| |
เวทนาเกิดเพราะเหตุ ๘ ประการ   |  

๑. วาตะสมุฏฐาน เวทนาเกิดเพราะลม หมายความว่า ลมก็เป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดเวทนาต่าง ๆ ได้ คือ ลมที่พัดมาเย็น ๆ หรือลมในร่างกายที่มีความสมดุลกัน ย่อมทำให้เกิดสุขเวทนาทางกายได้ ลมที่ร้อนระอุ หรือลมในร่างกายที่ไม่สมดุลกัน ย่อมทำให้เกิดทุกขเวทนาทางกายได้ ลมพัดเย็น ๆ ในภายนอกร่างกาย ก็ดี หรือธาตุลมในร่างกายที่มีความสมดุลกันก็ดี ลมเหล่านี้ทำให้ร่างกายปลอดโปร่ง และจิตใจก็พลอยแจ่มใสไปด้วย เพราะฉะนั้น ลมที่กระทบกับร่างกายหรือลมในร่างกายที่มีความสมดุลกัน ทำให้จิตใจแจ่มใสเบิกบาน ย่อมได้ชื่อว่า เป็นปัจจัยให้เกิดโสมนัสสเวทนาได้ ลมที่ร้อนระอุภายนอกร่างกายก็ดี หรือธาตุลมในร่างกายที่ไม่สมดุลกันก็ดี ลมเหล่านี้ทำให้ร่างกายเป็นทุกข์ ทรุดโทรม เหนียวเหนอะหนะ จิตใจก็พลอยเศร้าหมอง เป็นทุกข์ เร่าร้อน หงุดหงิดรำคาญไปด้วย เพราะฉะนั้น ลมที่ทำให้จิตใจเศร้าหมองเป็นทุกข์นี้ ก็ได้ชื่อว่า เป็นปัจจัยให้เกิดโทมนัสสเวทนาได้ ธาตุลมที่เป็นไปในประสาทตา ประสาทหู ประสาทจมูก ประสาทลิ้น ที่หล่อเลี้ยงปสาทรูปเหล่านี้อยู่ หรือลมภายนอกที่ทำให้ประสาทรูปมีความสมดุลกัน ทำให้การรับรู้อารมณ์ทางทวารของตนเป็นไปโดยสะดวกก็ดี ลมภายนอกร่างกายที่พอเหมาะไม่ร้อนนักไม่เย็นนัก และธาตุลมภายในร่างกายที่เป็นปานกลางก็ดี ธาตุลมเหล่านี้ ย่อมได้ชื่อว่า เป็นปัจจัยทำให้เกิดอุเบกขาเวทนาได้

๒. ปิตตะสมุฏฐาน เวทนาเกิดเพราะน้ำดี หมายความว่า ถ้าน้ำดีของบุคคลเป็นไปโดยสม่ำเสมอ ย่อมทำให้ร่างกายมีความเป็นปกติ สุขเวทนาย่อมเกิดขึ้นได้ ถ้าน้ำดีกำเริบผิดปกติ ย่อมทำให้ร่างกายผิดปกติ ทุกขเวทนาย่อมเกิดขึ้นได้ เมื่อร่างกายเป็นปกติเพราะน้ำดีเป็นปกติ จิตใจก็พลอยแช่มชื่นเบิกบานด้วย เพราะฉะนั้น น้ำดีจึงเป็นปัจจัยสำคัญอย่างหนึ่งที่ทำให้เกิดโสมนัสสเวทนาได้ เมื่อร่างกายผิดปกติเพราะน้ำดีกำเริบผิดปกติ จิตใจก็พลอยเป็นทุกข์ หรือห่อเหี่ยว หงุดหงิดรำคาญ หรือเกิดวิปปลาส เป็นต้น เพราะฉะนั้น น้ำดีจึงเป็นปัจจัยให้เกิดโทมนัสสเวทนาได้

๓. เสมหะสมุฏฐาน เวทนาเกิดเพราะเสมหะ หมายความว่า ถ้าเสมหะในร่างกาย มีความเป็นไปโดยปกติ ร่างกายก็เป็นปกติ ทำให้เกิดสุขเวทนาได้ ถ้าเสมหะกำเริบผิดปกติเกิดขึ้นรบกวน ทำให้เกิดอาการไข้หวัด อาการไอ เจ็บคอ เป็นต้น ทุกขเวทนาย่อมเกิดขึ้นได้ เมื่อร่างกายเป็นปกติ เพราะเสมหะมีความเป็นปกติ จิตใจก็ปลอดโปร่งโล่งสบาย เบิกบานใจ ย่อมทำให้เกิดโสมนัสสเวทนาได้ เมื่อร่างกายผิดปกติ มีอาการอาพาธป่วยไข้ อันเนื่องมาจากเสมหะกำเริบผิดปกติ จิตใจก็พลอยหงุดหงิดรำคาญ ย่อมทำให้เกิดโทมนัสสเวทนาได้

๔. สันนิปาติกะสมุฏฐาน เวทนาเกิดเพราะไข้สันนิบาต หมายถึง อาการไข้ที่มีการสั่นเทิ้มชักกระตุกและเพ้อละเมอคร่ำครวญ เช่น ไข้สันนิบาตลูกนกไข้สันนิบาตหน้าเพลิง หรือมีอาการไอแห้ง มีเสมหะเกาะติดในลำคอหายใจไม่ค่อยออก มีอาการเหนื่อยหอบ เล็บมือเล็บเท้าออกสีเขียว นัยน์ตาออกสีเขียว มีกลิ่นตัวสาบสางดังกลิ่นสุนัข กลิ่นแพะ กลิ่นแร้ง หรือกลิ่นนกกา มักหงุดหงิดรำคาญโกรธง่าย อาการเหล่านี้ ก็เรียกว่า ไข้สันนิบาต ซึ่งเกิดจากธาตุในร่างกายมีความผิดปกติหรือเกิดความเสื่อมของธาตุดิน เป็นต้น อาการที่ปรากฏออกมาจึงมีหลากหลายชนิด การจับประเด็นนั้น ถ้าภาวะธาตุลมแสดงอาการกำเริบมาก ก็เรียกว่า ไข้สันนิบาตจากวาโยธาตุ ถ้าธาตุน้ำแสดงความพิการมาก ก็เรียกว่า ไข้สันนิบาตจากอาโปธาตุ เป็นต้น แต่ยังมีอีกหลายอาการที่ยังไม่ทราบว่า เป็นไข้สันนิบาตอะไร ดังนั้น เมื่อเกิดโรคไข้สันนิบาตอย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว ย่อมทำให้เกิดทุกขเวทนาทางกายได้ เมื่อร่างกายเกิดทุกขเวทนาแล้ว ย่อมทำให้จิตใจเกิดอาการหงุดหงิดรำคาญ และโกรธง่าย มีอาการแปรปรวน ย่อมทำให้เกิดโทมนัสสเวทนาไปด้วย

๕. อุตุวิปริณามะชา เวทนาเกิดเพราะฤดูเปลี่ยนแปลง หมายความว่า เมื่อเกิดความเปลี่ยนแปลงทางฤดูกาล เช่น จากฤดูร้อน มาเป็นฤดูฝน จากฤดูฝนไปเป็นฤดูหนาว ในขณะที่อากาศเปลี่ยนแปลงไปตามฤดูกาลเช่นนี้ ถ้าร่างกายมีความสมดุลกับฤดูใด ฤดูนั้นย่อมทำให้เกิดสุขเวทนาได้ ถ้าร่างกายไม่สมดุลกับฤดูใด ฤดูนั้นย่อมทำให้เกิดทุกขเวทนาได้ และเมื่อร่างกายเกิดสุขเวทนาเพราะความสมดุลกับฤดูแล้ว ย่อมทำให้จิตใจปลอดโปร่งแจ่มใสเบิกบาน ฤดูก็เป็นปัจจัยให้เกิดโสมนัสสเวทนาได้ และในทางตรงกันข้าม เมื่อร่างกายเกิดทุกขเวทนาเพราะความไม่สมดุลกับฤดู จิตใจย่อมเกิดอาการห่อเหี่ยว หรือหงุดหงิดรำคาญ ฤดูก็เป็นปัจจัยให้เกิดโทมนัสสเวทนาได้

๖. วิสะมะปริหาระชา เวทนาเกิดเพราะการบริหารร่างกายไม่สม่ำเสมอ หมายความว่า ถ้าบุคคลมีการบริหารร่างกายไม่สมดุลกันแล้ว ธาตุในร่างกาย ย่อมดำเนินไปไม่สม่ำเสมอ อาจเกิดอาการผิดปกติอย่างใดอย่างหนึ่ง หรือหลายอย่าง ทำให้เกิดทุกขเวทนาทางกายได้ เช่น อาการปวดเมื่อย เคล็ดขัดยอกตามร่างกาย เป็นต้น และเมื่อร่างกายเกิดทุกขเวทนาแล้ว จิตใจของบุคคลนั้น ก็พลอยหงุดหงิดรำคาญ ทำให้เกิดโทมนัสสเวทนาตามไปด้วย

๗. โอปักกะมิกะชา เกิดเพราะการทำความเพียร หมายความว่า เมื่อบุคคลทำความเพียรด้วยการบำเพ็ญตบะก็ดี ด้วยการเจริญสมถกรรมฐาน หรือ วิปัสสนากรรมฐานก็ดี ในอิริยาบถต่าง ๆ เมื่อบำเพ็ญอยู่ในอิริยาบถใดนาน ๆ ย่อมทำให้เกิดทุกขเวทนาทางกายได้ และเมื่อเปลี่ยนจากอิริยาบถเก่านั้นไปสู่อิริยาบถใหม่ ความทุกขกายย่อมคลายไป ทำให้เกิดสุขเวทนาได้ อนึ่ง บุคคลที่กระทำความเพียรด้วยจิตใจที่เด็ดเดี่ยว แม้จะเกิดทุกขเวทนาทางกายก็ดี หรือสุขเวทนาทางกายก็ดี ย่อมเกิดโสมนัสสเวทนา คือ ดีใจที่ได้เห็นทุกข์ปรากฏขึ้น หรือกำหนดดูทุกข์นั้นด้วยความวางเฉย ย่อมเกิดอุเบกขาเวทนาขึ้นได้ หรือกำหนดรู้ทุกข์ไม่ทัน เกิดความหงุดหงิดรำคาญใจในทุกขเวทนานั้น ย่อมเกิดโทมนัสสเวทนา คือ ไม่ชอบใจในทุกข์นั้นก็ได้

๘. กัมมะวิปากะชา เกิดเพราะผลของกรรมเจ.๗ หมายความว่า ถ้าผลของกรรมดีปรากฏทางกายทวาร กายวิญญาณจิตที่เกิดขึ้นรับรู้โผฏฐัพพารมณ์ที่ดีนั้น ย่อมเกิดพร้อมด้วยสุขเวทนา ถ้าผลของกรรมชั่วปรากฏทางกายทวาร กายวิญญาณจิตที่เกิดขึ้นรับรู้โผฏฐัพพารมณ์ที่ไม่ดีนั้น ย่อมเกิดพร้อมด้วยทุกขเวทนา อนึ่ง เมื่อบุคคลได้รับอารมณ์ที่ดียิ่งทางใจ ที่เรียกว่า อติอิฏฐารมณ์ ด้วยอำนาจกุศลกรรม [หรือผลของอกุศลที่เป็นปริกัปปอติอิฏฐารมณ์สำหรับบางคน] ย่อมทำให้เกิดโสมนัสสเวทนาได้ หรือได้รับอารมณ์ที่ดีระดับปานกลาง ที่เรียกว่า อิฏฐมัชฌัตตารมณ์ ด้วยอำนาจกุศลกรรม [หรือผลของอกุศลที่เป็นปริกัปปอิฏฐมัชฌัตตารมณ์สำหรับบางคน] ย่อมทำให้เกิดอุเบกขาเวทนาได้ หรือได้รับอารมณ์ที่ไม่ดี ที่เรียกว่า อนิฏฐารมณ์ [หรือผลของกุศลที่เป็นปริกัปปอนิฏฐารมณ์สำหรับบางคน] ย่อมทำให้เกิดโทมนัสสเวทนาได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |