| |
ตทาลัมพนจิต   |  

ตทาลัมพนจิต เป็นจิตที่เกิดขึ้นโดยความเป็นผลของกุศลและอกุศล เพื่อรับรู้ หรือหน่วงเหนี่ยวอารมณ์ ๖ อย่าง ได้แก่ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ และธัมมารมณ์ อย่างใดอย่างหนึ่ง ต่อจากกามชวนจิต ๒๙ ดวงใดดวงหนึ่ง ทางทวาร ๖ หมายความว่า ถ้าอารมณ์ ๖ อย่างใดอย่างหนึ่งนั้น เป็นอนิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่ไม่น่าปรารถนา ตทาลัมพนจิตที่เกิดขึ้นรับรู้หรือหน่วงเหนี่ยวอารมณ์นั้น ก็เป็นอกุศลวิบาก คือ อุเบกขาสันตีรณอกุศลวิปากจิต ถ้าอารมณ์ ๖ อย่างนั้น เป็นอิฏฐมัชฌัตตารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าปรารถนาระดับปานกลาง ตทาลัมพนจิตที่เกิดขึ้นรับรู้หรือหน่วงเหนี่ยวอารมณ์นั้น ก็เป็นกุศลวิบากที่เป็นอุเบกขาเวทนา คือ อุเบกขาสันตีรณกุศลวิปากจิต ๑ และ มหาวิบากอุเบกขาสหคตจิต ๔ ถ้าอารมณ์ ๖ อย่างนั้นเป็น อติอิฏฐารมณ์ คือ อารมณ์ที่น่าปรารถนาอย่างยิ่ง ตทาลัมพนจิตที่เกิดขึ้นรับรู้หรือหน่วงเหนี่ยวอารมณ์นั้น ก็เป็นกุศลวิบากที่เป็นโสมนัสสเวทนา คือ โสมนัสสันตีรณกุศลวิปากจิต และ มหาวิบากโสมนัสสสหคตจิต ๔ ฉะนั้น ตทาลัมพนจิตนี้ จึงมี ๑๑ ดวง คือ สันตีรณจิต ๓ มหาวิปากจิต ๘

อนึ่ง ตทาลัมพนจิตนี้ จะเกิดขึ้นได้ต้องพร้อมด้วยองค์ประกอบ ๕ ประการคือ

๑. บุคคลนั้นต้องเป็นบุคคลที่เกิดอยู่ในกามภูมิ ๑๑ เรียกว่า กามบุคคล เท่านั้น

๒. อารมณ์นั้น ต้องเป็นอารมณ์ที่เกี่ยวกับกาม คือ กามาวจรจิต ๕๔ เจตสิก ๕๒ รูป ๒๘ เรียกว่า กามอารมณ์ เท่านั้น

๓. วิถีจิตนั้น ต้องเป็นวิถีของกามจิต ได้แก่ การเกิดขึ้นของกามาวจรจิต ๕๔ เรียกว่า กามวิถี เท่านั้น

๔. ชวนจิต ที่เกิดในวิถีนั้น ต้องเป็นกามาวจรจิต ที่ทำหน้าที่ชวนะได้แก่ อกุศลจิต ๑๒ หสิตุปปาทจิต ๑ มหากุศลจิต ๘ มหากิริยาจิต ๘ เรียกว่า กามชวนะ เท่านั้น

๕. วิสยัปปวัตติ คือ ประเภทของวิถีจิตนั้น ต้องเป็นวิถีจิตที่มีอารมณ์ปรากฏชัดเจน ทางปัญจทวาร เรียกว่า อติมหันตารมณ์วิถี หรือ ทางมโนทวาร เรียกว่า วิภูตารมณ์วิถี [ถ้าจำแนกวิสยัปปวัตติทางมโนทวารวิถี เป็น ๔ ประเภท ก็ได้แก่ อติวิภูตารมณ์] เท่านั้น

เพราะฉะนั้น จึงสรุปได้ว่า ตทาลัมพนจิตนี้ จะเกิดขึ้นได้ ต้องประกอบด้วยองค์ ประกอบ ๕ ประการ คือ กามบุคคล กามอารมณ์ กามวิถี กามชวนะ และอติมหันตารมณ์วิถีหรือวิภูตารมณ์วิถี [หรืออติวิภูตารมณ์วิถี] ถ้าไม่ครบองค์ประกอบทั้ง ๕ ประการเหล่านั้นแล้ว ตทาลัมพนจิต ย่อมเกิดขึ้นไม่ได้

อนึ่ง ตทาลัมพนจิต เวลาจะเกิดขึ้นนั้นต้องเกิด ๒ ขณะเสมอ จะเกิดน้อยกว่าหรือมากกว่า ๒ ขณะนั้นไม่ได้ ถ้าเกิด ๒ ขณะไม่ได้ ก็จะไม่เกิดเลย เช่น เมื่อกามชวนจิต เสพกามอารมณ์ไปแล้ว ๗ ขณะ แต่อายุของอารมณ์นั้น ยังเหลืออยู่อีกเพียงชั่ว ๑ ขณะจิตเท่านั้น ก็จะหมดอายุลงแล้ว เมื่อเป็นเช่นนี้ ตทาลัมพนจิตก็เกิดขึ้นไม่ได้ จึงต้องลงภวังค์ไปเลย หรือ ในทางมโนทวารวิถี ที่มีนิปผันนรูปเป็นอารมณ์ ซึ่งนิปผันนรูปนั้น มีอายุเท่ากับ ๑๗ ขณะของจิต แต่วิถีจิตทางมโนทวาร [ม] นั้น มีได้อย่างมากเพียง ๑๔ ขณะจิตเท่านั้น ซึ่งนับตั้งแต่อดีตภวังค์ [ตี] ดวงแรกที่มีอารมณ์มากระทบแล้ว คือ ตี น ท ม ช ช ช ช ช ช ช ต ต เมื่อตทาลัมพนจิต [ต] เสพกามอารมณ์คือนิปผันนรูป ต่อจากกามชวนจิต [ช] ๒ ขณะแล้ว ถึงแม้อารมณ์นั้นจะยังมีอายุเหลืออยู่อีกก็ตาม แต่ตทาลัมพนจิต ก็ไม่สามารถเกิดต่อเป็นขณะที่ ๓ ที่ ๔ ที่ ๕ จนครบอายุของอารมณ์นั้นได้ ย่อมเกิดได้เพียง ๒ ขณะเท่านั้น แล้วก็ลงสู่ภวังค์จนครบอายุของอารมณ์นั้นไปเลย

ตทาลัมพนจิตนี้ มีคุณสมบัติพิเศษเฉพาะตน ๔ ประการ ที่เรียกว่า วิเสสลักษณะ หรือ ลักขณาทิจตุกกะ คือ

๑. ชะวะนานันตะรัง ฉะฬารัมมะณะวิชชานะนะลักขะณัง มีการรับรู้ [หน่วงเหนี่ยว] อารมณ์ ๖ รองลำดับจากชวนจิต [เฉพาะกามชวนะ] เป็นลักษณะ หมายความว่า ตทาลัมพนจิตนี้ ต้องมีกามชวนจิต ๒๙ ดวง ดวงใดดวงหนึ่งเกิดขึ้นก่อนแล้ว จึงจะเกิดตามได้ ฉะนั้น ตทาลัมพนจิตนี้ จึงไม่เกิดต่อจากอัปปนาชวนะ ๒๖ อันได้แก่ มหัคคตกุศลจิต ๙ มหัคคตกิริยาจิต ๙ และโลกุตตรจิต ๘ หรือ ๔๐ ดวงใดดวงหนึ่งเลย

๒. รูปารัมมะณาทิตะทาลัมพะนะระสัง มีการหน่วงเหนี่ยวรูปารมณ์ เป็นต้น เป็นกิจ หมายความว่า ตทาลัมพนจิตนี้ ย่อมหน่วงเหนี่ยว คือ เสพกามอารมณ์ ๖ ต่อจากกามชวนะ คือ รูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ หรือธัมมารมณ์ที่เกี่ยวกับกาม อย่างใดอย่างหนึ่ง ที่ปรากฏทางทวาร ๖ ตามสมควรแก่ทวารนั้น ๆ ได้แก่ เสพรูปารมณ์ต่อจากกามชวนะทางจักขุทวารวิถี เสพสัททารมณ์ต่อจากกามชวนะทางโสตทวารวิถี ดังนี้เป็นต้น เมื่อกามชวนจิต ดวงใดดวงหนึ่ง เสพอารมณ์ครบ ๗ ขณะแล้ว แต่อารมณ์นั้นยังไม่ดับไป ยังมีอายุเหลืออยู่อีกเท่ากับ ๒ ขณะจิต ตทาลัมพนจิตนี้ ย่อมเกิดขึ้นเพื่อเสพอารมณ์นั้นจนหมดอายุไป เรียกว่า กินเศษเดนอารมณ์ ก็ได้

๓. ตะถาภาวะปัจจุปปัฏฐานัง มีความเป็นไปอย่างเดียวกันกับอารมณ์นั้น เป็นอาการปรากฏ หมายความว่า ตทาลัมพนจิตนี้ สามารถปรับสภาพของตนให้เข้ากับสภาพของอารมณ์ที่ตนมีหน้าที่รับอยู่นั้นได้อย่างกลมกลืน [คือ ถ้าเป็นอนิฏฐารมณ์ ก็เป็นหน้าที่ของตทาลัมพนจิตที่เป็นอกุศลวิบาก ถ้าเป็นอิฏฐมัชฌัตตารมณ์ ก็เป็นหน้าที่ของตทาลัมพนจิต ที่เป็นกุศลวิบากซึ่งเกิดพร้อมด้วยอุเบกขาเวทนา ถ้าเป็นอติอิฏฐารมณ์ ก็เป็นหน้าที่ของตทาลัมพนจิต ที่เป็นกุศลวิบากซึ่งเกิดพร้อมด้วยโสมนัสสเวทนา] โดยไม่มีความขัดแย้งหรือเป็นปฏิปักษ์ต่ออารมณ์นั้นแต่อย่างใด หรือไม่มีความเกี่ยงงอนต่อการรับอารมณ์นั้น ๆ แต่อย่างใด ไม่ว่าอารมณ์นั้น จะเป็นรูปารมณ์ สัททารมณ์ คันธารมณ์ รสารมณ์ โผฏฐัพพารมณ์ หรือธัมมารมณ์ก็ตาม ย่อมสามารถปรับสภาพยอมรับกับอารมณ์นั้นโดยดี และไม่มีความลำเอียงเกี่ยงงอนในทวารทั้ง ๖ ไม่ว่าจะเป็นจักขุทวาร โสตทวาร ฆานทวาร ชิวหาทวาร กายทวาร หรือมโนทวารก็ตาม ก็สามารถเกิดได้ทั้งนั้น ด้วยเหตุนี้ ตทาลัมพนจิตจึงสามารถเกิดขึ้นรับเศษเดนของกามอารมณ์ได้อย่างสม่ำเสมอกันทั้ง ๖ อารมณ์ และทั้ง ๖ ทวาร

๔. หะทะยะวัตถุปะทัฏฐานัง มีหทยวัตถุ เป็นเหตุใกล้ให้เกิด หมายความว่า ตทาลัมพนจิตนี้ ย่อมเกิดได้เฉพาะกับกามบุคคล คือ บุคคลที่เกิดในกามภูมิ ๑๑ เท่านั้น และกามบุคคลนั้น ถ้าเป็นบุคคลที่มีรูปเกิดได้สมบูรณ์ ไม่มีความบกพร่องแล้ว ย่อมมีวัตถุรูปเกิดได้ทั้ง ๖ คือ ตา หู จมูก ลิ้น กาย หัวใจ จึงเป็นผู้ที่มีทวารครบทั้ง ๖ ทวาร ฉะนั้น ตทาลัมพนจิตนี้ จึงสามารถเกิดได้ครบทั้ง ๖ ทวาร แต่ตทาลัมพนจิต ๑๑ ดวงนี้เป็นมโนวิญญาณธาตุ ซึ่งเป็นจิตที่ต้องอาศัยหทยวัตถุเกิดอย่างเดียว ไม่สามารถอาศัยวัตถุรูปอย่างอื่นเกิดได้ และจะเกิดขึ้นโดยที่ไม่ต้องอาศัยหทยวัตถุรูป ก็ไม่ได้เช่นกัน ฉะนั้น จึงสรุปได้ว่า ตทาลัมพนจิต ๑๑ ดวงนี้ ต้องเกิดกับบุคคลที่มีหทยวัตถุรูปเท่านั้น ด้วยเหตุนี้ หทยวัตถุรูปจึงเป็นเหตุใกล้ให้เกิดตทาลัมพนจิต ดังกล่าวแล้ว


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |