| |
วิเสสลักษณะของจิต   |  

จิตนี้ถึงแม้จะมีสภาพความเป็นไปโดยสามัญญลักษณะ คือ ลักษณะที่เสมอกันของสังขตธรรมทั้งปวงก็ตาม แต่จิตนี้ย่อมมีคุณสมบัติพิเศษอันเป็นเอกลักษณ์เฉพาะตนที่ไม่เหมือนกันกับปรมัตถธรรมอย่างอื่น เรียกว่า วิเสสลักษณะของจิต ซึ่งมี ๔ ประการ มีลักษณะเป็นต้น จึงเรียกว่า ลักขณาทิจตุกกะ กล่าวคือ

๑. อารัมมะณะวิชานะนะลักขะณัง มีการรู้อารมณ์เป็นลักษณะ หมายความว่า จิตนี้มีการได้รับรู้อารมณ์อยู่ตลอดเวลา ทางทวารทั้ง ๖ คือ เห็นรูปทางตา ได้ยินเสียงทางหู ได้กลิ่นทางจมูก รู้รสทางลิ้น รู้กระทบสัมผัสทางกาย รู้สึกนึกคิดทางใจ ไม่มีจิตดวงใดที่เกิดขึ้นมาแล้วไม่มีการรับรู้อารมณ์ จึงเรียกว่า ธรรมชาติที่รู้อารมณ์

๒. ปุพพังคะมะนะระสัง มีการเป็นประธานในธรรมทั้งปวง เป็นกิจ หมาย ความว่า ธรรมทั้งหลาย ล้วนมีใจเป็นใหญ่ มีใจเป็นหัวหน้า มีใจเป็นผู้ริเริ่มก่อน และสำเร็จได้ด้วยใจทั้งสิ้น ถ้าบุคคลใดมีใจดีแล้ว จะพูด จะทำ จะคิด ย่อมดีตามไปด้วย แต่ถ้าบุคคลใด มีใจชั่วแล้ว จะพูด จะทำ จะคิด ย่อมชั่วตามไปด้วยเช่นกัน และสภาพธรรมทั้งหลายที่เกิดพร้อมกับจิต ย่อมเป็นไปตามอำนาจของจิตด้วยนั่นเอง

๓. สันธานะปัจจุปปัฏฐานัง มีการเกิดขึ้นต่อเนื่องกันไม่ขาดสาย เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า สภาพของจิตนั้น ไม่มีการหยุดพัก แม้ในเวลาที่สัตว์ทั้งหลายหลับอยู่ จิตก็ยังเกิดดับติดต่อกันไปโดยไม่ขาดสาย และเมื่อจุติ คือ ตายจากภพชาติเก่าแล้ว ปฏิสนธิจิต ก็เกิดขึ้นในภพชาติใหม่ทันที ไม่มีการท่องเที่ยวแสวงหาที่เกิด ที่เรียกว่า สัมภเวสีจิ.๓ ดังที่เข้าใจกันแต่อย่างใด และเมื่อเกิดขึ้นในภพใหม่แล้ว ย่อมมีการเกิดดับรับอารมณ์ต่าง ๆ ต่อไปเช่นเดียวกัน เป็นอยู่เช่นนี้เรื่อยไปในสังสารวัฏฏ์ จนกว่าจะเข้าสู่ปรินิพพาน จึงจะดับสนิทเป็นครั้งสุดท้าย

๔. นามะรูปะปะทัฏฐานัง มีนามรูป เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า การที่จิตจะเกิดสืบต่อกันไปในภพภูมิใหม่ได้นั้น ต้องมีปฏิสนธินามรูป คือ ปฏิสนธิจิต เจตสิกที่ประกอบและกัมมชรูปที่เกิดพร้อมด้วยปฏิสนธิจิตนั้น [หมายเอาเฉพาะในปัญจโวการภูมิ ๒๖ ส่วนในอรูปภูมิ ๔ ที่เรียกว่า จตุโวการภูมิ นั้นไม่มีรูปเกิด มีแต่ปฏิสนธินามขันธ์ ๔ คือ มีแต่ปฏิสนธิจิตกับเจตสิกที่ประกอบเท่านั้น] เกิดขึ้นมาก่อน แล้วจิตดวงอื่น ๆ จึงจะเกิดสืบต่อกันไปในภพภูมินั้นต่อไปได้อีก

วิเสสลักษณะ ๔ ประการนี้ เรียกว่า คุณสมบัติพิเศษของจิต ก็ได้


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |