| |
ความหมายของวัณณรูป   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๑๙๙ ได้แสดงความหมายของวัณณรูปไว้ดังต่อไปนี้

คำว่า รูปะ [หมายถึงวัณณรูปคือสี] คือ รูปแสดง หมายความว่า เป็นรูปที่ถึงความเป็นสีสันต่างกัน แล้วแสดงสภาพที่เกิดขึ้นในใจ [คือเมื่อเห็นใบหน้าแล้วก็รู้ว่าพอใจ ดีใจ โกรธ หรือเสียใจ เป็นต้นได้]

อีกนัยหนึ่ง รูปะ คือ รูปที่แสดงสัณฐานที่เสมอกันและที่ไม่เสมอกันอย่างใดอย่างหนึ่งโดยปกติ

เพราะฉะนั้น เมื่อสรุปความแล้ววัณณรูปคือสีนั้นมีความหมาย ๒ ประการคือ

๑. รูปที่แสดงสภาพที่เกิดขึ้นในใจ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “รูปยติ หทยงฺคตภาวํ ปกาเสตีติ รูปํ” แปลความว่า รูปใดย่อมแสดงสภาพที่เกิดขึ้นในใจให้ปรากฏ เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า รูป ได้แก่ รูปารมณ์

๒. รูปที่แสดงสัณฐานหรือสถานที่ที่เสมอกันและที่ไม่เสมอกันอย่างใดอย่างหนึ่งโดยปกติ ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “รูปยติ ยํ กิญฺจิ ทพฺพํ สมวิสมํ วา ปกาเสตีติ รูปํ” แปลความว่า รูปใดย่อมประกาศสัดส่วนสัณฐานอย่างใดอย่างหนึ่งหรือสถานที่ที่เสมอกันและไม่เสมอกันให้ปรากฏ เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อ รูป ได้แก่ รูปารมณ์

รูปวิเคราะห์ทั้ง ๒ นัยนี้ มีรากศัพท์เหมือนกัน ต่างกันตรงที่บทกรรมของ รูป ธาตุ เพราะเหตุนั้น ท่านจึงแสดงไว้เป็น ๒ นัยดังกล่าวแล้ว

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๒๐๐ ได้แสดงความหมายของวัณณรูปหรือรูปารมณ์ [สี] ไว้ดังต่อไปนี้

รูปารมณ์ ได้แก่ รูปร่างสัณฐานหรือสีต่าง ๆ ที่แสดงให้ปรากฏแก่จิตและเจตสิกทางตา ย่อมแสดงถึงความรู้สึกทางใจให้รู้วัตถุสิ่งของนั้น ๆ ว่ามีรูปร่างสัณฐานอย่างไร

บทสรุปของผู้เขียน :

จากความหมายของวัณณรูปที่ท่านได้แสดงไปแล้วเหล่านั้น สามารถสรุปสาระสำคัญได้ดังต่อไปนี้

วัณณรูป หมายถึง รูปารมณ์ ได้แก่ รูปร่างสัณฐาน หรือสีสันวรรณะต่าง ๆ ที่สามารถปรากฏแก่จิตและเจตสิกทางจักขุทวารคือทางตาได้ เป็นรูปที่มีคุณสมบัติในการแสดงถึงความรู้สึกทางด้านจิตใจให้ปรากฏได้ว่าบุคคลนั้นมีความรู้สึกนึกคิดอย่างไร หรือเป็นรูปที่แสดงให้รู้ถึงวัตถุสิ่งของนั้น ๆ ได้ว่า มีรูปร่างสัณฐานเป็นอย่างไร และแสดงรูปร่างสัณฐานของสิ่งต่าง ๆ ให้ปรากฏเห็นได้ว่า สถานที่นั้นมีความเสมอกันและมีความไม่เสมอกัน เป็นต้น เพราะฉะนั้น เมื่อสรุปความแล้ว วัณณรูปหรือรูปารมณ์นี้ ย่อมมีความหมายแบ่งเป็น ๒ ประการ กล่าวคือ

๑. รูปที่แสดงสภาพที่เกิดขึ้นในใจ หมายความว่า เป็นรูปธรรมที่แสดงสภาพที่เกิดขึ้นในใจให้ปรากฏได้ กล่าวคือ ย่อมปรากฏให้บุคคลอื่นรู้ได้ว่า บุคคลนั้น ๆ มีความรู้สึกนึกคิดเป็นอย่างไร เช่น ดีใจ เสียใจ ตื่นเต้น ตกใจ มีความสุข มีความทุกข์ เป็นต้น

๒. รูปที่แสดงสัณฐานหรือสถานที่ที่เสมอกันและที่ไม่เสมอกันอย่างใดอย่างหนึ่งโดยปกติ หมายความว่า วัณณรูปหรือรูปารมณ์คือสีต่าง ๆ นี้ ย่อมประกาศสัดส่วนสัณฐานของสิ่งใดสิ่งหนึ่งให้ปรากฏโดยอาศัยตนเอง [คือสี] อนึ่ง วัณณรูปหรือรูปารมณ์คือสีต่าง ๆ นั้น ย่อมปรากฏให้รู้ได้ว่า สถานที่ตรงนั้นเสมอกันหรือสถานที่ตรงนี้ไม่เสมอกัน คล้าย ๆ จะประกาศให้บุคคลทั้งหลายได้รู้โดยทั่วกัน

ตามความหมายของวัณณรูปหรือรูปารมณ์ที่กล่าวมานี้ เป็นการกล่าวโดยอ้อม เพราะความจริงแล้ว วัณณรูปหรือรูปารมณ์นี้ เป็นรูปธรรม ซึ่งมีสภาพเป็นอจิตตกะ คือ สภาวธรรมที่ไม่มีเจตนาขวนขวายให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นแต่อย่างใด คงเป็นไปโดยธรรมชาติตามเหตุปัจจย ซึ่งเป็นไปตามปกติธรรมดา ธรรมดาของวัณณรูป อันเป็นคุณสมบัติประจำตัวของวัณณรูปเท่านั้น โดยปราศจากความเป็นอัตตาตัวตนของบุคคลที่จะมาบงการบังคับบัญชาให้เป็นไป มีสภาพเป็นอนัตตาล้วน ๆ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |