| |
ประเภทของเจตสิก   |  

เจตสิกทั้ง ๕๒ ดวงนั้น แบ่งเป็น ๓ ประเภท เรียกว่า ราสี แปลว่า กอง หรือ หมวด หมู่ มี ๓ ราสี คือ

๑. อัญญสมานราสี หมายถึง หมวดหมู่เจตสิกที่สามารถเกิดได้กับธรรมอื่น คือ เกิดได้กับกุศลจิต อกุศลจิต วิบากจิต กิริยาจิต หรือเกิดได้กับโสภณจิตและอโสภณจิตเป็นต้นได้ทั่วไป มี ๑๓ ดวง แบ่งเป็น ๒ กลุ่ม ได้แก่ สัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ปกิณณกเจตสิก ๖ เป็นกลุ่มเจตสิกที่เป็นพื้นฐานให้จิตรับรู้อารมณ์ได้ โดยเฉพาะสัพพจิตตสาธารณเจตสิกทั้ง๗ ดวงนั้น ต้องประกอบกับจิตทุกดวง เพราะเป็นสภาวธรรมที่เป็นพื้นฐานให้จิตรับรู้อารมณ์ได้โดยตรง ถ้าขาดสัพพจิตตสาธารณเจตสิก๗ ดวงใดดวงหนึ่งแล้ว จิตย่อมไม่สามารถรับรู้อารมณ์ได้ ส่วนปกิณณกเจตสิก ๖ นั้น เป็นสภาวธรรมที่ช่วยเสริมประสิทธิภาพในการรับรู้อารมณ์ของจิตบางดวงเท่าที่จำเป็น ด้วยเหตุนี้ ปกิณณกเจตสิกจึงประกอบกับจิตได้เป็นบางดวง ส่วนอีกบางดวงไม่เข้าประกอบ เนื่องมาจากเหตุผลของเจตสิกแต่ละดวง

๒. อกุศลราสี หมายถึง หมวดหมู่อกุศลเจตสิกที่ประกอบกับอกุศลจิตเท่านั้น มีจำนวน ๑๔ ดวง แบ่งเป็น ๕ กลุ่มได้แก่ โมจตุกเจตสิก ๔ โลติกเจตสิก ๓ โทจตุกเจตสิก ๔ ถีทุกเจตสิก ๒ วิจิกิจฉาเจตสิก ๑ เจตสิกเหล่านี้เมื่อประกอบกับจิตแล้ว ย่อมทำให้จิตกลายสภาพเป็นอกุศลจิตไปด้วย ตามสภาพหมวดหมู่ของเจตสิกนั้น โดยมีโมจตุกเจตสิก ๔ เป็นพื้นฐานของอกุศลทั้งปวง หมายความว่า อกุศลจิตทุกดวงที่เกิดขึ้น ต้องมีโมจตุกเจตสิก ๔ ดวง เข้าประกอบร่วมด้วยเสมอ ส่วนอกุศลเจตสิกที่เหลือนอกนั้นย่อมประกอบร่วมเฉพาะกลุ่มของตนและเจตสิกอื่น ตามสมควรที่จะประกอบได้ เช่น เมื่อกลุ่มโลติกเจตสิก ๓ เข้าไปร่วมกับโมจตุกเจตสิก ๔ จิตก็กลายเป็นโลภมูลจิตไป เมื่อกลุ่มโทจตุกเจตสิก ๔ เข้าไปร่วมกับโมจตุกเจตสิก ๔ จิตก็กลายเป็นโทสมูลจิตไป เมื่อกลุ่มถีทุกเจตสิก ๒ เข้าไปสมทบกับอกุศลเจตสิกกลุ่มอื่น ๆ จิตก็กลายเป็นอกุศลสสังขาริกจิตไป เมื่อวิจิกิจฉาเจตสิก เข้าไปร่วมกับโมจตุกเจตสิก ๔ จิตก็กลายเป็นโมหมูลจิตไป [โมหมูลจิตดวงที่ ๑] อกุศลเจตสิกเหล่านี้ย่อมเกิดร่วมกับอัญญสมานเจตสิก ๑๓ ตามสมควรที่จะเกิดร่วมกันได้

๓. โสภณราสี หมายถึง หมวดหมู่แห่งโสภณเจตสิก คือ เจตสิกที่เป็นฝักฝ่ายแห่งธรรมอันดีงาม มี ๒๕ ดวง แบ่งเป็น ๔ กลุ่ม ได้แก่ โสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ วิรตีเจตสิก ๓ อัปปมัญญาเจตสิก ๒ ปัญญินทรียเจตสิก ๑ เมื่อเจตสิกเหล่านี้เข้าประกอบกับจิตร่วมกับอัญญสมานราสี จิตย่อมกลายเป็นโสภณจิต คือ จิตที่ดีงาม โดยเป็นกามาวจรโสภณจิตบ้าง รูปาวจรจิตบ้าง อรูปาวจรจิตบ้าง โลกุตตรจิตบ้าง ตามสมควรแก่เหตุปัจจัยและกำลังของโสภณจิตนั้น ๆ โดยมีโสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวงเป็นพื้นฐานของโสภณจิต หมายความว่า โสภณจิตทุกดวงที่เกิดขึ้น ต้องมีโสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ ดวงประกอบร่วมด้วยเสมอ ขาดเสียดวงใดดวงหนึ่งไม่ได้ ส่วนวิรตีเจตสิก ๓ และอัปปมัญญาเจตสิก ๒ ประกอบกับจิตได้เป็นบางครั้งบางคราว ตามสมควรแก่สภาพของอารมณ์ของเจตสิกนั้นโดยเฉพาะ ๆ และปัญญินทรียเจตสิก ย่อมประกอบกับโสภณจิต ร่วมกับโสภณเจตสิกอื่น ๆ และอัญญสมานเจตสิก ๑๓ ทำให้โสภณจิตกลายเป็นญาณสัมปยุตตจิต แปลว่า จิตที่ประกอบด้วยปัญญา

เมื่อรวมความแล้ว จิตทุกดวงต้องมีสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ เข้าประกอบร่วมด้วยเสมอ และมีปกิณณกเจตสิกประกอบร่วมด้วยเป็นบางดวง ในอกุศลจิตทั้งหมดนั้น นอกจากมีสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ เป็นพื้นฐานแล้ว ย่อมมีโมจตุกเจตสิกอีก ๔ ดวงเข้าร่วมสมทบด้วยเสมอ ขาดเสียมิได้เช่นเดียวกัน ส่วนในโสภณจิตทั้งหมดนั้น ย่อมมีโสภณสาธารณเจตสิก ๑๙ เข้าร่วมสมทบกับสัพพจิตตสาธารณเจตสิก ๗ ด้วยเช่นเดียวกัน

ดังที่ท่านพระอนุรุทธาจารย์เถระเจ้าได้แสดงคาถาสังคหะไว้ดังต่อไปนี้

เตรสญฺสมานา จ    จุทฺทสากุสลา ตถา
โสภณา ปญฺจวีสาติ    ทฺวิปญฺาส ปวุจฺจเร ฯ

แปลความว่า

ท่านกล่าวว่าจำนวนเจตสิกมี ๕๒ คือ อัญญสมานเจตสิก ๑๓ อกุศลเจตสิก ๑๔ โสภณเจตสิก ๒๕


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |