| |
วจีวิญญัติรูป   |  

ความหมายของวจีวิญญัติรูป

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและปรมัตถทีปนีรุ.๓๗๐ ท่านได้แสดงความหมายของวจีวิญญัติรูปไว้ดังต่อไปนี้

วจีวิญญัติรูป หมายถึง รูปที่ทำให้คนอื่นผู้ดำรงอยู่ในคลองแห่งโสตะสามารถรับรู้ตนและรู้ความมุ่งหมายของผู้มีรูปร่างได้ กล่าวคือ แสดงให้ปรากฏด้วยเสียงที่เป็นคำเปล่งออกมา ทั้งยังถูกคนอื่นรับรู้ด้วยเสียงนั้นด้วย

อีกนัยหนึ่ง วจีวิญญัติ หมายถึง วิญญัติที่เป็นไปทางวาจา กล่าวคือ เสียงที่เกิดจากจิต [เรียกว่า จิตตชรูป]

เมื่อสรุปแล้ว วจีวิญญัติ จึงหมายถึง วิญญัติที่เป็นวาจา ซึ่งเรียกว่า การพูดสื่อสาร

เพราะฉะนั้น เมื่อสรุปความแล้ว วจีวิญญัติมีความหมาย ๓ ประการคือ

๑. รูปที่ทำให้คนอื่นรับรู้ด้วยเสียง ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “วิญฺตฺติยา าเปยตีติ วิญฺตฺติ,วาจงฺเคน วิญฺตฺติ วจีวิญฺตฺติ” แปลความว่า รูปใดย่อมยังบุคคลอื่นให้รู้ด้วยการเคลื่อนไหว เพราะเหตุนั้น รูปนั้น จึงชื่อว่า วิญญัติรูป, การเคลื่อนไหวด้วยอวัยวะทางวาจา ชื่อว่า วจีวิญญัติ

๒. วิญญัติที่เป็นไปทางวาจา ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “วาจาย ปวตฺตา วิญฺตฺติ วจีวิญฺตฺติ” แปลความว่า การเคลื่อนไหวที่เป็นไปทางวาจา ชื่อว่า วจีวิญญัติ

๓. วิญญัติที่เป็นวาจา ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “วาจา เอว วิญฺตฺติ วจีวิญฺตฺติ” แปลความว่า การเคลื่อนไหวที่เป็นวาจานั่นแหละ ชื่อว่า วจีวิญญัติ

ในคัมภีร์อภิธัมมัตถสังคหะและอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีการุ.๓๗๑ ท่านได้แสดงความหมายของวจีวิญญัติรูปไว้ดังต่อไปนี้

ที่ชื่อว่า วจีวิญญัติ เพราะอรรถว่า ยังบุคคลอื่นให้รู้ความประสงค์ด้วยวาจา กล่าวคือ เสียงที่เป็นไปกับด้วยวิญญาณ และตนเองก็รู้ด้วยวาจานั้น

บทสรุปของผู้เขียน :

วจีวิญญัติรูป เป็นรูปที่แสดงอาการพิเศษ คือ การเคลื่อนไหววาจา เช่น การพูด การร้องเพลง ร้องไห้ การกระแอม เป็นต้น ซึ่งมีความหมาย ๓ ประการคือ

๑. รูปที่ทำให้คนอื่นรับรู้ด้วยเสียง หมายความว่า วจีวิญญัติรูปนี้เมื่อปรากฏเกิดขึ้นย่อมทำให้บุคคลอื่นรู้จักบุคคลที่เปล่งเสียงนั้นออกมาได้ว่า บุคคลนั้นเป็นใคร มีลักษณะนิสัยเป็นอย่างไร มีความประสงค์อะไร เป็นต้น

๒. วิญญัติที่เป็นไปทางวาจา หมายความว่า วิญญัติรูปนี้ย่อมเป็นรูปที่ปรากฏเกิดขึ้นทางวาจาโดยอาศัยอวัยวะปากเท่านั้น ไม่สามารถปรากฏโดยอาศัยอวัยวะอย่างอื่นที่นอกจากปากได้เลย ถ้าเกิดขึ้นทางทวารอื่น ก็ไม่เรียกว่า วจีวิญญัติ แต่เรียกว่า กายวิญญัติ เพราะฉะนั้น วจีวิญญัติรูปนี้ย่อมเป็นไปทางวาจาโดยอาศัยปากเท่านั้น

๓. วิญญัติที่เป็นวาจา หมายความว่า วจีวิญญัติรูปนี้ ก็คือ การเคลื่อนไหวปากที่ทำให้เกิดเสียงที่เปล่งออกมาทางวาจาหรือทางปากเท่านั้น ถ้าไม่ได้เปล่งออกมาทางวาจาหรือทางปากแล้ว ก็ไม่เรียกว่า วจีวิญญัติรูป แต่เรียกเป็นรูปอย่างอื่น มีกายวัญญัติรูป เป็นต้น หรือเป็นเสียงที่เกิดจากอุตุ เช่น เสียงผายลม เสียงเสียดสีของร่างกาย หรือเสียงฟ้าร้องฟ้าผ่า เป็นต้น

วจนัตถะ [คำจำกัดความ] ของวจีวิญญัติรูป

พระอาจารย์สัทธัมมโชติกะ ธัมมาจริยะ และอาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๓๗๒ ได้แสดงความหมายและวจนัตถะของวจีวิญญัติรูปไว้ดังต่อไปนี้

วจีวิญญัติ หมายถึง รูปที่เป็นอาการพิเศษที่ทำให้รู้ความประสงค์ทางวาจา ดังมีวจนัตถะแสดงว่า “วจิยา วิญฺตฺติ = วจีวิญฺตฺติ” แปลความว่า อาการพิเศษที่ทำให้รู้ความประสงค์ด้วยการพูด ชื่อว่า วจีวิญญัติ

บทสรุปของผู้เขียน :

ตามวจนัตถะที่ท่านแสดงไปแล้วนั้น สามารถสรุปความหมายแห่งวจนัตถะของ วจีวิญญัติรูปได้ดังนี้

วจีวิญญัติรูป เป็นรูปที่แสดงอาการพิเศษ คือ การเคลื่อนไหววาจา เช่น การพูด การร้องเพลง การร้องไห้ การกระแอม การไอ เป็นต้น ซึ่งเป็นรูปที่แสดงอาการพิเศษที่ทำให้บุคคลอื่นรู้ความประสงค์ของตนด้วยการพูดหรือการเปล่งเสียงออกมาทางวาจาหรือทางปากโดยอาศัยฐานกรณ์เครื่องทำเสียง มีฟันและลิ้น เป็นต้นนั่นเอง

คุณสมบัติพิเศษของวจีวิญญัติรูป

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๓๗๓ ได้แสดงคุณลักษณะพิเศษของวจีวิญญัติรูปไว้ดังต่อไปนี้

๑. วิญฺาปนลกฺขณา มีการแสดงให้รู้ความหมายด้วยการไหววาจา เป็นลักษณะ

๒. อธิปฺปายปกาสนรสา มีการแสดงความหมายให้รู้ถึงความประสงค์ เป็นกิจ

๓. วจีโฆสเหตุภาวปจฺจุปฏฺานา มีความเป็นเหตุให้เปล่งวาจา เป็นอาการปรากฏ

๔. จิตฺตชสมุฏฺานปถวีธาตุปทฏฺานา มีปถวีธาตุ ซึ่งมีจิตเป็นสมุฏฐาน เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

จากคุณสมบัติพิเศษทั้ง ๔ ประการของวจีวิญญัติรูปที่ท่านได้แสดงไปแล้วนั้น ผู้เขียนขออธิบายขยายความหมายเพิ่มเติ่ม เพื่อความเข้าใจรายละเอียดของคุณสมบัติแต่ละอย่างเหล่านั้นให้ยิ่งขึ้น ดังต่อไปนี้

๑. วิญฺาปนลกฺขณา มีการแสดงให้รู้ซึ่งเครื่องหมายด้วยการไหววาจา เป็นลักษณะ หมายความว่า วจีวิญญัติรูปนี้ย่อมเป็นรูปที่แสดงให้รู้ถึงเครื่องหมายของตนด้วยการเคลื่อนไหววาจาเป็นลักษณะอันเป็นคุณสมบัติเฉพาะตน นี้เป็นการแสดงโดยอุปจารนัย คือ นัยโดยอ้อมเท่านั้น เพราะสภาพแห่งวจีวิญญัติรูปนี้เป็นรูปธรรมที่ไม่มีสภาวะเป็นของตนเองอยู่โดยเฉพาะ เป็นเพียงอาการไหวของนิปผันนรูปเท่านั้น หรือจะพูดให้เข้าใจง่าย ก็คือ เป็นอาการไหวของวาจาโดยมีเสียงเปล่งออกมา ซึ่งเกิดขึ้นด้วยอำนาจจิตที่มีความประสงค์จะเปล่งเสียงออกมานั่นเอง และวจีวิญญัติรูปนี้เป็นรูปธรรมซึ่งมีสภาพเป็น อัพยากตธรรมคือไม่มีความขวนขวายเพื่อจะแสดงความประสงค์อย่างใดอย่างหนึ่งให้เกิดขึ้นด้วยตนเอง และเป็นอจิตตกะ คือ ไม่มีเจตนาที่จะจงใจหรือกระตุ้นเตือนให้เกิดการแสดงปฏิกิริยาอย่างใดอย่างหนึ่งออกมาด้วยตนเองได้ อาการไหวหรือการเปล่งเสียงออกมานี้ ย่อมเกิดขึ้นและเป็นไปด้วยอำนาจของจิตที่เป็นผู้มีความประสงค์จะไหวหรือเคลื่อนไหววาจา กล่าวคือ มีความต้องการพูด ร้องไห้ ร้องเพลง เป็นต้น และกระตุ้นให้เกิดปฏิกิริยาการไหวของวาจานั้นออกมาเท่านั้น วจีวิญญัติรูปนี้จึงเป็นรูปที่เกิดด้วยอำนาจของจิตอย่างเดียว เรียกว่า จิตตชรูป เพราะฉะนั้น บุคคลที่ไม่มีจิต ย่อมไม่สามารถเคลื่อนไหววาจา คือ การพูดออกมาได้ ได้แก่ อสัญญสัตตพรหม คือ พรหมที่ไม่มีจิตเกิด มีแต่รูปเกิดอย่างเดียว จึงไม่สามารถไหววาจาหรือเปล่งเสียงออกมาได้เลย และการเคลื่อนไหววาจานั้น จะต้องอาศัยอวัยวะแห่งร่างกายคือปาก เป็นช่องทางเปล่งเสียงออกมา ส่วนบุคคลผู้ไม่มีรูปร่างกาย ได้แก่ อรูปพรหมทั้งหลาย ย่อมไม่สามารถไหวหรือเคลื่อนไหววาจาได้เช่นเดียวกัน ด้วยเหตุนี้ จึงสรุปได้ว่า บุคคลที่จะสามารถไหววาจาหรือเปล่งเสียงออกมาได้นั้น จะต้องมีทั้งรูปธรรมและนามธรรมอย่างสมดุลกัน ได้แก่ สัตว์ที่เกิดในปัญจโวการภูมิ ๒๖ คือ อบายภูมิ ๔ กามสุคติภูมิ ๗ และรูปภูมิ ๑๕ [เว้นอสัญญสัตตภูมิ ๑] เท่านั้นนั่นเอง

๒. อธิปฺปายปกาสนรสา มีการประกาศเครื่องหมายให้รู้ความประสงค์ เป็นกิจ หมายความว่า วจีวิญญัติรูปนี้เมื่อปรากฏเกิดขึ้นแล้ว ย่อมทำหน้าที่ในการประกาศเครื่องหมายให้รู้ความประสงค์ของตนว่า บุคคลนั้นมีความประสงค์อย่างไร ด้วยการทำให้วาจาไหวหรือทำให้เสียงเปล่งออกมาทางปากหรืออวัยวะที่เกี่ยวเนื่องกับการเปล่งเสียงทางปาก นี้เป็นการแสดงโดยอุปจารนัย คือ นัยโดยอ้อม เพราะวจีวิญญัติรูปนี้มีสภาพเป็นอัพยากตธรรมและเป็นอจิตตกะดังกล่าวแล้ว และเป็นเพียงอาการไหวหรืออาการเคลื่อนไหวของวาจาเท่านั้น ไม่มีสภาวะเป็นของตนเองโดยเฉพาะ เพราะฉะนั้น วจีวิญญัติรูปนี้ย่อมไม่สามารถแสดงปฏิกิริยาใด ๆ ด้วยตนเองได้ ต้องอาศัยจิตอันเป็นสมุฏฐานเป็นตัวกระตุ้นให้อวัยวะของร่างกายอันเป็นนิปผันนรูปที่มีความสมดุลกันให้เกิดการไหวหรือการเคลื่อนไหวของเสียงเปล่งออกมาทางปากหรืออวัยวะที่เกี่ยวเนื่องกับปาก ถ้าไม่มีจิตและไม่มีรูปร่างกายที่เป็นนิปผันนรูปที่มีความสมดุลกันแล้ว วจีวิญญัติรูปนี้ย่อมไม่สามารถไหวหรือเคลื่อนไหวคือการเปล่งเสียงออกมาได้เลย ด้วยเหตุนี้ หน้าที่ของวจีวิญญัติรูปดังกล่าวนี้ จึงเป็นหน้าที่อันสำเร็จมาแต่คุณสมบัติ ที่เรียกว่า สัมปัตติรส เท่านั้น ไม่ใช่หน้าที่ที่มีความขวนขวายที่จะกระทำ ที่เรียกว่า กิจจรส แต่ประการใด

๓. วจีโฆสเหตุภาวปจฺจุปฏฺานา มีความเป็นเหตุให้เปล่งวาจา เป็นผลปรากฏ หมายความว่า ผลปรากฏอันสำเร็จมาจากหน้าที่อันเป็นคุณสมบัติ ที่เรียกว่า สัมปัตติรส ของวจีวิญญัติรูปนี้ ก็คือ อาการไหวของวาจา คือ การเปล่งเสียงออกมาทางปากหรืออวัยวะที่เกี่ยวเนื่องกับปาก ที่เป็นฐานกระทำเสียงออกมาเป็นวาจา โดยมีจิตเป็นตัวกระตุ้นและมีรูปร่างกายที่เป็นนิปผันนรูปเป็นฐานให้เปล่งเสียงออกมาดังกล่าวแล้ว

๔. จิตฺตชสมุฏฺานปถวีธาตุปทฏฺานา มีปถวีธาตุ ซึ่งมีจิตเป็นสมุฏฐาน เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า วจีวิญญัติรูปนี้จะปรากฏเกิดขึ้นได้ จะต้องมีปถวีธาตุ คือ ธาตุดินซึ่งมีสภาพแข็งที่เป็นองค์ประกอบหลักของร่างกาย มีจิตเป็นตัวกระตุ้นให้ปถวีธาตุนั้นเกิดการไหวตัว และมีนิปผันนรูปอันเป็นรูปร่างกายที่มีความสมดุลพร้อมที่จะให้เกิดการเปล่งเสียงได้เป็นฐานในการแสดงอาการของวจีวิญญัติรูปนี้ กล่าวคือ การเปล่งเสียงต่าง ๆ ออกมาได้ ถ้าขาดปัจจัยเหล่านี้แล้ว วจีวิญญัติรูปนี้ย่อมไม่สามารถปรากฏเกิดขึ้นได้เลย


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |