| |
อุตุชรูป ๔ อย่าง   |  

อุตุชรูป เป็นอุณหภูมิของรูปที่ปรากฏอยู่ในรูปที่เกิดจากสมุฏฐานทั้ง ๔ ซึ่งได้แก่ สภาพอุณหภูมิของรูปต่าง ๆ นั่นเอง จึงมีชื่อเรียกตามสมุฏฐานทั้ง ๔ นั้น ดังต่อไปนี้

๑. กัมมปัจจยอุตุชรูป หมายถึง อุตุชรูปที่เกิดขึ้นโดยมีกรรมเป็นปัจจัย ได้แก่ อุณหภูมิ คือ ความร้อนหรือความเย็นหรือไออุ่นไอเย็นของกัมมชรูปในร่างกายของสัตว์ทั้งหลายนั่นเอง

๒. จิตตปัจจยอุตุชรูป หมายถึง อุตุชรูปที่เกิดขึ้นโดยมีจิตเป็นสมุฏฐาน ได้แก่ อุณหภูมิคือความร้อนหรือความเย็นหรือไออุ่นไอเย็นของจิตตชรูปที่เกิดจากปฏิกิริยาของจิต เช่น การเดิน การทำงาน การพูดคุยสนทนา การร้องเพลง การร้องไห้ การสวดมนต์ เป็นต้น แล้วทำให้เกิดความร้อนหรือความเย็นขึ้นในร่างกาย

๓. อุตุปัจจยอุตุชรูป หมายถึง อุตุชรูปที่เกิดจากอุตุเป็นปัจจัย ได้แก่ อุณหภูมิของอากาศ น้ำ ต้นไม้ใบหญ้า ภูเขา ความร้อนของดวงอาทิตย์ ความเย็นของดวงจันทร์ เป็นต้น ที่เพิ่มและลดลงตามเหตุปัจจัย ตลอดถึงอุณหภูมิของสิ่งไม่มีชีวิตทั้งหลายที่ปรากฏอยู่ในโลกทั้งปวง และอุณหภูมิของกัมมปัจจยอุตุชรูป จิตตปัจจยอุตุชรูป และอาหารปัจจยอุตุชรูปด้วย

๔. อาหารปัจจยอุตุชรูป หมายถึง อุตุชรูปที่เกิดจากอุตุซึ่งมีอาหารเป็นสมุฏฐาน ได้แก่ อุณหภูมิของอาหารที่สัตว์ทั้งหลายบริโภคเข้าไปได้ หรือสรรพสิ่งที่สามารถเป็นอาหารได้ ย่อมมีอุณหภูมิของสิ่งเหล่านั้นติดมาด้วย

ด้วยเหตุนี้ ในร่างกายของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลาย จึงมีอุตุชรูปปกคลุมอยู่ทั่วไปทั้งหมด เพราะฉะนั้น แม้สัตว์เหล่านั้นจะตายลงแล้วก็ตาม แต่อุตุชรูปก็ยังปรากฏอยู่ตลอดไป ส่วนกัมมชรูปและอาหารชรูปนั้น ปรากฏอยู่ได้ในระหว่างที่สัตว์นั้นยังมีชีวิตอยู่เท่านั้น เมื่อสัตว์นั้นตายลงแล้ว รูปทั้ง ๒ นี้ ก็ดับสิ้นไปหมด

สำหรับจิตตชรูปนั้น ปรากฏขึ้นโดยลำพังของตนเองไม่ได้ ต้องอาศัยกัมมชรูป อุตุชรูป และอาหารชรูป ทั้ง ๓ นี้เป็นที่ตั้ง จึงจะเกิดขึ้นได้ หมายความว่า จิตตชรูปนี้ต้องอาศัยร่างกายของสัตว์ [ซึ่งเป็นกัมมชรูป] เกิดขึ้นนั่นเอง ถ้าไม่มีร่างกายของสัตว์แล้ว จิตตชรูปย่อมไม่สามารถเกิดขึ้นได้เลย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |