| |
โมหมูลจิต   |  

โมหมูลจิต หมายถึง จิตที่มีสภาพหลงไปจากเหตุผลตามความเป็นจริง หรือหลงไปจากรูปนามตามความเป็นจริง หมายความว่า เป็นสภาพจิตที่ไม่สามารถรู้สภาวธรรมตามความเป็นจริงอย่างถูกต้องนั่นเอง เพราะอำนาจแห่งอวิชชาที่ฝังแน่นอยู่ในขันธสันดานมาเป็นเวลายาวนานในสังสารวัฏฏ์ จึงทำให้บุคคลและสัตว์ทั้งหลายหลงใหลมัวเมา หรืองมงาย ไปในสิ่งที่ไม่เป็นสาระ คิดว่าเป็นสาระ แต่สิ่งที่เป็นสาระ กลับมองเป็นว่า ไม่เป็นสาระ จึงทำให้เกิดสภาพมืดมนในจิตใจ อยู่เช่นนั้น ตราบเท่าที่ยังไม่รู้เหตุผลตามความเป็นจริง และตราบเท่าที่ยังไม่สามารถทำลายอวิชชานั้นให้หมดไปได้ ซึ่งโมหะหรืออวิชชานี้มีความหมายดังต่อไปนี้

๑. มุฬหะ แปลว่า ความหลงใหล หมายความว่า เป็นสภาพที่หลงไปจากสภาวะที่เป็นความจริง ทั้งที่เป็นสมมติสัจจะและปรมัตถสัจจะ หลงใหลไปในสิ่งที่ไม่เป็นสาระ ไม่เป็นประโยชน์

๒. มุยหะ แปลว่า ความเขลา หมายความว่า เมื่อบุคคลถูกโมหะเข้าครอบงำแล้ว ทำให้เป็นคนเขลา ไม่รู้ว่าอะไรผิด อะไรถูก อะไรควร อะไรไม่ควร เป็นต้น

๓. นิมุคคะ แปลว่า จมลง หมายความว่า เมื่อบุคคลถูกโมหะเข้าครอบงำแล้ว ย่อมทำให้เป็นคนที่จมปลักอยู่ในความคิดที่ไม่รอบคอบ ไม่เป็นสาระ ไม่สร้างสรรค์ ไม่แยบคาย หรือจมปลักอยู่ในการทำ การพูด การคิด ที่ไม่เป็นประโยชน์

๔. อเฉกะ แปลว่า ความไม่ฉลาด หมายความว่า เมื่อบุคคลถูกโมหะเข้าครอบงำแล้ว ทำให้เป็นผู้ไม่ฉลาดในการที่จะทำสิ่งที่เป็นประโยชน์ให้เกิดขึ้น มุ่งหน้าไปสนใจทำแต่สิ่งที่ไม่เป็นประโยชน์ หรือไม่สามารถปรับจิตใจให้เป็นกุศลได้

๕. อญาณะ แปลว่า ความไม่รู้ หมายความว่า เมื่อบุคคลถูกโมหะเข้าครอบงำแล้ว ย่อมมีสภาพที่โง่งมงายไม่รู้สรรพสิ่งทั้งปวงตามความเป็นจริง แต่รู้ไปโดยประการอื่น ที่ตรงกันข้ามกับความเป็นจริง

๖. อโกสัลละ แปลว่า ความไม่เชี่ยวชาญ หมายความว่า เมื่อบุคคลถูกโมหะเข้าครอบงำแล้ว ย่อมทำให้เป็นผู้ไม่เชี่ยวชาญในการที่จะทำความดี และไม่เชี่ยวชาญในการที่จะหลีกเว้นจากความชั่ว ไม่เชี่ยวชาญในการที่หาแนวทางการดำเนินชีวิตที่ถูกต้องตามทำนองคลองธรรมได้

๗. อวิชชา แปลว่า ความไม่รู้แจ้ง หมายความว่า เมื่อบุคคลถูกโมหะเข้าครอบงำแล้ว ย่อมทำให้ตกอยู่ในสภาพที่ไม่รู้กระจ่างแจ้งในสภาพธรรมทั้งปวงตามความเป็นจริง มัวเมาไปแต่ในสภาพที่ไม่เป็นความจริง

๘. อัปปฏิเวธะ แปลว่า ความไม่แทงตลอด หมายความว่า เมื่อบุคคลถูกโมหะเข้าครอบงำแล้ว ทำให้บุคคลนั้นไม่สามารถรู้แจ้งแทงตลอดในสภาพของรูปนามที่เป็นจริง คือ ไม่เข้าถึงสภาพความเป็นอนิจจัง ทุกขัง อนัตตาของสังขตธรรมทั้งปวงได้ ย่อมมัวเมาไปตามกระแสโลกกระแสสังคมหรือกระแสกิเลสอยู่เสมอ

๙. อันธการะ แปลว่า ทำให้มืดมน หมายความว่า เมื่อสภาพของโมหะเกิดขึ้นแก่บุคคลใดแล้ว ย่อมทำให้จิตใจของบุคคลนั้นมืดบอดจากแสงสว่างคือปัญญาโดยสิ้นเชิง ทำให้เห็นผิดเป็นชอบ เห็นสิ่งที่ไม่ควรว่าควร เป็นต้น

๑๐. อนาโลกะ แปลว่า ความไม่สว่าง หมายความว่า เมื่อบุคคลถูกโมหะเข้าครอบงำแล้ว ทำให้เป็นคนมีอาการเซื่องซึม อึมครึม มัวซัวไม่สดใส ไม่สว่างรุ่งเรือง ไม่องอาจกล้าหาญ ไร้จุดหมายปลายทางที่จะดำเนินไปสู่หนทางที่ดีที่เจริญได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |