| |
สรุปความเรื่องอิสสาเจตสิก   |  

อิสสาเจตสิก อยู่ในกลุ่ม อกุศลราสี คือ หมวดแห่งอกุศลเจตสิก ๑๔ เป็น โทจตุกเจตสิก คือ เจตสิกที่ประกอบได้เฉพาะในโทสมูลจิต ๒ ดวงเท่านั้น

อิสสาเจตสิก เป็น อนิยตโยคีเจตสิก คือ เจตสิกที่ประกอบกับจิตได้โดยไม่แน่นอน หมายความว่า เมื่อระบุว่า ประกอบกับโทสมูลจิต ๒ ดวง แต่เมื่อโทสมูลิต ๒ ดวงใดดวงหนึ่งเกิดขึ้น อาจมีอิสสาเจตสิกประกอบร่วมด้วยก็มี หรือไม่ประกอบร่วมด้วยก็มี ที่เป็นดังนี้ เพราะสภาพของอิสสาเจตสิก ย่อมมีลักษณะอิจฉาริษยาในทรัพย์สมบัติหรือคุณความดีของบุคคลอื่น ไม่ต้องการเห็นบุคคลอื่นได้ดีมีความสุข เป็นต้น ด้วยเหตุนี้ ถ้าในขณะใดโทสมูลจิตเกิดขึ้นโดยปรารภถึงความโกรธ ความอาฆาตพยาบาทจองเวร ความเกลียด ความกลัว หรือความอับอายขายหน้า หรือความไม่ชอบใจในบุคคลหรือสิ่งต่าง ๆ โดยไม่เกี่ยวข้องกับทรัพย์สมบัติหรือคุณความดีของบุคคลอื่น ในขณะนั้น อิสสาเจตสิกย่อมไม่เข้าประกอบกับโทสมูลจิต แต่ถ้าขณะใด โทสมูลจิตเกิดขึ้น โดยปรารภถึงทรัพย์สมบัติหรือคุณความดีของบุคคลอื่น แล้วเกิดความอิจฉาริษยา ในขณะนั้น อิสสาเจตสิกจึงเข้าประกอบร่วมกับโทสมูลจิตดวงนั้น

อิสสาเจตสิกมีอารมณ์ที่แตกต่างจากมัจฉริยเจตสิกและกุกกุจจเจตสิก ซึ่งอยู่ในกลุ่มโทจตุกเจตสิกเหมือนกัน เพราะฉะนั้น เจตสิกทั้ง ๓ ดวงนี้จึงไม่สามารถเกิดร่วมในจิตดวงเดียวกันได้ เนื่องจากอารมณ์ที่ทำการรับรู้นั้นแตกต่างกัน ดังกล่าวแล้ว เจตสิกทั้ง ๓ ดวงนี้จึงมีชื่อเรียกว่า นานากทาจิ แปลว่า เจตสิกที่ประกอบกับจิตเป็นบางครั้งบางคราวและเวลาเข้าประกอบ ย่อมไม่ประกอบพร้อมกัน

อิสสาเจตสิกย่อมเกิดร่วมกับเจตสิกได้ ๑๙ ดวง [เว้นอิสสา] คือ

เมื่อประกอบกับโทสมูลจิต ๒ ดวง ย่อมเกิดพร้อมกับอัญญสมานเจตสิก ๑๒ [เว้นปีติ] โมจตุกเจตสิก ๔ โทสเจตสิก ๑ ถีทุกเจตสิก ๒

อิสสาเจตสิกนี้ บุคคลสามารถละได้โดยเด็ดขาด เป็นสมุจเฉทปหาน ด้วยอำนาจโสดาปัตตมิรรค เพราะฉะนั้น พระอริยบุคคลตั้งแต่โสดาบันขึ้นไป จึงไม่มีความอิจฉาริษยาในบุคคลทั้งหลายอีกต่อไป แม้จะมีโทสมูลจิตเกิดขึ้นได้อยู่บ้าง แต่เป็นโทสมูลจิตที่เป็นไปโดยอาการเสียใจในบางสิ่งบางอย่าง เช่น นางวิสาขาร้องไห้เสียใจเพราะหลานตาย ท่านอนาถปิณฑิกเศรษฐีเสียใจเพราะลูกสาวตาย และละอายเพราะลูกชายกระทำความผิด ชอบคบชู้ผิดเมียชาวบ้าน หรือพระอานนท์ร้องไห้เพราะทราบว่าพระพุทธเจ้าปลงพระชนมายุสังขาร ตัดสินพระทัยจะเสด็จดับขันธปรินิพพานอีก ๓ เดือนข้างหน้า โดยคิดว่าตนเองยังไม่ได้บรรลุคุณวิเศษเบื้องสูง ยังไม่ความเป็นพระอรหันตขีณาสพเลย เมื่อพระพุทธองค์ปรินิพพานแล้วตนเองจะพึงใคร ดังนี้เป็นต้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |