| |
ปณามคาถานี้เมื่อจำแนกบทโดยสามัญแล้ว มี ๖ บท คือ   |  

๑. สัมมาสัมพุทธัง แปลว่า ผู้ตรัสรู้ชอบโดยพระองค์เอง หมายความว่า เป็นผู้ตรัสรู้เญยยธรรมทั้งปวงโดยพระองค์เองอย่างถูกต้องและถ้วนถี่ ได้แก่ พระสัมมาสัมพุทธเจ้าจำพวกเดียวเท่านั้น ซึ่งเป็นการปฏิเสธพุทธะ ๒ ประเภท คือ พระปัจเจกพุทธะและพระสาวกพุทธะ

๒. อะตุลัง แปลว่า หาผู้เปรียบปานมิได้ หมายความว่า ในสมัยหนึ่ง ๆ นั้น พระปัจเจกพุทธเจ้า หรือพระสาวกพุทธเจ้านั้น สามารถอุบัติขึ้นได้หลาย ๆ องค์ ไม่จำกัด แต่พระสัมมาสัมพุทธเจ้านั้น จะอุบัติขึ้นในสมัยเดียวกัน ตั้งแต่ ๒ พระองค์ขึ้นไปนั้นไม่มี มีได้เพียงสมัยละ ๑ พระองค์เท่านั้น ฉะนั้น จึงทรงพระนามว่า อตุละ แปลว่า หาผู้เปรียบปานมิได้ หรือ หาผู้เสมอเหมือนมิได้

๓. สะสัทธัมมะคะณุตตะมัง แปลว่า พร้อมด้วยพระสัทธรรมและคณะ พระอริยะสงฆ์เจ้าทั้งหลายซึ่งเป็นผู้อุดมแล้ว หมายความว่า เป็นการนอบน้อมทั้งคุณพระสัทธรรม ๓ ประการและหมู่แห่งพระอริยะสาวก ๔ คู่ ๘ บุคคล ซึ่งเป็นผู้อุดมด้วยคุณทั้งหลาย มีศีลคุณ สมาธิคุณ ปัญญาคุณ เป็นต้น

๔. อะภิวาทิยะ เป็นคำนอบน้อมพระรัตนตรัยด้วยบทว่า “สัมมาสัมพุทธะมะตุลัง สะสัทธัมมะคะณุตตะมัง” นั่นเอง

๕. ภาสิสสัง เป็นคำรับรองว่าจะแต่งคัมภีร์ให้สำเร็จตามที่ได้ให้ปฏิญญาไว้ให้จงได้ ไม่ว่าจะประสบปัญหาอุปสรรคใด ๆ ก็ตาม ก็ไม่ย่อมย่อท้อเป็นอันขาด

๖. อะภิธัมมัตถะสังคะหัง หมายถึง ปกรณ์ที่ท่านพระอนุรุทธาจารย์ให้คำรับรองไว้ว่าจะแต่งนั้น ก็ได้แก่ อภิธัมมัตถสังคหปกรณ์ นี้เอง ซึ่งเป็นปกรณ์ที่รวบรวมเนื้อหาสาระที่อยู่ในอภิธรรม ๗ คัมภีร์ อันได้แก่ สังคณี วิภังค์ ธาตุกถา ปุคคลบัญญัติ กถาวัตถุ ยมก และปัฏฐานนั้นมาจัดเป็นหมวดหมู่ย่อให้เข้าใจได้โดยง่าย เพื่อสะดวกแก่อนุชนคนรุ่นหลังซึ่งมีสติปัญญาลดน้อยลง จะได้ทำการศึกษาและจดจำได้ง่ายขึ้น


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |