| |
อาโป ๔ ประเภท   |  

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวี อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์รุ.๗๖ ได้กล่าวถึงอาโปธาตุหรือธาตุน้ำว่า มี ๔ ประเภท คือ

๑. ปรมัตถอาโป หรือ ลักขณอาโป หมายถึง อาโปธาตุที่มีลักษณะ ๒ อย่าง ได้แก่ อาโปธาตุที่ไหลไปได้ เรียกว่า ปัคฆรณอาโป และอาโปธาตุที่เกาะกุมกันเป็นกลุ่มก้อน เรียกว่า อาพันธนอาโป ซึ่งลักษณะไหลหรือเกาะกุมของอาโปธาตุนี้ เป็นสภาวลักษณะที่สามารถรู้ได้ด้วยใจเท่านั้น ไม่สามารถรู้ได้โดยทวารอื่น เช่น จะเห็นด้วยตา หรือสัมผัสด้วยกาย เป็นต้นไม่ได้แต่ประการใด

๒. สสัมภารอาโป หรือ สุตตันตอาโป คือ ธาตุน้ำที่เป็นส่วนประกอบของร่างกาย มี ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น เป็นต้น หรือเป็นส่วนประกอบในพืชผักผลไม้ต่าง ๆ อันมีมาในพระสูตร จึงเรียกว่า สุตตันตอาโป อาโปธาตุตามความหมายนี้ มี ๒ อย่าง คือ

๒.๑ อัชฌัตติกอาโป คือ ธาตุน้ำภายในสิ่งมีชีวิต หมายถึง ธาตุน้ำที่มีอยู่ทั่วไปในร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย ในมหาหัตถิปโทปมสูตรและธาตุวิภังคสูตรรุ.๗๗ มีแสดงไว้ ๑๒ ประการ คือ

เมทฉักกะ มุตตฉักกะ ๑. ปิตตัง น้ำดี ๒. เสมหัง เสลด ๓. ปุพโพ น้ำหนอง ๔. โลหิตัง เลือด ๕. เสโท เหงื่อ ๖. เมโท มันข้น ๗. อัสสุ น้ำตา ๘. วสา มันเหลว ๙. เขโฬ น้ำลาย ๑๐. สิงฆาณิกา น้ำมูก ๑๑. ลสิกา ไขข้อ ๑๒. มุตตัง น้ำมูตร

๒.๒ พาหิรอาโป หรือ พหิทธอาโป คือ ธาตุน้ำภายนอก หมายถึง ธาตุน้ำที่มีอยู่ในสิ่งอื่น ๆ ที่นอกจากร่างกายของสัตว์มีชีวิตทั้งหลาย ในธาตุวิภังคสูตรรุ.๗๘ มีแสดงไว้มากมาย แต่จะนำมาแสดงไว้โดยสังเขปในที่นี้เพียง ๖ ประการ ได้แก่

๑. มูลรโส น้ำจากรากไม้ ๒. ขันธรโส น้ำจากลำต้น ๓. ตจรโส น้ำจากเปลือกไม้ ๔. ปัตตรโส น้ำจากใบไม้ ๕. ปุปผรโส น้ำจากดอกไม้ ๖. ผลรโส น้ำจากผลไม้

นอกจากนี้ ยังมีธาตุน้ำอื่น ๆ เช่น น้ำค้าง น้ำฝน เป็นต้น

๓. กสิณอาโป หรือ อารัมมณอาโป คือ น้ำที่เป็นอารมณ์ของพระโยคาวจรใช้เพ่ง ในการเจริญสมถกัมมัฏฐาน คือ อาโปกสิณ ได้แก่ น้ำในอ่าง น้ำในขัน หรือน้ำในบ่อ น้ำในสระ หรือน้ำในแม่น้ำลำคลอง เป็นต้น ที่ใช้เพ่งเพื่อให้เกิดนิมิตและสมาธิต่าง ๆ จนถึงฌาน

๔. สมมุติอาโป หรือ ปกติอาโป คือ น้ำต่าง ๆ ที่สมมติเรียกกันตามปกติ เช่น น้ำในแม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง เป็นต้น หรือน้ำในภาชนะที่ใช้อาบ ใช้ดื่ม ใช้อุปโภคบริโภคต่าง ๆ เป็นต้น เรียกว่า สมมุติอาโป คือ น้ำตามปกติสมมุติ

เพราะฉะนั้น ความหมายของอาโป คือ ธาตุน้ำนี้ จึงมีความหมายเป็น ๔ ประการ แตกต่างกันออกไป กล่าวคือ ปรมัตถอาโป หรือ ลักขณอาโป อย่างหนึ่ง สสัมภารอาโป หรือ สุตตันตอาโป อย่างหนึ่ง กสิณอาโป หรือ อารัมมณอาโป อย่างหนึ่ง และ สมมุติอาโป หรือ ปกติอาโป อย่างหนึ่ง มิใช่ว่าจะมีความหมายเพียงน้ำที่ใช้อุปโภคบริโภคของมนุษย์และสัตว์ทั้งหลายเท่านั้น

บทสรุปของผู้เขียน :

อาโปธาตุมี ๔ ประเภท คือ

๑. ปรมัตถอาโป หรือ ลักขณอาโป หมายถึง อาโปธาตุที่มีลักษณะ ๒ อย่าง คือ อาโปธาตุที่ไหลไปได้ เรียกว่า ปัคฆรณอาโป และอาโปธาตุที่เกาะกุมกันเป็นกลุ่มก้อน เรียกว่า อาพันธนอาโป ซึ่งสภาวลักษณะไหลหรือเกาะกุมของอาโปธาตุนี้ เป็นสภาวะลักษณะที่สามารถรู้ได้ด้วยใจเท่านั้น ไม่สามารถรู้ได้โดยทวารอื่น เช่น จะเห็นด้วยตา หรือสัมผัสด้วยกาย เป็นต้นไม่ได้แต่ประการใด

๒. สสัมภารอาโป หรือ สุตตันตอาโป คือ ธาตุน้ำที่เป็นส่วนประกอบของร่างกาย มี ดี เสลด หนอง เลือด เหงื่อ มันข้น เป็นต้น หรือเป็นส่วนประกอบในพืชผักผลไม้ต่าง ๆ อันมีมาในพระสูตร จึงเรียกว่า สุตตันตอาโป อาโปธาตุตามความหมายนี้ มี ๒ อย่าง คือ

๒.๑ อัชฌัตติกอาโป ธาตุน้ำภายในสิ่งมีชีวิต หมายถึง ธาตุน้ำที่มีอยู่ทั่วไปในร่างกายของสัตว์ทั้งหลาย ในธาตุวิภังคสูตรรุ.๗๙ มีแสดงไว้ มี ๑๒ ประการ ตามที่กล่าวแล้ว

๒.๒ พาหิรอาโป หรือ พหิทธอาโป คือ ธาตุน้ำภายนอก หมายถึง ธาตุน้ำที่มีอยู่ในสิ่งอื่น ๆ ภายนอกร่างกายของสัตว์มีชีวิตทั้งหลาย ในธาตุวิภังคสูตรรุ.๘๐ มีแสดงไว้มากมาย ตามที่กล่าวไว้แล้ว

นอกจากนี้ ยังมีธาตุน้ำที่อยู่ในสิ่งอื่น ๆ เช่น น้ำค้าง น้ำฝน เป็นต้น

๓. กสิณอาโป หรือ อารัมมณอาโป คือ น้ำที่เป็นอารมณ์ของพระโยคาวจรใช้เพ่ง ในการเจริญสมถกัมมัฏฐาน คือ อาโปกสิณ ได้แก่ น้ำในอ่าง น้ำในขัน หรือน้ำในบ่อ น้ำในสระ หรือน้ำในแม่น้ำลำคลอง เป็นต้น ที่ใช้เพ่งเพื่อให้เกิดนิมิตและสมาธิต่าง ๆ จนถึงฌาน

๔. สมมุติอาโป หรือ ปกติอาโป คือ น้ำต่าง ๆ ที่สมมติเรียกกันตามปกติ เช่น น้ำในแม่น้ำ ห้วย หนอง คลอง บึง เป็นต้น หรือน้ำในภาชนะที่ใช้อาบ ใช้ดื่ม ใช้อุปโภคบริโภคต่าง ๆ เป็นต้น เรียกว่า สมมุติอาโป คือ น้ำตามปกติที่สมมุติเรียกกัน


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |