| |
คุณสมบัติพิเศษของชีวิตรูป   |  

อาจารย์วรรณสิทธิ ไวทยะเสวีรุ.๓๐๓ อดีตประธานมูลนิธิแนบ มหานีรานนท์ได้แสดงคุณลักษณะพิเศษของชีวิตรูปไว้ดังต่อไปนี้

ชีวิตรูปมีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตนที่ไม่เหมือนกันกับปรมัตถธรรมเหล่าอื่น ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ ซึ่งมี ๔ ประการ มีลักษณะ เป็นต้น เพราะฉะนั้น จึงเรียกว่า ลักขณาทิจตุกกะ มีดังต่อไปนี้

๑. สหชาตรูปานํ อนุปาลนลกฺขณํ มีการตามรักษารูปที่เกิดร่วมกันกับตน เป็นลักษณะ

๒. เตสํ ปวตฺตนรสํ มีการดำรงไว้ซึ่งสหชาตรูปเหล่านั้นให้เป็นไปได้ เป็นกิจ

๓. เตสญฺเว ยาปนปจฺจุปฏฺานํ มีการประกอบ[หล่อเลี้ยง]ให้รูปเหล่านั้นเป็นไปอยู่ เป็นผลปรากฏ

๔. ยาปนิตพฺพปทฏฺานํ มีมหาภูตรูปที่พึงรักษาเลี้ยงดู เป็นเหตุใกล้ให้เกิด

คำอธิบายเพิ่มเติมของผู้เขียน :

จากลักษณะพิเศษทั้ง ๔ ประการของชีวิตรูปที่ท่านได้แสดงไปแล้วนั้น ผู้เขียนขออธิบายขยายความหมายเพิ่มเติ่มเพื่อความเข้าใจรายละเอียดของคุณสมบัติแต่ละอย่างเหล่านั้นให้ยิ่งขึ้น ดังต่อไปนี้

๑. สหชาตรูปานํ อนุปาลนลกฺขณํ มีการตามรักษารูปที่เกิดร่วมกันกับตน เป็นลักษณะ หมายความว่า ชีวิตรูปนี้เมื่อปรากฏเกิดขึ้นแล้ว ย่อมมีสภาวลักษณะอันเป็นคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตนในการหล่อเลี้ยงรักษากัมมชรูปทั้งหลายที่เกิดพร้อมกันกับตนในกลาปเดียวกันนั้น ให้สามารถดำรงอยู่ได้จนครบกำหนดอายุของตน ๆ ไม่ให้ดับไปเสียก่อน ทำให้รูปทั้งหลายที่เกิดพร้อมกันในกลาปเดียวกันนั้น สามารถเป็นไปโดยความเป็นสหชาตธรรม กล่าวคือ เกิดพร้อมกัน มีที่อาศัยเกิดอันเดียวกัน และดับพร้อมกัน นี้เป็นคุณลักษณะเฉพาะตนของชีวิตรูป

๒. เตสํ ปวตฺตนรสํ มีการดำรงไว้ซึ่งสหชาตรูปเหล่านั้นให้เป็นไปได้ เป็นกิจ หมายความว่า ชีวิตรูปนี้เมื่อปรากฏเกิดขึ้นแล้วย่อมมีหน้าที่ในการดำรงไว้ซึ่งสหชาตรูป คือ รูปที่เกิดพร้อมกันในกลาปเดียวกัน ไม่ให้ดับไปเสียก่อนที่จะถึงกำหนดอายุของรูปนั้น ๆ นี้เป็นหน้าที่อันเป็นคุณสมบัติของชีวิตรูป ที่เรียกว่า สัมปัตติรส เพราะชีวิตรูปนั้น เป็นอัพยากตธรรม คือ เป็นธรรมที่ไม่มีความขวนขวายเพื่อให้สิ่งใดสิ่งหนึ่งเกิดขึ้นแต่ประการใด เพียงแต่เป็นไปตามเหตุปัจจัยของชีวิตรูปเท่านั้น ซึ่งเป็นไปโดยสภาวะของชีวิตรูปนี้ ไม่มีบุคคลใดหรือสิ่งใดมาบงการบังคับบัญชาแต่ประการใด กล่าวคือ เมื่อปรากฏเกิดขึ้นแล้วย่อมปรากฏสภาวะในการทำให้กัมมชรูปทั้งหลายที่เกิดพร้อมกันกับตนดำรงอยู่ได้จนหมดอายุขัยของตน ๆ โดยไม่ดับไปเสียก่อน

๓. เตสญฺเว ยาปนปจฺจุปฏฺานํ มีการประกอบ[หล่อเลี้ยง]ให้รูปเหล่านั้นเป็นไปอยู่ เป็นผลปรากฏ หมายความว่า ชีวิตรูปนี้เมื่อเกิดขึ้นแล้วย่อมปรากฏสภาวะที่เป็นการกระทำให้กัมมชรูปที่เกิดพร้อมกันกับตนในกลาปเดียวกันนั้นสามารถดำเนินไปได้ กล่าวคือ ให้สามารถเกิดขึ้นพร้อมกัน ตั้งอยู่พร้อมกัน และดับไปพร้อมกัน โดยไม่มีรูปอย่างใดอย่างหนึ่งดับไปเสียก่อน นี้เป็นคุณสมบัติที่ปรากฏสภาวะออกมาของชีวิตรูป ซึ่งเป็นไปตามเหตุปัจจัย โดยไม่มีบุคคลใดหรือสิ่งใดมาบงการบังคับบัญชา และไม่มีเจตนาในการจัดแจงปรุงแต่งให้เป็นไปแต่ประการใดทั้งสิ้น กล่าวคือ ชีวิตรูปก็ไม่รู้ว่าตนเองกำลังหล่อเลี้ยงกัมมชรูป อื่น ๆ กัมมชรูปเหล่าอื่นก็ไม่รู้ว่าตนถูกชีวิตรูปหล่อเลี้ยงไว้

๔. ยาปนิตพฺพปทฏฺานํ มีมหาภูตรูปที่พึงรักษาเลี้ยงดู เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า ชีวิตรูปนี้จะปรากฏเกิดขึ้นมาแสดงบทบาทและหน้าที่ของตนได้ ก็ต้องมีมหาภูตรูปที่จะพึงรักษาหล่อเลี้ยง อนึ่ง มหาภูตรูปที่จะพึงรักษาหล่อเลี้ยงนี้ ก็ต้องเป็นมหาภูตรูปที่เกิดจากกรรม ที่จะเป็นฐานรองรับให้กัมมชรูปอย่างอื่นที่เกิดพร้อมกันได้อาศัยปรากฏเกิดขึ้นด้วย เพราะถ้าเป็นมหาภูตรูปที่เกิดจากสมุฏฐานอย่างอื่น กัมมชรูปทั้งหลายย่อมไม่สามารถอาศัยเกิดขึ้นได้ และชีวิตรูปนี้ก็เป็นกัมมชรูปอย่างหนึ่งที่มีหน้าที่อันเป็นคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตนในการตามรักษาหล่อเลี้ยงกัมมชรูปทั้งหลายที่เกิดพร้อมกันกับตน อนึ่ง มหาภูตรูปเหล่านั้นต้องเป็นรูปที่เกิดในกลาปเดียวกันเท่านั้น ถ้าเป็นมหาภูตรูปที่เกิดอยู่ในกลาปอื่น ย่อมไม่สามารถเป็นฐานรองรับให้กัมมชรูปที่จะเกิดในอีกกลาปหนึ่งอาศัยเกิดขึ้นได้เช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น จึงสรุปได้ว่า มหาภูตรูปที่เกิดจากกรรมและเกิดอยู่ในกลาปเดียวกันกับชีวิตรูปนั่นเอง เป็นรูปที่ชีวิตรูปจะปรากฏเกิดขึ้นมาทำการหล่อเลี้ยงรักษา รูปอื่น ๆ นอกจากนี้ ย่อมไม่สามารถเป็นเหตุใกล้ให้ชีวิตรูปเกิดขึ้นได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |