| |
ความต่างกันระหว่างบุญกับกุศล   |  

ดังได้กล่าวมาแล้วว่า กุศล หมายถึง สภาพธรรมที่ทำให้บาปธรรมหวั่นไหว หรือ สภาพธรรมที่ทำลายบาปธรรมอันบัณฑิตทั้งหลายพึงรังเกียจให้หมดไป ส่วนคำว่า บุญ นั้น หมายถึง การกระทำที่เป็นไปเพื่อการชำระสันดานของตนให้ขาวสะอาด กุศลและบุญทั้ง ๒ อย่างนี้ มีอรรถที่เป็นไปในทำนองเดียวกัน แต่มีสภาพที่ต่างกันบ้าง คือ กุศลนั้นเป็นสภาพที่ปรากฏเกิดขึ้นในจิตใจก่อน โดยทำการชำระบาปธรรมในจิตใจให้หมดไปเป็นเบื้องต้น เพื่อจะเป็นฐานรองรับความสะอาดที่เป็นสภาพของบุญนั้นเข้าไปแทนที่ในจิตใจ หรือ กุศลเป็นสภาพที่ทำการงดเว้นจากอกุศลบาปธรรมทั้งปวง เช่น กุศลกรรมบถ ๑๐ แปลว่า หนทางที่ทำให้เกิดกุศล ได้แก่ การงดเว้นจากกายทุจริต ๓ วจีทุจริต ๔ และมโนทุจริต ๓ นั่นเอง เมื่องดเว้นได้แล้ว ก็เรียกว่า กุศล ส่วน บุญ นั้น เป็นสภาพที่ทำให้เพิ่มพูนขึ้น เพื่อให้สภาพของความดีที่ยังไม่เกิดได้เกิดขึ้น และเพื่อให้สภาพความดีที่เกิดมีอยู่แล้ว แต่ยังไม่เต็มเปี่ยมนั้นได้มีสภาพเต็มเปี่ยมขึ้นมา เรียกว่า บุญ เช่น บุญกิริยาวัตถุ ๑๐ แปลว่า สิ่งที่เป็นเหตุหรือเป็นฐานให้เกิดบุญ ฉะนั้น กุศล กับ บุญ จึงมีความเป็นไปในอรรถอันเดียวกัน กุศลนั้น จัดเข้าในพระพุทธพจน์บทว่า สัพพะปาปัสสะ อะกะระณัง แปลว่า การไม่ทำบาปทั้งปวง ส่วนบุญนั้น จัดเข้าในพระพุทธพจน์บทว่า กุสะลัสสูปะสัมปะทา แปลว่า การทำความดีให้เต็มบริบูรณ์ แต่ทั้ง ๒ อย่างนี้ย่อมเป็นไปเพื่อประโยชน์อันเดียวกัน ตามพระพุทธพจน์บทที่ว่า “สะจิตตะปะริโยทะปะนัง” แปลว่า การชำระจิตของตนให้ผ่องแผ้วจิ.๑๖


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |