ไปยังหน้า : |
วันทนา หมายถึง การกราบ การไหว้ การนอบน้อม มี ๔ ประเภท คือ
๑. ลาภวันทนา นอบน้อมเพราะเห็นแก่ลาภสักการะ หมายถึง การยอมอ่อนน้อมถ่อมตนต่อบุคคลอื่น เพราะต้องการที่จะให้เขาเอ็นดู หยิบยื่นให้วัตถุสิ่งของ ยศตำแหน่ง หรือผลประโยชน์อย่างใดอย่างหนึ่งที่ตนปรารถนาให้
๒. ภยวันทนา นอบน้อมเพราะความกลัว หมายถึง การยอมอ่อนน้อมเพราะเกรงกลัวอำนาจอิทธิพลของบุคคลที่มีฐานะใหญ่โต มีหน้ามีตาในสังคม หรือ เป็นผู้บังคับบัญชาของตน
๓. จารีตวันทนา นอบน้อมตามประเพณี หมายถึง การแสดงความเคารพกันด้วยวิธีการต่าง ๆ ตามวัฒนธรรมประเพณีของสังคม ที่คนในสังคมนั้นใช้ทักทาย ทำความรู้จักคุ้นเคยกัน หรือ แสดงมิตรไมตรีจิตต่อกัน
๔. อภิวันทนา นอบน้อมอย่างยิ่ง หมายถึง การนอบน้อมด้วยความเคารพและสำนึกในพระคุณของบุคคลหรือสิ่งนั้น เช่น คุณพระรัตนตรัย บิดามารดา ครูอุปัชฌาย์อาจารย์ เป็นต้น
การนอบน้อม ที่เรียกว่า ปณาม ของพระอนุรุทธาจารย์นี้ ได้แก่ การนอบน้อมด้วย อภิวันทนา คือ การนอบน้อมด้วยความสำนึกในพระคุณของพระรัตนตรัย พร้อมทั้งขออานุภาพแห่งคุณพระรัตนตรัยให้ช่วยคุ้มครองป้องกันอันตรายต่าง ๆ ไม่ให้มากล้ำกรายเบียดเบียนทำอันตรายได้
ด้วยเหตุนี้ ผู้ศึกษาพึงทำการสำเหนียกใคร่ครวญพิจารณาความหมายแห่งคาถานี้ให้เข้าใจอย่างละเอียดถี่ถ้วนก่อนแล้ว ก็จะเข้าใจเจตนารมณ์ของพระอนุรุทธาจารย์และจะเข้าใจลึกซึ้งในหลักแก่นแท้แห่งพระพุทธศาสนาได้อย่างถูกต้องตามเนื้อหาที่ท่านพระอนุรุทธาจารย์ได้บรรจงประมวลมาเรียงร้อยถ้อยความไว้ในปณามคาถานี้อย่างบริบูรณ์ เมื่อผู้ศึกษาทำการสำเหนียกใคร่ครวญพิจารณาเห็นความละเอียดลึกซึ้งแห่งแก่นแท้ของพระพุทธศาสนาแล้ว สามารถตั้งเป้าหมายและวางใจไว้ในทางที่ถูกที่ควร ที่เรียกว่า อัตตสัมมาปณิธิ แล้วย่อมทำการศึกษาในปรมัตถธรรมได้อย่างถูกต้องและมีความเข้าใจในเนื้อหาแห่งปรมัตถธรรมได้อย่างละเอียดลึกซึ้งขึ้นไปตามลำดับ