| |
ไตรลักษณ์   |  

ไตรลักษณ์ คือ ลักษณะ ๓ ประการ ที่บรรดารูปธรรมนามธรรมซึ่งเป็นสังขารธรรมทั้งหลาย จะต้องมี ต้องเป็นไปเหมือนกันหมด ไม่มียกเว้น เหตุนี้จึงเรียกว่า สามัญญลักษณะ เพราะเป็นลักษณะที่เป็นธรรมดาตามธรรมชาติแห่งสังขารทั้งหลาย ที่จะต้องมีอันเป็นไปอย่างนี้ คือ

๑. อนิจจลักษณะ มีลักษณะ หรือ มีอาการที่ไม่เที่ยง ไม่มั่นคง ไม่ยั่งยืน ตั้งอยู่ตลอดกาลไม่ได้ โดยมีความเกิดขึ้นแล้วก็เสื่อมไปในที่สุด [อุปปาทวยะ, ปวัตตนะ] โดยความแปรปรวน [วิปริณามะ] โดยเป็นของชั่วคราว [ตาวกาลิกะ] โดยเป็นปฏิปักษ์กับความเที่ยง [นิจจปฏิกเขปะ]

๒. ทุกขลักษณะ มีลักษณะหรือ มีอาการที่ทนอยู่ไม่ได้ จำต้องเสื่อมสลายสิ้นไป โดยมีความบีบคั้นอยู่เสมอ [อภิณหสัมปฏิปาฬนะ] โดยความทนได้ยาก [ทุกขมะ] โดยเป็นที่ตั้งแห่งความทุกข์ [ทุกขวัตถุ] โดยเป็นปฏิปักษ์กับความสุข [สุขปฏิกเขปะ]

๓. อนัตตลักษณะ มีลักษณะ หรือ มีอาการที่ว่างเปล่าจากตัวตน ที่ไม่ใช่ตัวตน จึงบังคับบัญชาไม่ได้ จะให้เป็นไปตามที่ใจปรารถนาก็ไม่ได้ โดยความเป็นของว่างเปล่า [สุญญตะ] โดยความไม่มีเจ้าของ [อัสสามิกะ] โดยไม่มีสิ่งอะไรที่จะพึงทำตาม [อวสวัตตนะ] โดยเป็นปฏิปักษ์กับอัตตา [อัตตปฏิกเขปะ]

ไตรลักษณ์นี้เป็นลักษณะสามัญตามธรรมดาที่ธรรมชาติแห่งรูปนามซึ่งเป็นสังขารธรรมทั้งหลาย จะต้องเป็นไปอย่างนี้อยู่เสมอ ถ้ากล่าวโดยพิสดารแล้ว อนิจจะ มีลักษณะ ๑๐ ประการ ทุกขะ มีลักษณะ ๒๕ ประการ อนัตตะ มีลักษณะ ๕ ประการ รวมเป็น ๔๐ ประการ เมื่อสงเคราะห์เข้ากับขันธ์ ๕ ก็เป็นไตรลักษณ์ ถึง ๒๐๐ ประการ คือ รูปขันธ์ ๔๐ ประการ เวทนาขันธ์ ๔๐ ประการ สัญญาขันธ์ ๔๐ ประการ สังขารขันธ์ ๔๐ ประการ และวิญญาณขันธ์ ๔๐ ประการ รวมเป็น ๒๐๐ ประการ ดังรายละเอียดต่อไปนี้

อนิจจลักษณะ ๑๐

๑. อนิจจโต โดยความไม่เที่ยง

๒. อัทธุวโต โดยความไม่ยั่งยืน

๓. อสารกโต โดยความไม่เป็นแก่นสาร

๔. จลโต โดยความเป็นของหวั่นไหว นิ่งยาก

๕. ปโลกโต โดยความแตกดับ

๖. วิปริณามธัมมโต โดยความเปลี่ยนแปลง กลับกลอก เป็นธรรมดา

๗. มรณธัมมโต โดยความเป็นธรรมที่เป็นไปเพื่อความตาย

๘. วิภวโต โดยความเป็นของฉิบหาย

๙. สังขตโต โดยความเป็นของที่ต้องปรุงแต่งเนือง ๆ

๑๐. ปภังคุโต โดยต้องทำลาย ผุพัง แตกกระจัดกระจายไปรวม ๑๐ ประการ ใน ๕ ขันธ์ จึงเป็น ๕๐ ประการ

ทุกขลักษณะ ๒๕

๑. ทุกขมโต โดยความเป็นทุกข์ [สภาพที่ทนได้ยาก]

๒. ภยโต โดยความเป็นของน่ากลัว

๓. อีติโต โดยความเป็นเสนียดจัญไร

๔. อุปัททวโต โดยความเป็นอันตราย ระทมทุกข์ อุบาทว์

๕. อุปสัคคโต โดยความเป็นอุปสรรค ขัดข้อง ขัดขวาง

๖. โรคโต โดยความเป็นสิ่งเสียดแทง

๗. อาพาธโต โดยความเป็นสภาพที่ป่วยไข้

๘. คัณฑโต โดยความเป็นประดุจหัวฝี

๙. สัลลโต โดยความเป็นประดุจลูกศรปักอก

๑๐. อฆโต โดยความเป็นสิ่งหาคุณมิได้

๑๑. อตาณโต โดยความเป็นสิ่งที่พ้นจากการต้านทาน

๑๒. อเลณโต โดยความเป็นสิ่งที่พ้นจากการป้องกัน

๑๓. อสรณโต โดยความเป็นสิ่งที่พึ่งไม่ได้

๑๔. อาทีนวโต โดยความเป็นสิ่งที่มีแต่โทษ

๑๕. ทุกขมูลโต โดยความเป็นมูลแห่งความทุกข์

๑๖. วธกโต โดยความเป็นประดุจเพชฌฆาต

๑๗. สาสวโต โดยความเป็นไปเพื่ออาสวะ

๑๘. มารามิสโต โดยความเป็นเหยื่อแห่งมาร

๑๙. ชาติธัมมโต โดยความเป็นสิ่งที่ให้เกิด

๒๐. ชราธัมมโต โดยความเป็นสิ่งที่ทำให้แก่

๒๑. พยาธิธัมมโต โดยความเป็นสิ่งที่ทำให้เจ็บไข้ได้ป่วย

๒๒. โสกธัมมโต โดยความเป็นสิ่งที่ทำให้เศร้าโศก

๒๓. ปริเทวธัมมโต โดยความเป็นสิ่งที่ทำให้บ่นเพ้อรำพัน

๒๔. อุปายาสธัมมโต โดยความเป็นสิ่งที่ทำให้คับแค้นใจ

๒๕. สังกิเลสิกธัมมโต โดยความเป็นสิ่งที่เศร้าหมอง

รวม ๒๕ ประการ ใน ๕ ขันธ์ จึงเป็น ๑๒๕

อนัตตลักษณะ ๕

๑. อนัตตโต โดยความไม่ใช่ตัวตน

๒. ปรโต โดยความไม่ใช่เรา เป็นสิ่งอื่น

๓. ริตตโต โดยความว่างเปล่าจากตัวเรา

๔. ตุจฉโต โดยความว่างเปล่าจากแก่นสาร

๕. สุญญโต โดยความว่างเปล่าจากสัตว์บุคคล

รวม ๕ ประการ ใน ๕ ขันธ์ จึงเป็น ๒๕

รวมทั้งหมดเป็น ๔๐ ประการ ใน ๕ ขันธ์ จึงเป็น ๒๐๐ ประการ

ไตรลักษณ์ เป็นลักษณะสามัญ หรือ อาการตามปกติธรรมดาของรูปนามที่เป็นสังขาร ดังนั้น ก่อนที่จะเห็นไตรลักษณ์ จะต้องรู้จักรูปธรรมและนามธรรมเสียก่อน เพราะรูปธรรมนามธรรมนี่แหละ เป็นสิ่งเริ่มต้นในการเจริญวิปัสสนากัมมัฏฐาน ซึ่งจะนำไปสู่การเกิดขึ้นของวิปัสสนาญาณ


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |