| |
พระพุทธวจนะเกี่ยวกับถีนมิทธะ   |  

โมคคัลลานสูตร

[อุบายแก้ง่วง ๘ ประการ]

ครั้งหนึ่ง พระโมคคัลลานะได้ไปบำเพ็ญเพียรอยู่ที่บ้านกัลลวาลมุตตคาม หลังจากบรรพชาอุปสมบทได้ ๗ วัน ถูกถีนมิทธะครอบงำอย่างหนัก นั่งโงกง่วง ไม่สามารถเจริญภาวนาจิตให้เกิดขึ้นได้ พระพุทธองค์ทรงทราบเข้า จึงได้เสด็จไปประทานวิธีแก้ง่วงให้ โดยการสำเหนียก ๘ ประการ ดังนี้

๑. ให้มีสัญญาคือตั้งสติสัมปชัญญะความระลึกรู้สึกตัวไว้ให้มั่นคง โดยพระพุทธองค์ได้ตรัสว่า โมคคัลลานะ เพราะเหตุนั้นแล เมื่อเธอมีสัญญาอย่างไรอยู่ ความง่วงย่อมครอบงำได้ เธอพึงทำไว้ในใจซึ่งสัญญานั้นให้มาก

๒. ถ้ายังไม่หาย พึงระลึกถึงธรรมที่ได้ฟังมา นำมาพิจารณาใคร่ครวญอย่างลึกซึ้ง เพื่อบรรเทาความง่วงนั้นไปเรื่อย ๆ

๓. ถ้ายังไม่หาย พึงสาธยายบทธรรมที่ตนเองจำได้อย่างแม่นยำ และตั้งสติกำหนดพิจารณาธรรมนั้นอย่างลึกซึ้ง

๔. ถ้ายังไม่หาย พึงยอนช่องหูทั้งสองข้าง เอามือลูบตัวลูบศีรษะไปมา

๕. ถ้ายังไม่หาย ให้ลุกขึ้นยืน เอาน้ำล้างหน้าล้างตา เหลียวดูทิศทั้งหลาย แหงนดูดาวนักษัตรฤกษ์

๖. ถ้ายังไม่หาย ให้ทำในใจถึงอาโลกสัญญา คือ นึกถึงแสงสว่าง ถ้าเป็นเวลากลางคืนให้นึกว่า เป็นเวลากลางวัน โดยกำหนดว่า เวลากลางวันเป็นเช่นไร กลางคืนก็เป็นเช่นนั้น ทำใจให้สว่างปลอดโปร่งอยู่ตลอดเวลา

๗. ถ้ายังไม่หาย ให้เดินจงกรม กลับไปกลับมา สำรวมอินทรีย์ ดึงใจให้อยู่กับตัว ไม่ปล่อยใจให้คิดออกไปภายนอก

๘. ถ้ายังไม่หาย ให้สำเร็จสีหไสยาสน์ คือ นอนตะแคงเบื้องขวา ซ้อนเท้าเหลื่อมเท้า มีสติสัมปชัญญะ ทำความกำหนดหมายไว้ใจว่า เมื่อตื่นแล้วจะลุกขึ้นมาทำความเพียรต่อทันที เมื่อตื่นขึ้นแล้วพึงรีบลุกขึ้นทำความเพียรโดยไม่เห็นแก่นอน

จากข้อความข้างต้น พึงสำเหนียกพิจารณาและปฏิบัติไปตามลำดับ ไม่ควรนอนเสียทีเดียว ควรดำเนินการตามขั้นตอนข้างต้นเสียก่อน โดยเริ่มดำเนินตามขั้นตอนจากการตั้งสติเสียก่อน หากยังไม่หายง่วง ก็พึงพิจารณาธรรมฝ่ายกุศล สาธยายบทธรรม แล้วล้างหน้า มานั่งนึกถึงแสงสว่าง

แต่ถ้าไม่หาย จำเป็นต้องนอน ก็ต้องนอนหลับอย่างชาญฉลาด คือ ต้องหลับอย่างผู้มีปัญญา หลับอย่างบัณฑิต หลับแล้วจิตต้องบริสุทธิ์ด้วย คือ การหลับอย่างมีสติ นั่นเอง

นอกจากนี้ ในคัมภีร์ทีฆนิกาย มหาวรรคอรรถกา พระอรรถกถาจารย์ได้แสดงอุบายเครื่องละถีนมิทธะไว้ ๖ ประการ ดังต่อไปนี้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |