| |
ความอัศจรรย์แห่งพระธรรมวินัย ๘ ประการ   |  

๑. มีการศึกษาปฏิบัติไปตามลำดับ ไม่มีการบรรลุอรหัตตผลก่อนแต่แรกเริ่ม

๒. ไม่มีการล่วงละเมิดพระพุทธบัญญัติของเหล่าภิกษุสาวกแม้จะสิ้นชีวิต

๓. ไม่เป็นสถานที่ให้พระสงฆ์อยู่ร่วมกับบุคคลผู้ทุศีล มีบาปธรรมอันลามก

๔. เป็นที่ให้คนต่างวรรณะที่บวชแล้วได้ชื่อว่าสมณศากยบุตรเหมือนกัน

๕. ไม่ทำให้นิพพานธาตุพร่องหรือเต็ม แม้จะมีบุคคลเข้าถึงปรินิพพานกันไปเป็นจำนวนมากก็ตาม

๖. มีรสเพียงอย่างเดียว คือ วิมุตติรส

๗. มีธรรมรัตนะมากมาย เช่น สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ เป็นต้น

๘. เป็นที่พำนักอาศัยของเหล่าพระอริยบุคคลผู้มากด้วยคุณธรรม

ดังที่มาในปาติโมกขัฏฐปนขันธกะ พระวินัยปิฎก จุลลวรรค ปหารราทสูตร อังคุตตรนิกาย อัฏฐกนิบาตแสดงไว้ว่า ดูกรภิกษุทั้งหลาย ความอัศจรรย์ไม่เคยมีในธรรมวินัยนี้ มี ๘ ประการ ที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วชื่นชมยินดีในธรรมวินัยกันอยู่ ความอัศจรรย์มีดังนี้

๑. มีการศึกษา มีการกระทำ มีการปฏิบัติไปตามลำดับ หาได้มีการบรรลุอรหัตตผลมาแต่แรกเริ่มไม่ เหมือนมหาสมุทรที่ลาดลุ่มลึกลงไปโดยลำดับ หาได้โกรกชันเหมือนภูเขาขาดไม่ นี้เป็นความอัศจรรย์ไม่เคยมีในธรรมวินัยที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วชื่นชมยินดีในธรรมวินัยนี้กันอยู่

๒. สาวกทั้งหลายของเราจะไม่ยอมล่วงละเมิดสิกขาบทที่เราบัญญัติแล้วแก่สาวกทั้งหลาย แม้เพราะเหตุแห่งชีวิต เหมือนมหาสมุทรที่เต็มเปี่ยมอยู่เสมอไม่ล้นฝั่ง นี้เป็นความอัศจรรย์ไม่เคยมีในธรรมวินัยที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วชื่นชมยินดีในธรรมวินัยนี้กันอยู่

๓. บุคคลใดเป็นผู้ทุศีล มีบาปธรรมอันลามก เปียกชุ่มด้วยกิเลส เป็นเหมือนขยะ สงฆ์จะไม่อยู่ร่วมกับบุคคลนั้น แต่จะประชุมกันยกเธอเสียโดยพลัน แม้ว่าเธอจะนั่งอยู่ในท่ามกลางสงฆ์ก็ตาม ถึงอย่างนั้น เธอก็ชื่อว่า อยู่ห่างจากสงฆ์ และสงฆ์ก็ชื่อว่าอยู่ห่างจากเธอเช่นเดียวกัน เหมือนมหาสมุทรที่ไม่ระคนปนอยู่กับซากศพที่ตายแล้ว ซากศพที่มีอยู่ในมหาสมุทรจะถูกคลื่นซัดลอยเข้าหาฝั่งขึ้นบนบก นี้เป็นความอัศจรรย์ไม่เคยมีในธรรมวินัยที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วชื่นชมยินดีในธรรมวินัยนี้กันอยู่

๔. วรรณะทั้ง ๔ คือ กษัตริย์ พราหมณ์ แพศย์ ศูทร ออกจากเรือนมาบวชเป็นบรรพชิตในธรรมวินัยที่ตถาคตประกาศแล้ว ย่อมละชื่อและตระกูลเดิมเสีย รวมเรียกว่า สมณะเชื้อสายศากยบุตรทั้งสิ้น เหมือนแม่น้ำสายใหญ่ ๆ ทั้งหลาย ได้แก่ แม่น้ำคงคา ยมุนา อจิรวดี สรภู มหี ที่ไหลไปถึงมหาสมุทรแล้วย่อมละชื่อเดิมของตนเสียรวมเรียกว่า มหาสมุทรเหมือนกันหมด นี้เป็นความอัศจรรย์ไม่เคยมีในธรรมวินัยที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วชื่นชมยินดีในธรรมวินัยนี้กันอยู่

๕. ภิกษุแม้จะมีจำนวนมาก ปรินิพพานไปด้วยอนุปาทิเสสนิพพานธาตุ นิพพานธาตุก็มิได้ปรากฏว่าจะพร่องหรือเต็มเพราะการปรินิพพานนั้นเลย เหมือนแม่น้ำทุกสายในโลกย่อมไหลไปรวมลงในมหาสมุทร ทั้งสายฝนจากฝากฟ้าก็ตกลงในมหาสมุทร แต่มหาสมุทรก็มิได้ปรากฏว่าจะพร่องหรือเต็มเพราะน้ำนั้น ๆ เลย นี้เป็นความอัศจรรย์ไม่เคยมีในธรรมวินัยที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วชื่นชมยินดีในธรรมวินัยนี้กันอยู่

๖. ธรรมวินัยนี้มีรสเพียงอย่างเดียวคือวิมุตติรส เหมือนมหาสมุทรย่อมมีรสเดียวคือรสเค็ม นี้เป็นความอัศจรรย์ไม่เคยมีในธรรมวินัยที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วชื่นชมยินดีในธรรมวินัยนี้กันอยู่

๗. ธรรมวินัยนี้มีรัตนะมากมายหลายชนิด ได้แก่ สติปัฏฐาน ๔ สัมมัปปธาน ๔ อิทธิบาท ๔ อินทรีย์ ๕ พละ ๕ โพชฌงค์ ๗ มรรคมีองค์ ๘ เป็นต้น เหมือนมหาสมุทรที่มีรัตนะมากมายหลายชนิด ได้แก่ แก้วมุกดา แก้วมณี เป็นต้น นี้เป็นความอัศจรรย์ไม่เคยมีในธรรมวินัยที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วชื่นชมยินดีในธรรมวินัยนี้กันอยู่

๘. ธรรมวินัยนี้เป็นที่พำนักอาศัยของคนใหญ่ ๆ ได้แก่ โสดาบัน ๑ ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งโสดาปัตติผล ๑ สกิทาคามี ๑ ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งสกิทาคามิผล ๑ อนาคามี ๑ ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอนาคามิผล ๑ พระอรหันต์ ๑ ผู้ปฏิบัติเพื่อทำให้แจ้งซึ่งอรหัตตผล ๑ เหมือนมหาสมุทรเป็นที่พำนักอาศัยของสิ่งมีชีวิตขนาดใหญ่ ได้แก่ ปลาติมิ ปลาติมิงคละ ปลาติมิติมิงคละ ปลามหาติมิงคละ พวกอสูร พวกนาค พวกคนธรรพ์ เป็นต้น นี้เป็นความอัศจรรย์ไม่เคยมีในธรรมวินัยที่ภิกษุทั้งหลายพบเห็นแล้วชื่นชมยินดีในธรรมวินัยนี้กันอยู่


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |