| |
อหิริกะกับอโนตตัปปะ   |  

อหิริกเจตสิกและอโนตตัปปเจตสิกทั้ง ๒ ดวง มีลักษณะคล้ายคลึงกัน คือ เป็นสภาวธรรมที่ทำให้สัมปยุตตธรรม คือ จิตและเจตสิกที่เกิดพร้อมกับตน มีสภาพด้านกระด้างและกล้าที่จะกระทำอกุศลกรรมต่าง ๆ แต่เมื่อกล่าวโดยอรรถแล้ว ย่อมมีความหมายแตกต่างกันอยู่บ้าง คือ อหิริกะ หมายถึง สภาวธรรมที่ไม่มีความละอาย หรือไม่รังเกียจต่อบาปธรรม ส่วนอโนตตัปปะ หมายถึง สภาวธรรมที่ไม่เกรงกลัวต่อบาปและผลของบาปที่จะเกิดขึ้น

ในอภิธัมมัตถวิภาวินีฎีกา ท่านพระฎีกาจารย์ได้แสดงการเปรียบเทียบความแตกต่างกันระหว่างอหิริกะและอโนตตัปปะไว้ว่า “บุคคลผู้ไม่มีหิริ ย่อมไม่เกลียดบาป เหมือนสุกรไม่เกลียดคูถ บุคคลผู้ไม่มีโอตตัปปะ ย่อมไม่กลัวบาป เหมือนตั๊กแตนไม่กลัวไฟ [แมลงเม่าไม่กลัวไฟ]” ฉันนั้น

อหิริกะและอโนตตัปปะทั้ง ๒ ชื่อว่า เป็นกำลังในการกระทำทุจริตกรรมทั้งปวง จึงเรียกว่า พลธรรมฝ่ายอกุศล ถ้าอหิริกะและอโนตตัปปะมีกำลังมาก ย่อมเป็นเหตุให้บุคคลกระทำอกุศลกรรมได้โดยไม่ย่อท้อ เปรียบเหมือนบุคคลผู้มีกำลังมาก ย่อมทำกิจการงานได้โดยไม่ย่อท้อและเหน็ดเหนื่อย ฉันนั้น ด้วยเหตุนี้ ในอกุศลจิตทุกดวงจึงมีอหิริกะและอโนตตัปปะประกอบร่วมด้วยทุกดวง จึงเป็นเหตุให้บุคคลประกอบทุจริตกรรมได้สำเร็จ เพราะอาศัยกำลังแห่งอหิริกะและอโนตตัปปะ ซึ่งมีสภาพเป็นพลธรรมนั่นเอง


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |