ไปยังหน้า : |
กายวิญญาณจิต ๒ ดวงนั้น จิตที่เป็นอกุศลวิบากเกิดพร้อมด้วยทุกขเวทนา ส่วนจิตที่เป็นกุศลวิบากนั้นเกิดพร้อมด้วยสุขเวทนา ส่วนวิญญาณจิตทางทวารอื่น ได้แก่ จักขุวิญญาณจิต ๒ โสตวิญญาณจิต ๒ ฆานวิญญาณจิต ๒ และชิวหาวิญญาณจิต ๒ นั้น ล้วนแต่เกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนาทั้งสิ้น ทั้งที่เป็นอกุศลวิบากก็ดี และกุศลวิบากก็ดี ที่เป็นเช่นนี้ เป็นเพราะการกระทบกับระหว่างอารมณ์กับทวารนั้น มีความแตกต่างกัน นั่นเอง คือ
การกระทบกันระหว่างกายประสาทกับโผฏฐัพพารมณ์นั้น เป็นการกระทบกันระหว่างอุปาทายรูปกับมหาภูตรูป ซึ่งเป็นรูปเบากับรูปหนักกระทบกัน หมายความว่า กายปสาทรูปซึ่งเป็นกายทวารนั้น เป็นอุปาทายรูป คือ รูปที่อาศัยมหาภูตรูปเกิด เป็นรูปที่มีความเบา ส่วนโผฏฐัพพารมณ์นั้น ได้แก่ มหาภูตรูป ๓ รูป คือ ปฐวี ธาตุดิน เตโช ธาตุไฟ วาโย ธาตุลม ซึ่งเป็นรูปหนักและเป็นที่อาศัยเกิดของอุปาทายรูป ทั้งหมด ฉะนั้น การกระทบนั้นจึงทำให้มีความหนักหน่วงพอที่จะทำให้เกิดทุกขเวทนาหรือสุขเวทนาได้ คือ ถ้าโผฏฐัพพารมณ์นั้น มีปถวีธาตุอยู่หนาแน่นมาก ทำให้มีน้ำหนักมาก จึงเกิดการกระทบกันรุนแรง เช่น เอาไม้หรือเหล็กตีที่ร่างกายคนหรือสัตว์ กลายเป็นอนิฏฐารมณ์ทางกายทวาร จึงทำให้เกิดทุกขเวทนา แต่ถ้าโผฏฐัพพารมณ์นั้น มีปถวีธาตุอยู่เบาบางไม่หนาแน่นมากนัก เช่น เอาเสื้อผ้าสวมใส่เข้าที่ร่างกายก็ดี หรือได้อาบน้ำเย็น ๆ ก็ดี หรือ ลมเย็น ๆ พัดมาถูกต้องกาย เป็นต้นก็ดี ย่อมกลายเป็นอิฏฐารมณ์ทางกายทวาร ทำให้เกิดสุขเวทนาได้ ฉะนั้น ทางกายทวารนี้ท่านจึงเปรียบเหมือนค้อนกระทบกับสำลี ซึ่งค้อนนั้นเปรียบได้กับโผฏฐัพพารมณ์ ซึ่งเป็นรูปหนัก ส่วนสำลีนั้นเปรียบได้กับกายปสาทรูป ซึ่งเป็นรูปเบา เมื่อเอาค้อนตีเข้าที่สำลีซึ่งวางอยู่กับพื้น แรงกระทบของค้อนนั้น ย่อมล่วงเลยสำลีไปกระทบกับพื้น ทำให้มีอาการหนักหน่วง จึงทำให้เกิดเสียงดังมากหรือดังน้อย ขึ้นอยู่กับการลงค้อนหนักหรือเบา ข้อนี้ฉันใด เมื่อโผฏฐัพพารมณ์ที่มีน้ำหนักมาก กระทบกับกายปสาทเข้า ทำให้เกิดการกระทบกันรุนแรง เพราะเลยไปกระทบกับมหาภูตรูปที่กายปสาทอาศัยอยู่ จึงทำให้เกิดเป็นทุกขเวทนา แต่ถ้าโผฏฐัพพารมณ์นั้น มีน้ำหนักน้อย เมื่อกระทบกับกายปสาทเข้า ก็ทำให้เกิดการกระทบที่ไม่รุนแรงนัก จึงทำให้เกิดสุขเวทนา [คือทุกข์น้อยไปนั่นเอง]
ส่วนการกระทบกันทางทวารอื่น มีรูปารมณ์กับจักขุประสาท เป็นต้นนั้น เป็นการกระทบที่เบา ไม่หนักหน่วง เพราะเป็นการกระทบกันระหว่างอุปาทายรูปกับอุปาทายรูปด้วยกัน หมายความว่า จักขุปสาทกับรูปารมณ์ก็ดี โสตปสาทกับสัททารมณ์ก็ดี ฆานปสาทกับคันธารมณ์ก็ดี หรือชิวหาปสาทกับรสารมณ์ก็ดี ล้วนแต่เป็นอุปาทายรูป คือ รูปเบาด้วยกันทั้งสิ้น ฉะนั้น เมื่อรูปเบากับรูปเบากระทบกัน จึงเป็นการกระทบที่ไม่รุนแรงนัก ทำให้เกิดเพียง อุเบกขาเวทนา เท่านั้น ด้วยเหตุนี้ ท่านจึงเปรียบเหมือนสำลีกระทบกับสำลี เพราะสำลีนั้นมีน้ำหนักน้อย เมื่อลอยมากระทบกันเองก็ดี หรือถูกจับทุ่มใส่กันก็ดี แรงกระทบจึงไม่หนักหน่วงมากนัก เนื่องจากเป็นของเบา มีน้ำหนักน้อย ปถวีธาตุในสำลีนั้น มีความแข็งน้อยเกินไปที่จะทำให้เกิดการกระทบที่รุนแรงได้