่ยวอิริยาบถใหญ่ทั้ง ๔ ซึ่งเป็นปฏิกิริยาที่เกิดจากจิตเป็นผู้กระตุ้น อาจมีแยกย่อยออกไปเป็นอิริยาบถย่อยด้วย ตามสมควร เช่น นั่งชันเข่า นั่งยอง ๆ นั่งพับเพียบ นั่งขัดสมาธิ์ เป็นต้น ในการนั่งนี้ ถ้านั่งไม่ถูกที่ หรือนั่งไม่เรียบร้อย โดยเฉพาะในเวลาเข้าหาผู้ใหญ่ ย่อมมีโทษ ๖ ประการรุ.๕๖๑ คือ

๑. อติทูรัง นั่งไกลเกินไป เวลาพูดกัน ต้องใช้เสียงดัง ต้องตะโกน จนดูเหมือนกับตะคอก ทำให้ไม่น่าดู

๒. อัจจาสันนัง นั่งใกล้เกินไป ทำให้เกิดอาการอึดอัดหรือดูเป็นการตีเสมอท่าน

๓. อุปริวาตัง นั่งเหนือลม ทำให้กลิ่นตัวของตนไปรบกวนผู้ที่ตนเข้าไปนั่งใกล้

๔. อุนนตัปปเทสัง นั่งในที่สูงกว่า แสดงถึงอาการไม่เคารพ

๕. อติสัมมุขา นั่งตรงหน้าเกินไป เวลามองดูทำให้สายตาประทะกัน

๖. อติปัจฉา นั่งด้านหลัง เวลาพูดคุย ทำให้ต้องเอี้ยวคอหันหลังไปดู

บุคคลผู้มีการศึกษาและสำเหนียกดีแล้ว พึงนั่งให้ถูกที่และถูกระเบียบจารีตประเพณีตามสมควร โดยเว้นโทษของการนั่ง ๖ ประการดังกล่าวมานี้แล้ว ย่อมจะได้รับประโยชน์จากการนั่งนั้น เช่น การยกย่องชมเชยว่า เป็นคนมีการศึกษา มีชาติตระกูลสูง เป็นศิษย์มีครูอาจารย์ และเป็นที่โปรดปรานของท่านผู้ใหญ่ ผู้ยึดถือในระเบียบมารยาท เป็นหลักสำคัญ ทำให้บุคคลนั้นเจริญด้วยยศศักดิ์และทรัพย์สมบัติ เป็นต้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |