| |
นิปผันนรูป ๑๘   |  

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๓๓๗ ท่านได้แสดงสรุปความเรื่องนิปผันนรูปไว้ดังต่อไปนี้

สภาวรูป [รูปโดยสภาวะ] หมายถึง รูปที่ประกอบด้วยสภาวะของตนด้วยลักษณะมีความแข็ง เป็นต้น ไม่ใช่อาการของรูปอื่น

สลักขณรูป [รูปที่มีลักษณะของสังขตธรรม] หมายถึง รูปที่ประกอบด้วยลักษณะของสังขตธรรม มีความเกิดขึ้นและความไม่เที่ยง เป็นต้น

นิปผันนรูป [รูปที่ถูกกรรมเป็นต้นปรุงแต่ง] หมายถึง รูปที่ถูกปัจจัยมีกรรมเป็นต้นปรุงแต่งโดยตรง

รูปรูป [รูปที่แปรปรวนชัดเจน] หมายถึง รูปแท้จริงที่ประกอบด้วยลักษณะเปลี่ยนแปลง เหมือนคำว่า ทุกขทุกข์ [ทุกข์จริง] อัชฌัตตัชฌัตตะ [อารมณ์ภายในอย่างแท้จริง]รุ.๓๓๘

สัมมสนรูป [รูปที่ใช้พิจารณากัมมัฏฐานได้] หมายถึง รูปที่ควรแก่การพิจารณายกขึ้นสู่ไตรลักษณ์มีความไม่เที่ยงเป็นต้นได้ เพราะประกอบด้วยลักษณะของสังขตธรรม

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๓๓๙ ท่านได้แสดงสรุปความเรื่องนิปผันนรูปไว้ดังต่อไปนี้

รูปที่ชื่อว่า สภาวรูป เพราะหาได้ [มีได้] โดยสภาพของตน ๆ มีความเป็นของแข็งเป็นต้น

ที่ชื่อว่า สลักขณรูป เพราะอรรถว่า ประกอบด้วยลักษณะทั้งหลายมีความเกิด เป็นต้น หรือมีความไม่เที่ยง เป็นต้น

ที่ชื่อว่า นิปผันนรูป เพราะเป็นรูปที่สำเร็จมาจากปัจจัยมีกรรม เป็นต้น ตามสภาพของตนเอง เว้นความเป็นปริจเฉทรูปเป็นต้นเสีย

สภาพคือความแปรผัน ชื่อว่า รูป แม้ธรรมชาติที่ประกอบด้วยรูปนั้น ก็ชื่อว่า รูป ดุจอุทาหรณ์ในประโยคว่า คนประกอบด้วยโรคริดสีดวง ชื่อว่า มีโรคริดสีดวง ดอกอุบล แม้ประกอบด้วยกลีบเขียว ก็ชื่อว่า อุบลเขียว รูป ศัพท์นี้ ย่อมเป็นไปในสิ่งที่ไม่มีสภาพคือความแปรผันนั้น ตามความที่นิยมกัน เพราะฉะนั้น ท่านจึงกล่าวให้แปลกออกไป โดยเพิ่มรูปศัพท์หนึ่งว่า รูปรูป ดังนี้ เหมือนคำว่า ทุกฺขทุกฺขํ ฉันนั้น

ที่ชื่อว่า สัมมสนรูป เพราะควรเพื่อพิจารณาโดยยกขึ้นสู่ลักษณะ ๓ เพราะล่วงภาวะแห่งปริจเฉทรูปเป็นต้นแล้ว มีอยู่ตามสภาพนั้นแล

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๓๔๐ อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์ได้แสดงสรุปความเรื่องนิปผันนรูปไว้ดังต่อไปนี้

รูปธรรมทั้ง ๗ ประเภท ที่กล่าวมานี้ ชื่อว่า นิปผันนรูป ๑๘ คือ มหาภูตรูป ๔ ปสาทรูป ๕ โคจรรูป ๔ ภาวรูป ๒ หทยรูป ๑ ชีวิตรูป ๑ และอาหารรูป ๑

นิปผันนรูป ๑๘ นี้ เมื่อกล่าวโดยฐานที่ตั้งภายในร่างกายของสัตว์แล้ว จำแนกได้เป็น ๒ ชนิด


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |