| |
วิธีเจริญจตุธาตุววัตถานกัมมัฏฐาน   |  

ก็พึงทราบวินิจฉัยในนัยแห่งการเจริญในธาตุกัมมัฏฐานนี้ การกำหนดธาตุอย่างพิสดารอย่างนี้ว่า ผมเป็นปถวีธาตุ ขนเป็นปถวีธาตุ ดังนี้ ย่อมปรากฏโดยความเป็นของเนิ่นช้าแก่ภิกษุผู้มีปัญญาเฉียบแหลม แต่เมื่อผู้มีปัญญาเฉียบแหลมนั้นใฝ่ใจอยู่อย่างนี้ว่า สิ่งใดมีลักษณะแข้นแข็ง สิ่งนั้นคือปถวีธาตุ สิ่งใดมีลักษณะเอิบอาบ สิ่งนั้นคืออาโปธาตุ สิ่งใดมีลักษณะให้อบอุ่น สิ่งนั้นคือเตโชธาตุ ดังนี้ กัมมัฏฐานย่อมปรากฏ แต่ผู้มีปัญญาไม่เฉียบแหลมนัก ใฝ่ใจอยู่อย่างนี้ กัมมัฏฐานนี้ย่อมมืดมัวไม่แจ่มแจ้ง เมื่อเธอใฝ่ใจโดยพิสดารตามนัยก่อน กัมมัฏฐานจึงจะปรากฏได้ชัด ถามว่าใฝ่ใจอย่างไร ? เปรียบเหมือนภิกษุ ๒ รูป สาธยายบาลีที่มีเปยยาลมาก ภิกษุผู้มีปัญญาเฉียบแหลมยังบาลีหน้าเปยยาลให้พิสดารครั้งเดียวหรือสองครั้ง เบื้องหน้าแต่นั้น ก็ทำการสาธยายด้วยสามารถที่สุด ๒ ข้างจึงเลยไป ฝ่ายรูปที่มีปัญญาไม่เฉียบแหลม จะกล่าวอย่างนี้ว่า นี้ชื่อว่าสาธยายอะไรกัน ไม่ให้ทำเพียงกระทบริมฝีปาก เมื่อทำการสาธยายอยู่อย่างนี้ เมื่อไรบาลีจึงจักคล่อง เธอจึงทำการสาธยายยังบาลีเปยยาลที่มาถึงแล้ว ๆ ให้พิสดาร ฝ่ายภิกษุผู้มีปัญญาเฉียบแหลมจะกล่าวกะเธออย่างนี้ว่า นี่ชื่อสาธยายอะไรกัน ไม่ให้ถึงที่สุดสักที เมื่อทำการสาธยายอย่างนี้เมื่อไรบาลีจึงจักถึงที่สุดได้ ดังนี้ฉันใด การกำหนดธาตุอย่างพิสดารด้วยอำนาจผมเป็นต้น ย่อมปรากฏโดยเป็นของช้า ๆ แก่ภิกษุผู้มีปัญญาเฉียบแหลม ฉันนั้น แต่เมื่อท่านใฝ่ใจย่อโดยนัยเป็นต้นว่าสิ่งใดมีลักษณะแข้นแข็ง สิ่งนี้คือ ปถวีธาตุ ดังนี้ กัมมัฏฐานย่อมปรากฏ ฝ่ายภิกษุผู้ทรามปัญญาใฝ่ใจเหมือนอย่างนั้น กัมมัฏฐานกลับมืดมิด ไม่แจ่มแจ้ง เมื่อใฝ่ใจโดยพิสดารด้วยสามารถผมเป็นต้น กัมมัฏฐานย่อมแจ่มชัด เหตุนั้น ภิกษุผู้มีปัญญาเฉียบแหลมต้องการเจริญกัมมัฏฐาน พึงไปในที่ลับหลีกเร้นอยู่ นึกถึงรูปกายของตนแม้ทั้งสิ้นก่อน จึงกำหนดธาตุโดยย่ออย่างนี้ว่า ภาวะแข็งหรือกระด้างในกายนี้อันใด นี้คือปถวีธาตุ ภาวะที่เอิบอาบซึมซาบอันใด นี้คืออาโปธาตุ ภาวะที่ให้ย่อยหรืออบอุ่นอันใด นี้คือเตโชธาตุ ภาวะที่ให้เคลื่อนไหวหรือที่เบ่ง นี้คือ วาโยธาตุ ดังนี้ แล้วจึงนึกใฝ่ใจสอดส่อง โดยความเป็นสักแต่ว่าธาตุ โดยมิใช่สัตว์ โดยมิใช่ชีวะ ว่าปถวีธาตุ อาโปธาตุ ดังนี้บ่อย ๆ เมื่อเธอพยายามใช้ปัญญากำหนดสอดส่องชนิดแห่งธาตุอย่างนี้ต่อกาลไม่นานนัก สมาธิขั้นอุปจาระได้ปัญญาเครื่องสอดส่องประเภทแห่งธาตุช่วยพยุงแล้วย่อมเกิดขึ้น ไม่ถึงขั้นอัปปนา เพราะมีสภาวธรรมเป็นอารมณ์

อีกสมัยหนึ่ง ส่วน ๔ ประเภทเหล่านี้ใด ซึ่งพระธรรมเสนาบดีสารีบุตรกล่าวไว้เพื่อแสดงความที่มหาภูตรูปทั้ง ๔ ไม่ใช่สัตว์ว่า อาศัยกระดูก อาศัยเอ็น อาศัยเนื้อ อาศัยหนัง อากาศที่ล้อมรอบ ถึงความนับว่ารูปฉะนี้ พระโยคีบุคคลพึงเอามือคือฌานที่สอดส่องไปตามระหว่างแห่งกระดูกเป็นต้นนั้น ๆ แหวกส่วนเหล่านั้นแล้วกำหนดธาตุทั้งหลายตามนัยก่อนนั้นแหละว่า ในธาตุ ๔ เหล่านั้น ภาวะแข็งหรือกระด้างอันใด นี้คือปถวีธาตุ แล้วจึงนึกในใจพิจารณาบ่อย ๆ โดยเป็นสักแต่ว่าธาตุ ไม่ใช่สัตว์ ไม่ใช่ชีวะว่า ปถวีธาตุ อาโปธาตุ ดังนี้บ่อย ๆ เมื่อเธอพยายามอยู่อย่างนี้ ต่อกาลไม่นานนัก สมาธิขั้นอุปจาระได้ปัญญาเครื่องส่องประเภทแห่งธาตุพยุงแล้วย่อมเกิดขึ้น ไม่ถึงขั้นอัปปนา เพราะมีสภาวธรรมเป็นอารมณ์

นี้เป็นภาวนามัย ในการกำหนดธาตุ ๔ ซึ่งพรรณนาโดยย่อ

ส่วนที่พรรณนาโดยพิสดาร บัณฑิตพึงทราบอย่างนี้ คือ พระโยคีบุคคลผู้มีปัญญาไม่เฉียบแหลม ต้องการเจริญกัมมัฏฐานนี้ เรียนธาตุอย่างพิสดาร ด้วยอาการ ๔๒ ในสำนักของอาจารย์ ไปอยู่ในเสนาสนะมีประการดังกล่าวแล้ว ทำกิจทุกอย่างเสร็จแล้ว ไปในที่ลับหลีกเร้นอยู่ พึงเจริญกัมมัฏฐานโดยอาการทั้ง ๔ อย่างนี้ คือ

๑. โดยย่อพร้อมทั้งเครื่องปรุง ๒. โดยแยกพร้อมทั้งเครื่องปรุง

๓. โดยย่อพร้อมทั้งลักษณะ ๔. โดยแยกพร้อมทั้งลักษณะ

ใน ๔ อย่างนั้น อย่างไรภิกษุชื่อว่า เจริญโดยย่อพร้อมทั้งเครื่องปรุง ? คือ ภิกษุในพระธรรมวินัยนี้ กำหนดอาการที่กระด้างในส่วน ๒๐ ว่า ปถวีธาตุ กำหนดอาการที่เอิบอาบได้แก่ น้ำ ซึ่งถึงความซึมแทรกในส่วน ๑๒ ว่า อาโปธาตุ กำหนดไฟที่ให้ย่อยในส่วน ๔ ว่า เตโชธาตุ กำหนดการกระพือพัดในส่วน ๖ ว่า วาโยธาตุ เมื่อเธอกำหนดอยู่อย่างนี้ ธาตุย่อมปรากฏ เมื่อรำพึงในใจถึงธาตุเหล่านั้นอยู่บ่อย ๆ อุปจารสมาธิย่อมเกิดขึ้นตามนัยที่กล่าวแล้วแล

ก็เมื่อพระโยคีบุคคลใดเจริญอยู่อย่างนี้ กัมมัฏฐานไม่สำเร็จ พระโยคีบุคคลนั้นพึงเจริญโดยจำแนกออกไปพร้อมทั้งเครื่องปรุง คืออย่างไร? คือ ภิกษุนั้นไม่พึงยังอุคคหโกศลโดยส่วน ๗ และมนสิการโกศลโดยส่วน ๑๐ ซึ่งกล่าวไว้แล้วในกายคตาสติกัมมัฏฐานนิเทศนั้นทั้งหมดให้บกพร่อง ทำการสาธยายด้วยวาจาโดยอนุโลมและปฏิโลม ทำตจปัญจกะเป็นต้นให้เป็นเบื้องต้น แล้วพึงทำวิธีดังที่กล่าวแล้วในกัมมัฏฐานนั้นทั้งหมด

แต่ที่แปลกกันมีอย่างนี้ คือ ในกายคตาสตินั้น แม้ใฝ่ใจผมเป็นต้นด้วยอำนาจสี สัณฐาน ทิศ โอกาส ปริจเฉทแล้ว พึงตั้งใจกำหนดด้วยสามารถความเป็นของปฏิกูลอีก แต่ในที่นี้ พึงตั้งใจด้วยสามารถความเป็นธาตุ เพราะเหตุนั้น พึงใฝ่ใจผมเป็นต้นอย่างละ ๕ ๆ ด้วยสามารถสีเป็นต้น แล้วจึงยังมนสิการให้เป็นไปอย่างนี้ในอวสาน ใจความว่า

๑. ปถวีธาตุ

ปถวีธาตุในร่างกายนี้ มี ๒๐ ประการ คือ

๑. เกสา ผมทั้งหลาย ชื่อว่าผมเหล่านี้ เกิดที่หนังหุ้มกะโหลกศีรษะ พึงกำหนดในผมเหล่านั้นว่า เมื่อหญ้ากุณฐะ หญ้าที่แข็ง เกิดบนยอดจอมปลวก จอมปลวกหารู้ไม่ว่า หญ้ากุณฐะเกิดบนเรา แม้หญ้ากุณฐะก็หารู้ไม่ว่า เราเกิดบนจอมปลวก ฉันใด หนังหุ้มกะโหลกศีรษะก็เช่นกัน หารู้ไม่ว่า ผมเกิดในเรา แม้ผมก็หารู้ไม่ว่า เราเกิดบนหนังหุ้มกะโหลกศีรษะ ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ดังบรรยายมานี้ ชื่อว่า ผมทั้งหลาย ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปถวีธาตุ

๒. โลมา ขนทั้งหลาย ขนเกิดในหนังหุ้มสรีระ พึงกำหนดในขนเหล่านั้นว่า เมื่อหญ้าแพรกเกิดในสถานที่บ้านร้าง สถานที่บ้านร้างหารู้ไม่ว่าหญ้าแพรกเกิดที่เรา แม้หญ้าแพรกก็หารู้ไม่ว่า เราเกิดในสถานที่บ้านร้าง ฉันใด หนังหุ้มสรีระก็เช่นกัน หารู้สึกไม่ว่า ขนเกิดในเรา แม้ขนก็หารู้ไม่ว่า เราเกิดในหนังหุ้มสรีระ ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ดังบรรยายมานี้ ชื่อว่า ขนทั้งหลาย ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปถวีธาตุ

๓. นขา เล็บทั้งหลาย เล็บเกิดที่ปลายนิ้วมือ พึงกำหนดในเล็บนั้นว่า เมื่อเด็กเอาไม้เรียวแทงเมล็ดมะทรางเข้าไปแล้วเล่นอยู่ ไม้เรียวหารู้ไม่ว่า เมล็ดมะทรางตั้งอยู่ในเรา แม้เมล็ดมะทรางก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่ที่ปลายไม้เรียว ฉันใด นิ้วมือทั้งหลายก็เช่นกัน ย่อมไม่รู้ว่าเล็บเกิดที่ปลายของเรา เล็บทั้งหลายก็หารู้ไม่ว่า เราเกิดที่ปลายนิ้วมือ ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ดังบรรยายมานี้ ชื่อว่าเล็บทั้งหลาย ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปถวีธาตุ

๔. ทนฺตา ฟันทั้งหลาย ฟันเกิดที่กระดูกคาง พึงกำหนดในฟันเหล่านั้นว่า เมื่อซี่ไม้ที่พวกนายช่างเอายางเหนียวชนิดใดชนิดหนึ่งติดตั้งไว้บนครกหิน ครกหารู้ไม่ว่า ซี่ไม้ตั้งอยู่บนเรา แม้ซี่ไม้ก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่บนครก ฉันใด กระดูกคางก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่า ฟันเกิดในเรา แม้ฟันก็หารู้ไม่ว่า เราเกิดที่กระดูกคาง ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ดังบรรยายมานี้ ชื่อว่า ฟันทั้งหลาย ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปถวีธาตุ

๕. ตโจ หนัง หนังตั้งหุ้มอยู่ทั่วสรีระ พึงกำหนดในหนังนั้นว่า เมื่อพิณใหญ่หุ้มด้วยหนังโคอ่อน พิณใหญ่หารู้ไม่ว่า หนังโคอ่อนหุ้มเราไว้ แม้หนังโคอ่อนก็หารู้ไม่ว่า เราหุ้มพิณใหญ่ไว้ ฉันใด สรีระก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่า หนังหุ้มเราไว้ แม้หนังก็หารู้ไม่ว่า เราหุ้มสรีระไว้ ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ดังบรรยายมานี้ ชื่อว่า หนัง ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปถวีธาตุ

๖. มํสํ เนื้อ เนื้อตั้งฉาบร่างกระดูกไว้ พึงกำหนดในเนื้อนั้นว่า เมื่อฝาถูกฉาบด้วยดินเหนียวหนา ฝาหารู้ไม่ว่า เราอันดินเหนียวฉาบทาแล้ว แม้ดินเหนียวก็หารู้ไม่ว่า เราฉาบทาฝาไว้ ฉันใด ร่างกระดูกก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่า เราอันเนื้อ ๙๐๐ ชิ้นฉาบแล้ว แม้เนื้อก็หารู้ไม่ว่า เราฉาบร่างกระดูกไว้ ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ดังบรรยายมานี้ ชื่อว่า เนื้อ ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปถวีธาตุ

๗. นหารู เอ็นทั้งหลาย เอ็นทั้งหลายตั้งรึงรัดกระดูกในภายในอยู่ พึงกำหนดในเอ็นนั้นว่า เมื่อไม้ฝาอันบุคคลมัดแล้วด้วยเถาวัลย์ ไม้ฝาหารู้ไม่ว่า เราอันเถาวัลย์รัดแล้ว แม้เถาวัลย์ก็หารู้ไม่ว่า เรารัดไม้ฝาแล้ว ฉันใด กระดูกทั้งหลายก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่า เอ็นรัดรึงเราไว้ แม้เอ็นทั้งหลายก็หารู้ไม่ว่า เรารึงรัดกระดูกไว้ ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ดังบรรยายมานี้ ชื่อว่า เอ็นทั้งหลาย ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปถวีธาตุ

๘. อฏฺ กระดูกทั้งหลาย ในจำพวกกระดูกทั้งหลาย กระดูกส้นเท้ายกกระดูกข้อเท้าทูนไว้ กระดูกข้อเท้ายกกระดูกแข้งทูนไว้ กระดูกแข้งยกกระดูกขาทูนไว้ กระดูกขายกกระดูกสะเอวทูนไว้ กระดูกสะเอวยกกระดูกสันหลังทูนไว้ กระดูกสันหลังยกกระดูกคอทูนไว้ กระดูกคอยกกระดูกศีรษะทูนไว้ กระดูกศีรษะตั้งอยู่บนกระดูกคอ กระดูกคอตั้งอยู่บนกระดูกสันหลัง กระดูกสันหลังตั้งอยู่บนกระดูกสะเอว กระดูกสะเอวตั้งอยู่บนกระดูกขา กระดูกขาตั้งอยู่บนกระดูกแข้ง กระดูกแข้งตั้งอยู่บนกระดูกข้อเท้า กระดูกข้อเท้าตั้งอยู่บนกระดูกส้นเท้า พึงกำหนดในกระดูกเหล่านั้นว่า ในบรรดาเครื่องก่อที่สำเร็จด้วย อิฐ ไม้ หรือ โคมัย เป็นต้น สัมภาระตอนล่าง ๆ หารู้ไม่ว่า เรายกสัมภาระข้างบน ๆ ทูนไว้ แม้สัมภาระข้างบน ๆ ก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่เหนือสัมภาระตอนล่าง ๆ ฉันใด กระดูกทั้งหลายก็ฉันนั้น คือ กระดูกส้นเท้าก็หารู้ไม่ว่า เรายกกระดูกข้อเท้าทูนไว้ กระดูกข้อเท้าก็หารู้ไม่ว่า เรายกกระดูกแข้งทูนไว้ กระดูกแข้งก็หารู้ไม่ว่า เรายกกระดูกขาทูนไว้ กระดูกขาก็หารู้ไม่ว่า เรายกกระดูกสะเอวทูนไว้ กระดูกสะเอวก็หารู้ไม่ว่า เรายกกระดูกสันหลังทูนไว้ กระดูกสันหลังก็หารู้ไม่ว่า เรายกกระดูกคอทูนไว้ กระดูกคอก็หารู้ไม่ว่า เรายกกระดูกศีรษะทูนไว้ กระดูกศีรษะก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่บนกระดูกคอ กระดูกคอก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่บนกระดูกสันหลัง กระดูกสันหลังก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่บนกระดูกสะเอว กระดูกสะเอวก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่บนกระดูกขา กระดูกขาก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่บนกระดูกแข้ง กระดูกแข้งก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่บนกระดูกข้อเท้า กระดูกข้อเท้าก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่บนกระดูกส้นเท้า ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ดังบรรยายมานี้ ชื่อว่า กระดูกทั้งหลาย ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปถวีธาตุ

๙. อฏฺมิญฺชํ เยื่อในกระดูก เยื่อในกระดูกตั้งอยู่ภายในแห่งกระดูกนั้น ๆ พึงกำหนดในเยื่อนั้นว่า ในวัตถุเป็นต้นว่า ยอดหวายที่บุคคลผู้หนึ่งใส่เข้าไปภายในปล้องไม้ไผ่เป็นต้น ปล้องไม้ไผ่ก็หารู้ไม่ว่า ยอดหวายเป็นต้นเขาใส่เข้าแล้วในเรา แม้ยอดหวายเป็นต้นก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในปล้องไม้ไผ่เป็นต้น ฉันใด กระดูกทั้งหลายก็ฉันนั้น ก็หารู้ไม่ว่า เยื่ออยู่ภายในเรา แม้เยื่อก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ภายในกระดูก ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ดังบรรยายมานี้ ชื่อว่า เยื่อในกระดูก ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปถวีธาตุ

๑๐. ปิหกํ ไต ไตคลุมเนื้อหัวใจ เส้นเอ็นใหญ่ที่ออกจากลำคออันมีโคน ๆ เดียว ไปได้หน่อยหนึ่งแล้วแยกออกเป็น ๒ รัดรึงไว้ ตั้งคลุมเนื้อหัวใจไว้ พึงกำหนดในไตนั้นว่า ในผลมะม่วง ๒ ผลที่ขั้วติดกัน ขั้วหารู้ไม่ว่า เรายึดมะม่วง ๒ ผลไว้ แม้มะม่วง ๒ ผลก็หารู้ไม่ว่า ขั้วยึดเราไว้ ฉันใด เส้นเอ็นใหญ่ก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่า เรายึดไตไว้ แม้ไตก็หารู้ไม่ว่า เส้นเอ็นใหญ่ยึดเราไว้ ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ดังบรรยายมานี้ ชื่อว่า ไต ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปถวีธาตุ

๑๑. หทยํ หัวใจ หัวใจตั้งอาศัยท่ามกลางหลืบแห่งกระดูกอกในภายในสรีระ พึงกำหนดในหัวใจนั้นว่า ชิ้นเนื้อที่ตั้งอาศัยอยู่ที่ภายในหลืบท้องกะทะเก่า หลืบท้องกะทะเก่าหารู้ไม่ว่า ชิ้นเนื้อตั้งอาศัยเราอยู่ แม้ชิ้นเนื้อก็หารู้ไม่ว่าเราตั้งอาศัยอยู่ในหลืบท้องกระทะเก่า ฉันใด ภายในหลืบกระดูกอกก็หารู้ไม่ว่า หัวใจตั้งอาศัยเราอยู่ แม้หัวใจก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอาศัยภายในกระดูกอกอยู่ ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ดังบรรยายมานี้ ชื่อว่า หัวใจ ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปถวีธาตุ

๑๒. ยกนํ ตับ ตับตั้งอาศัยข้างขวาในระหว่างนมทั้ง ๒ ในภายในสรีระ พึงกำหนดในตับนั้นว่า ในก้อนเนื้อทั้งคู่ที่ติดอยู่ที่ข้างกระเบื้องหม้อ ข้างกระเบื้องหม้อหารู้ไม่ว่า ก้อนเนื้อทั้งคู่ติดแล้วในเรา แม้ก้อนเนื้อทั้งคู่ก็หารู้ไม่ว่า เราติดอยู่ที่ข้างกระเบื้องหม้อ ฉันใด ข้างขวาระหว่างนมก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่า ตับตั้งอาศัยเราอยู่ แม้ตับก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอาศัยข้างขวาในระหว่างนมอยู่ ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ดังบรรยายมานี้ ชื่อว่า ตับ ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปถวีธาตุ

๑๓. กิโลมกํ พังผืด บรรดาพังผืดทั้งหลาย พังผืดที่ปกปิดตั้งหุ้มหัวใจและไตอยู่ พังผืดที่ไม่ปกปิดรวบรัดเนื้อภายใต้หนังในสรีระทั้งสิ้น พึงกำหนดในพังผืดนั้นว่า ในเนื้อที่บุคคลเอาผ้าเก่าห่อไว้ เนื้อหารู้ไม่ว่า เราถูกผ้าเก่าพันไว้ แม้ผ้าเก่าก็หารู้ไม่ว่า เราพันเนื้อไว้ ฉันใด ไตและหัวใจและเนื้อในสรีระทั้งสิ้น ก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่า พังผืดปกปิดเราไว้ แม้พังผืดก็หารู้ไม่ว่า เราปกปิดไตหัวใจและเนื้อในสรีระทั้งสิ้นไว้ ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ดังบรรยายมานี้ ชื่อว่าพังผืด ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปถวีธาตุ

๑๔. วกฺกํ ม้าม ม้ามตั้งอาศัยข้างที่สุดแห่งกระพุ้งท้องในข้างซ้ายแห่งหัวใจ พึงกำหนดในม้ามนั้นว่า ในก้อนโคมัยที่ตั้งอาศัยที่สุดฉาง ข้างที่สุดฉางก็หารู้ไม่ว่า ก้อนโคมัยตั้งอาศัยเราอยู่ ก้อนโคมัยก็หารู้ไม่ว่า เราแนบติดข้างที่สุดฉางอยู่ ฉันใด ข้างที่สุดกระพุ้งท้องก็หารู้ไม่ว่า ม้ามแนบเราอยู่ แม้ม้ามก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งแนบข้างที่สุดแห่งกระพุ้งท้องอยู่ ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ดังบรรยายมานี้ ชื่อว่า ม้าม ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ จัดเป็นปถวีธาตุ

๑๕. ปปฺผาสํ ปอด ปอดตั้งห้อยปกอยู่เบื้องบนหัวใจและตับ ในระหว่างนมทั้ง ๒ ในภายในสรีระ พึงกำหนดในปอดนั้นว่า เหมือนในรังนกที่ห้อยอยู่ในฉางเก่า ภายในฉางเก่าหารู้ไม่ว่า รังนกห้อยอยู่ในเรา แม้รังนกก็หารู้ไม่ว่า เราห้อยอยู่ภายในฉางเก่า ฉันใด ภายในสรีระก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่า ปอดห้อยอยู่ในเรา แม้ปอดก็หารู้ไม่ว่า เราห้อยอยู่ภายในสรีระเห็นปานนี้ ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ดังบรรยายมานี้ ชื่อว่า ปอด ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปถวีธาตุ

๑๖. อนฺตํ ไส้ใหญ่ ไส้ใหญ่ตั้งอยู่ภายในสรีระ มีหลุมคอและเวจมรรคเป็นที่สุด พึงกำหนดในไส้ใหญ่นั้นว่า ฉันเดียวกับซากงูที่เขาตัดศีรษะวางขดไว้ในรางเลือด รางเลือดหารู้ไม่ว่า ซากงูตั้งอยู่ในเรา แม้ซากงูก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่ในรางเลือด ฉันใด ภายในสรีระก็หารู้ไม่ว่า ไส้ใหญ่ตั้งอยู่ในเรา แม้ไส้ใหญ่ก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่ภายในสรีระ ฉันนั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ดังบรรยายมานี้ ชื่อว่า ไส้ใหญ่ ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปถวีธาตุ

๑๗. อนฺตคุณํ ไส้น้อย ไส้น้อยพันขนดไส้ใหญ่ ๒๑ ขนด ตั้งอยู่ในระหว่างไส้ใหญ่นั้น ๆ พึงกำหนดในไส้น้อยนั้นว่า เหมือนในเชือกเส้นเล็กที่ร้อยขนดสำหรับเช็ดเท้า ขนดเชือกสำหรับเช็ดเท้าหารู้ไม่ว่า เชือกเส้นน้อยตั้งร้อยรัดเราไว้ แม้เชือกเส้นน้อยก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งร้อยยึดขนดเชือกสำหรับเช็ดเท้าไว้ ฉันใด ไส้ใหญ่ก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่า ไส้น้อยร้อยรัดเราไว้ แม้ไส้น้อยก็หารู้ไม่ว่า เราร้อยรัดไส้ใหญ่ไว้ ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ดังบรรยายมานี้ ชื่อว่า ไส้น้อย ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปถวีธาตุ

๑๘. อุทริยํ อาหารใหม่ ได้แก่ ของรับประทาน ของเคี้ยว ของลิ้ม ซึ่งอยู่ในท้อง พึงกำหนดในอาหารใหม่นั้นว่า เหมือนรากสุนัข อันตั้งอยู่ในรางสุนัข รางสุนัขหารู้ไม่ว่า รากสุนัขอยู่ในเรา แม้รากสุนัขก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่ในรางสุนัข ฉันใด ท้องก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่า อาหารใหม่อยู่ในเรา แม้อาหารใหม่ก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในท้อง ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ดังบรรยายมานี้ ชื่อว่า อาหารใหม่ ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปถวีธาตุ

๑๙. กรีสํ อาหารเก่า [อุจจาระ] อาหารเก่าตั้งอยู่ในที่สุดไส้ใหญ่อันเป็นเช่นเดียวกับปล้องไม่ไผ่ยาวประมาณ ๘ นิ้ว ได้แก่ กระเพาะอาหารเก่า พึงกำหนดอาหารเก่านั้นว่า เหมือนในดินเหลืองละเอียด ซึ่งบุคคลขยำใส่ในปล้องไม้ไผ่ ปล้องไม่ไผ่หารู้ไม่ว่า ดินเหลืองอยู่ในเรา แม้ดินเหลืองก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในปล้องไม้ไผ่ ฉันใด กระเพาะอาหารเก่า ก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่า อุจจาระอยู่ในเรา แม้อุจจาระก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในกระเพาะอาหารเก่า ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ดังบรรยายมานี้ ชื่อว่า อุจจาระ ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปถวีธาตุ

๒๐. มตฺถเก มตฺถลุงฺคํ มันสมองในกะโหลกศีรษะ มันสมองอยู่ภายในกะโหลกศีรษะ พึงกำหนดในมันสมองนั้นว่า เหมือนในก้อนแป้งที่เขาใส่ในกะโหลกน้ำเต้าเก่า กะโหลกน้ำเต้าเก่าหารู้ไม่ว่า ก้อนแป้งอยู่ในเรา แม้ก้อนแป้งก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในกะโหลกน้ำเต้า ฉันใด ภายในกะโหลกศีรษะ ก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่า มันสมองอยู่ในเรา แม้มันสมองก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ภายในกะโหลกศีรษะ ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ดังบรรยายมานี้ ชื่อว่า มันสมอง ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ แข็งกระด้าง จัดเป็นปถวีธาตุ

๒. อาโปธาตุ

๒๑. ปิตฺตํ น้ำดี บรรดาดีทั้งหลาย ดีไม่เป็นฝักซาบซ่านตั้งอยู่ทั่วสรีระ ซึ่งเนื่องด้วยชีวิตินทรีย์ ดีที่เป็นฝักอยู่ในฝักดี พึงกำหนดในดีนั้นว่า เหมือนน้ำมันที่ซึมซาบขนม ขนมหารู้ไม่ว่า น้ำมันซึมซาบเราอยู่ แม้น้ำมันก็หารู้ไม่ว่า เราซึมซาบขนมอยู่ ฉันใด สรีระก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่า ดีไม่เป็นฝักซึมซาบเราอยู่ แม้ดีที่ไม่เป็นฝักก็หารู้ไม่ว่า เราซึมซาบสรีระอยู่ หรือเหมือนในรังบวบขมซึ่งเต็มด้วยน้ำฝน รังบวบขมหารู้ไม่ว่า น้ำฝนขังอยู่ในเรา แม้น้ำฝนก็หารู้ไม่ว่า เราขังอยู่ในรังบวบขม ฉันใด ฝักดีก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่า ดีที่เป็นฝักอยู่ในเรา แม้ดีที่เป็นฝักก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในฝักดี ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ดังบรรยายมานี้ ชื่อว่า ดี ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นน้ำหยั่น มีอาการซึมซาบ จัดเป็นอาโปธาตุ

๒๒. เสมฺหํ เสลด เสลดประมาณเต็มบาตรหนึ่ง ตั้งอยู่ในกระพุ้งท้อง พึงกำหนดในเสลดนั้นว่า เหมือนบ่อน้ำครำซึ่งเกิดเป็นฟองเป็นฝาฟอดในเบื้องบน บ่อน้ำครำหารู้ไม่ว่าฟองฝาตั้งอยู่ในเรา แม้ฟองฝาก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่ในบ่อน้ำครำ ฉันใด กระพุ้งท้องก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่า เสลดอยู่ในเรา แม้เสลดก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในกระพุ้งท้อง ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ดังบรรยายมานี้ ชื่อว่า เสลด ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นน้ำหยั่น มีอาการซึมซาบ จัดเป็นอาโปธาตุ

๒๓. ปุพฺโพ น้ำหนอง หนองไม่มีโอกาสที่อยู่เป็นนิตย์ โลหิตตั้งห้อขึ้นในส่วนแห่งสรีระใด ๆ อันตอหรือหนามตำ หรือเปลวไฟเป็นต้นลวกแล้ว หรือฝีและต่อมเป็นต้นย่อมเกิดในส่วนแห่งสรีระใด หนองก็ตั้งขึ้นในส่วนแห่งสรีระนั้น ๆ พึงกำหนดในหนองนั้นว่า เหมือนต้นไม้มียางไหลออกแล้ว ด้วยการถูกฟันด้วยขวานเป็นต้น ส่วนแห่งต้นไม้ที่ถูกฟันเป็นต้น หารู้ไม่ว่า ยางตั้งอยู่ในเรา แม้ยางก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่ในส่วนแห่งต้นไม้ที่ถูกฟัน เป็นต้น ฉันใด ส่วนแห่งร่างกายที่ถูกตอและหนามเป็นต้นทิ่มตำก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่า หนองตั้งอยู่ในเรา แม้หนองก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในส่วนเหล่านั้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ดังบรรยายมานี้ ชื่อว่า หนอง ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นน้ำหยั่น มีอาการซึมซาบ จัดเป็นอาโปธาตุ

๒๔. โลหิตํ เลือด บรรดาเลือดทั้งหลาย เลือดที่ฉีดซ่านไปตั้งอยู่ทั่วสรีระทั้งสิ้นดุจดี เลือดที่ขังเต็มพื้นล่างแห่งฐานเป็นต้น มีประมาณเต็มบาตรหนึ่ง ยังม้าม หัวใจ ตับ ปอด ให้ชุ่มอยู่ ในเลือด ๒ ชนิดนั้น เลือดที่ฉีดมีวินิจฉัยเช่นเดียวกันกับดีไม่มีฝักนั่นเอง ฝ่ายเลือดอีกชนิดหนึ่งพึงกำหนดว่า เหมือนน้ำอันบุคคลรดแล้วที่กระเบื้องผุเก่ายังก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้นในภายใต้ให้ชุ่มอยู่ ก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้นหารู้ไม่ว่า เราอันน้ำให้เปียกชุ่มอยู่ แม้น้ำก็หารู้ไม่ว่า เรายังก้อนดินและท่อนไม้เป็นต้นให้ชุ่มอยู่ ฉันใด ส่วนภายใต้แห่งตับหรือม้ามเป็นต้นก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่า เลือดอยู่ในเราหรือยังเราให้ชุ่มอยู่ แม้เลือดก็หารู้ไม่ว่า เรายังส่วนใต้แห่งตับให้เต็มแล้ว ยังม้ามเป็นต้นให้ชุ่มอยู่ ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ดังบรรยายมานี้ ชื่อว่า เลือด ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นน้ำหยั่น มีอาการซึมซาบ จัดเป็นอาโปธาตุ

๒๕. เสโท เหงื่อ เหงื่อตั้งอยู่เต็มช่องขุมผมและขุมขน และหลั่งออกในเวลาร้อนอบอ้าวเพราะไฟเป็นต้น พึงกำหนดเหงื่อนั้นว่า เหมือนในกำแห่งก้านบัว ภิส มุฬาล กุมุท พอยกขึ้นแล้วจากน้ำ น้ำก็จะไหลออกจากช่องในกำบัว ช่องในกำบัว มีนามว่า ภิส เป็นต้นหารู้ไม่ว่า น้ำหลั่งออกจากเรา แม้น้ำก็หารู้ไม่ว่า เราหลั่งออกจากช่องในกำบัว ฉันใด เหงื่อก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่า เราหลั่งออกจากขุมผมและขุมขน แม้ขุมผมและขุมขนก็หารู้ไม่ว่า น้ำหลั่งออกจากเรา ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ดังบรรยายมานี้ ชื่อว่า เหงื่อ ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นน้ำหยั่น มีอาการซึมซาบ จัดเป็นอาโปธาตุ

๒๖. เมโท มันข้น มันข้น ได้แก่ มันที่แข้น สำหรับคนอ้วนแผ่ไปตั้งอยู่ทั่วสรีระ สำหรับคนผอมตั้งอาศัยเนื้อแข้งเป็นต้น พึงกำหนดในมันข้นนั้นว่า เหมือนกองเนื้อที่บุคคลปิดไว้ด้วยผ้าเก่าที่ย้อมขมิ้น กองเนื้อหารู้ไม่ว่า ผ้าเก่าที่ย้อมขมิ้นอาศัยปิดเราไว้ แม้ผ้าเก่าที่ย้อมขมิ้นก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอาศัยกองเนื้ออยู่ ฉันใด เนื้อในสรีระทั้งสิ้นหรือที่แข้งเป็นต้นก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่า มันข้นอาศัยเราตั้งอยู่ แม้มันข้นก็ไม่รู้ว่า เราอาศัยเนื้อในสรีระทั้งสิ้นหรือที่แข้งเป็นต้นตั้งอยู่ ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ดังบรรยายมานี้ ชื่อว่า มันข้น ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นยางแข้น มีอาการเอิบอาบ จัดเป็นอาโปธาตุ

๒๗. อสฺสุ น้ำตา น้ำตาในเวลาที่เกิด ย่อมขังเต็มกระบอกตาหรือหลั่งไหลออกมา พึงกำหนดในน้ำตานั้นว่า ฉันเดียวกับเต้าเมล็ดตาลอ่อนซึ่งเต็มด้วยน้ำ เต้าเมล็ดตาลอ่อนหารู้ไม่ว่า น้ำอยู่ในเรา แม้น้ำก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในเต้าเมล็ดตาลอ่อน ฉันใด กระบอกตาก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่า น้ำตาอยู่ในเรา แม้น้ำตาก็หารู้ไม่ว่า เราอยู่ในกระบอกตา ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ดังบรรยายมานี้ ชื่อว่า น้ำตา ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นน้ำหยั่น มีอาการเอิบอาบ จัดเป็นอาโปธาตุ

๒๘. วสา มันเหลว มันเหลว ได้แก่ มันใส ซึ่งตั้งอยู่ที่ฝ่ามือ หลังมือ หลังเท้า ปลายจมูก หน้าผาก และจงอยบ่า ในเวลาที่ร้อนอบอ้าวเพราะไฟเป็นต้น พึงกำหนดในมันเหลวนั้นว่า เหมือนในน้ำข้าวซึ่งใส่น้ำมันลงไป น้ำข้าวหารู้ไม่ว่า น้ำมันท่วมเราตั้งอยู่ แม้น้ำมันก็หารู้ไม่ว่า เราท่วมน้ำข้าวตั้งอยู่ ฉันใด ประเทศมีฝ่ามือเป็นต้นก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่า มันเหลวท่วมทับเราตั้งอยู่ แม้มันเหลวก็หารู้ไม่ว่า เราท่วมทับประเทศมีฝ่ามือเป็นต้นตั้งอยู่ ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ดังบรรยายมานี้ ชื่อว่า มันเหลว ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นน้ำหยั่น มีอาการเอิบอาบ จัดเป็นอาโปธาตุ

๒๙. เขโฬ น้ำลาย น้ำลายเมื่อปัจจัยซึ่งก่อให้เกิดน้ำลายเห็นปานนั้นมีอยู่ ย่อมหลั่งลงมาจากกระพุ้งแก้มทั้ง ๒ แล้วตั้งอยู่ที่พื้นลิ้น พึงกำหนดในน้ำลายนั้นว่า เหมือนหลุมใกล้ฝั่งแม่น้ำซึ่งมีน้ำไหลมามิได้ขาด พื้นหลุมหารู้ไม่ว่า น้ำตั้งอยู่ในเรา แม้น้ำก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่บนพื้นหลุม ฉันใด พื้นลิ้นก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่า น้ำลายลงจากกระพุ้งแก้มทั้ง ๒ ตั้งอยู่ในเรา แม้น้ำลายก็หารู้ไม่ว่า เราหลั่งลงมาจากกระพุ้งแก้มทั้ง ๒ ตั้งอยู่ในที่พื้นลิ้น ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ดังบรรยายมานี้ ชื่อว่า น้ำลาย ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นน้ำหยั่น มีอาการซึมซาบ จัดเป็นอาโปธาตุ

๓๐. สิงฺฆาณิกา น้ำมูก น้ำมูกในเวลาที่เกิด ย่อมยังจมูกให้เต็มอยู่หรือหลั่งออก พึงกำหนดในน้ำมูกนั้นว่า เหมือนช้อนเต็มด้วยนมส้มเน่า ช้อนหารู้ไม่ว่านมส้มเน่าตั้งอยู่ในเรา แม้นมส้มเน่าก็หารู้ไม่ว่าเราตั้งอยู่ในช้อน ฉันใด ช่องจมูกก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่าน้ำมูกตั้งอยู่ในเรา แม้น้ำมูกก็หารู้ไม่ว่าเราอยู่ในช่องจมูก ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ดังบรรยายมานี้ ชื่อว่า น้ำมูก ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้ เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นน้ำหยั่น มีอาการซึมซาบ จัดเป็นอาโปธาตุ

๓๑. ลสิกา ไขข้อ ไขข้อยังกิจคือการหยอดที่ต่อแห่งกระดูกทั้งหลายให้สำเร็จ ตั้งอยู่ในที่ต่อ ๑๘๐ แห่ง พึงกำหนดในไขข้อนั้นว่า เหมือนเพลาอันนายช่างหยอดแล้วด้วยน้ำมัน เพลาหารู้ไม่ว่า น้ำมันหยอดทาเราตั้งอยู่ แม้น้ำมันก็หารู้ไม่ว่า เราหยอดทาเพลาตั้งอยู่ ฉันใด ที่ต่อ ๑๘๐ แห่งก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่า ไขข้อหยอดทาเราตั้งอยู่ แม้ไขข้อก็หารู้ไม่ว่า เราหยอดทาที่ต่อ ๑๘๐ แห่ง ตั้งอยู่ ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ดังบรรยายมานี้ ชื่อว่า ไขข้อ ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นน้ำหยั่น มีอาการซึมซาบ จัดเป็นอาโปธาตุ

๓๒. มุตฺตํ น้ำมูตร [ปัสสาวะ] น้ำมูตรตั้งอยู่ภายในกระเพาะเบา พึงกำหนดในน้ำมูตรนั้นว่า เหมือนหม้อเนื้อห่างที่บุคคลคว่ำปากไว้ในน้ำครำ หม้อเนื้อห่างหารู้ไม่ว่า รสแห่งนำครำตั้งอยู่ในเรา แม้รสแห่งน้ำครำก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่ในหม้อเนื้อห่าง ฉันใด กระเพาะปัสสาวะก็ฉันนั้น หารู้ไม่ว่า น้ำมูตรตั้งอยู่ในเรา แม้น้ำมูตรก็หารู้ไม่ว่า เราตั้งอยู่ในกระเพาะปัสสาวะ ธรรมเหล่านี้เว้นแล้วจากการใส่ใจและพิจารณากันและกัน ดังบรรยายมานี้ ชื่อว่า น้ำมูตร ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ เป็นน้ำหยั่น มีอาการซึมซาบ จัดเป็นอาโปธาตุ

๓. เตโชธาตุ

พระโยคีบุคคลครั้นยังมนสิการให้เป็นไปในอาโปธาตุมีน้ำดีเป็นต้นอย่างนี้แล้ว พึงยังมนสิการให้เป็นไปในส่วนแห่งเตโชธาตุทั้งหลายอย่างนี้ว่า

๓๓. อุสฺมาเตโช ไฟที่ยังกายให้อบอุ่น สิ่งใดเป็นเหตุให้กายอบอุ่น สิ่งนั้นเป็นส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ มีอาการร้อนผะผ่าว จัดเป็นเตโชธาตุ

๓๔. ชิรณเตโช ไฟที่ยังกายให้แก่คร่ำคร่า สิ่งใดเป็นเหตุให้คร่ำคร่า สิ่งนั้นเป็นส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ มีอาการร้อนผะผ่าว จัดเป็นเตโชธาตุ

๓๕. สนฺตาปนเตโช ไฟที่ทำให้กายร้อนจนแตกสลายได้ สิ่งใดเป็นเหตุให้ไหม้สรีระ สิ่งนั้นเป็นส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ มีอาการร้อนผะผ่าว จัดเป็นเตโชธาตุ

๓๖. ปาจกเตโช ไฟธาตุที่ย่อยอาหาร สิ่งใดเป็นเหตุให้ของกิน ของดื่ม ของเคี้ยว ของลิ้ม ย่อยโดยชอบ สิ่งนั้นจัดเป็นส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ มีอาการร้อน จัดเป็นเตโชธาตุ

๔. วาโยธาตุ

พระโยคีบุคคลครั้นยังมนสิการให้เป็นไปในส่วนแห่งเตโชธาตุมีอุสมาเตโชเป็นต้นอย่างนี้แล้ว พึงยังมนสิการให้เป็นไปในส่วนแห่งวาโยธาตุทั้งหลายอย่างนี้ว่า

๓๗. อุทฺธงฺคมวาโย ลมที่พัดขึ้นเบื้องบน พระโยคีบุคคลพึงกำหนดลมที่พัดขึ้นเบื้องบนด้วยสามารถแห่งลมที่พัดขึ้นเบื้องบน

๓๘. อโธคมวาโย ลมพัดลงเบื้องต่ำ พระโยคีบุคคลพึงกำหนดลมที่พัดลงเบื้องต่ำด้วยสามารถแห่งลมที่พัดลงเบื้องต่ำ

๓๙. กุจฺฉิสยวาโย หรือ กุจฺฉิฏฺวาโย ลมในท้อง พระโยคีบุคคลพึงกำหนดลมที่พัดอยู่ในท้องด้วยสามารถแห่งลมที่พัดอยู่ในท้อง

๔๐. โกฏฺาสยวาโย ลำในไส้ พระโยคีบุคคลพึงกำหนดลมที่พัดอยู่ในลำไส้ด้วยสามารถแห่งลมที่พัดอยู่ในลำไส้

๔๑. องฺคมงฺคานุสาริยวาโย ลมพัดไปตามตัว พระโยคีบุคคลพึงกำหนดลมที่พัดไปตามร่างกายด้วยสามารถแห่งลมที่พัดตามร่างกาย

๔๒. อสฺสาสปสฺสาสวาโย ลมหายใจเข้าออก พระโยคีบุคคลพึงกำหนดลมหายใจออกเข้าด้วยสามารถแห่งลมหายใจเข้าออก

แล้วจึงยังมนสิการให้เป็นไปในส่วนแห่งวาโยธาตุอย่างนี้ว่า ชื่อว่า ลมพัดขึ้นเบื้องบน ฯลฯ ลมพัดลงเบื้องต่ำ ฯลฯ ลมพัดอยู่ในท้อง ฯลฯ ลมพัดอยู่ในลำไส้ ฯลฯ ลมพัดไปตามร่างกาย ฯลฯ ลมหายใจเข้าออก [แต่ละอย่าง] ได้แก่ ส่วนหนึ่งโดยเฉพาะในสรีระนี้เท่านั้น เป็นสภาพที่ไม่มีเจตนา เป็นอัพยากฤต ว่างเปล่า มิใช่สัตว์ มีอาการเคลื่อนไหว จัดเป็นวาโยธาตุ

เมื่อพระโยคีบุคคลนั้นมีมนสิการเป็นไปอย่างนี้ ธาตุทั้งหลายย่อมปรากฏ เมื่อเธอนึกถึงใฝ่ใจธาตุเหล่านั้นเนือง ๆ อุปจารสมาธิย่อมเกิด ตามนัยที่กล่าวแล้วนั้นแล

ก็ถ้าพระโยคีบุคคลใดเจริญอย่างนี้ กัมมัฏฐานย่อมไม่สำเร็จ พระโยคีบุคคลนั้นพึงเจริญโดยย่อพร้อมทั้งลักษณะ ถามว่า เจริญอย่างไร ? ตอบว่า พึงกำหนดผมเป็นต้นตามนัยที่กล่าวแล้วในนัยก่อน แล้วจึงกำหนดว่า สิ่งที่มีลักษณะกระด้างในผม จัดเป็นปถวีธาตุ พึงกำหนดว่า สิ่งที่มีลักษณะเอิบอาบในปถวีธาตุนั้นเอง จัดเป็นอาโปธาตุ พึงกำหนดว่า สิ่งที่มีลักษณะให้อบอุ่น จัดเป็นเตโชธาตุ พึงกำหนดว่า สิ่งที่มีลักษณะพัดไปมา จัดเป็นวาโยธาตุ พึงกำหนดธาตุ ๔ ในส่วนหนึ่ง ๆ ในบรรดาส่วนทั้งปวงด้วยประการฉะนี้

เมื่อพระโยคีบุคคลนั้นกำหนดอยู่อย่างนี้ ธาตุทั้งหลายย่อมปรากฏ เมื่อเธอนึกใฝ่ใจธาตุเหล่านั้นอยู่เนือง ๆ อุปจารสมาธิย่อมเกิดตามนัยที่กล่าวแล้วนั้นแล


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |