| |
เหตุให้เกิดทิฏฐิ ๕ ประการ [อีกนัยหนึ่ง]   |  

๑. ทิฏฐิชฌาสะยะตา มีความเห็นผิดเป็นอัธยาศัย หมายความว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ถูกความเห็นผิดห่อหุ้มจิตใจไว้ ไม่ให้เห็นความจริงของสภาวธรรมทั้งหลาย หรือไม่ให้เข้าใจเหตุผลตามความเป็นจริงของสิ่งต่าง ๆ แต่กลับทำให้เห็นผิดไปจากหลักความจริงเหล่านั้นเสีย และทำให้บุคคลประพฤติปฏิบัติหรือดำเนินชีวิตไปตามแนวทางความคิดเห็นของตน โดยที่ไม่สนใจเหลียวแลต่อความประพฤติที่ถูกต้อง หรือไม่สนใจเหลียวมองตัวอย่างจากบุคคลรอบข้างเลย ด้วยเหตุนี้ เมื่อบุคคลนั้นได้รับรู้อารมณ์ทางทวารต่าง ๆ อย่างใดอย่างหนึ่ง ย่อมเกิดการตอบสนองต่ออารมณ์นั้นด้วยความรู้สึกที่ผิดจากหลักทำนองคลองธรรมอันดีงาม ด้วยอำนาจสักกายทิฏฐิ ความเห็นว่าเป็นตัวตนก็ดี สัสสตทิฏฐิ ความเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างเที่ยงแท้แน่นอนก็ดี หรืออุจเฉททิฏฐิ ความเห็นว่าทุกสิ่งทุกอย่างขาดสูญก็ดี

๒. ทิฏฐิวิปปันนะปุคคะละเสวะนะตา ชอบคบหาสมาคมกับบุคคลผู้มีความเห็นผิด หมายความว่า แม้บุคคลนั้นจะไม่ได้เป็นคนที่มีความเห็นผิดเป็นอุปนิสัยมาแต่เดิมก็ตาม แต่วิถีชีวิตของบุคคลนั้นโดยมากมักชอบคบหาสมาคมกับบุคคลที่มีความคิดเห็นที่ผิดไปจากหลักทำนองคลองธรรม ด้วยอำนาจสักกายทิฏฐิก็ดี สัสสตทิฏฐิก็ดี หรืออุจเฉททิฏฐิก็ดี อย่างใดอย่างหนึ่งหรือหลายอย่าง เมื่อเสพคุ้นอยู่เสมอย่อมทำให้บุคคลนั้นมีใจโน้มเอียงไปตามความคิดความเห็น ความประพฤติปฏิบัติ หรือคำแนะนำสั่งสอนของบุคคลผู้มีความเห็นผิด เมื่อเป็นเช่นนี้ บุคคลนั้นย่อมกลายเป็นผู้มีความเห็นผิดและปฏิบัติผิดตามไปด้วย เพราะฉะนั้น เมื่อได้รับรู้อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่ง ทางทวารทั้ง ๖ ย่อมทำให้ตอบสนองต่ออารมณ์ด้วยความคิดความเห็นที่ผิดจากหลักทำนองคลองธรรมได้

๓. สัทธัมมะวิมุขะตา เป็นผู้หันหลังให้พระสัทธรรม หมายความว่า บุคคลนั้นเป็นผู้ไม่สนใจที่จะรับรู้หรือรับฟังพระสัทธรรมคำสอนอันดีงามของสัตบุรุษเลย วิถีชีวิตมีแต่การสนใจเรื่องทำมาหากิน สนใจแต่เรื่องลาภ ยศ สุข สรรเสริญ อำนาจวาสนา เป็นผู้หนักในลาภ หนักในยศถาบรรดาศักดิ์ หนักในอำนาจวาสนา ไม่สำนึกต่อความผิดชอบชั่วดี ไม่เคารพยำเกรงต่อพระสัทธรรม ไม่ให้ความสำคัญต่อหลักศีลธรรมและวัฒนธรรมประเพณีอันดีงามหรือหลักปฏิบัติที่ดำเนินไปสู่ความประเสริฐหมดจดแห่งกิเลสตัณหา มีแต่มุ่งหน้าพอกพูนกิเลสตัณหาให้หมักหมมอยู่ในจิตใจหนาแน่นมากขึ้น จึงทำให้บุคคลนั้นไม่รู้ในสิ่งที่ควรรู้ไม่ประพฤติปฏิบัติในสิ่งที่ควรประพฤติปฏิบัติ แต่กลับไปรู้ในสิ่งที่ไม่ใช่สาระแก่นสาร ปฏิบัติตนไปในแนวทางที่ไม่ควรยึดถือปฏิบัติ จึงเป็นการพอกพูนความเห็นผิดให้ห่อหุ้มจิตใจของตนเองอยู่เสมอเหมือนดินพอกหางหมู เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลนั้นได้รับรู้อารมณ์ต่าง ๆ ทางทวาร ๖ ย่อมเกิดการตอบสนองต่ออารมณ์ ด้วยอำนาจความเห็นผิดจากหลักทำนองคลองธรรมอันดีงามได้

๔. มิจฉาวิตักกะพะหุละตา ชอบครุ่นคิดอยู่แต่ในเรื่องที่ผิดหรือทางที่ผิด หมายความว่า จิตใจของบุคคลนั้น มักชอบคิดวนเวียนอยู่แต่ในเรื่องที่ผิดหรือคิดทำในทางที่ผิดจากหลักทำนองคลองธรรมเสมอ ไม่ว่าจะคิดทำด้วยกายก็ดี พูดออกมาทางวาจาก็ดี หรือดำริอยู่ในจิตใจก็ดี ย่อมวนเวียนอยู่แต่ในความคิดความเห็นที่ผิดนั่นเอง ไม่ใส่ใจที่จะคิดในทางที่ถูกต้อง บุคคลนั้นจึงสั่งสมความเห็นผิดให้พอกพูนในจิตใจมากขึ้นเช่นเดียวกัน เพราะฉะนั้น เมื่อบุคคลนั้นได้รับอารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งทางทวาร ๖ จึงเกิดการตอบสนองต่ออารมณ์ด้วยอำนาจความเห็นผิดอย่างใดอย่างหนึ่งได้

๕. อะโยนิโสอุมมุชชะนะตา จมอยู่ในความคิดที่ไม่แยบคาย หมายความว่า บุคคลผู้มีความคิดเห็นที่ไม่แยบคาย ขาดปัญญาในการพินิจพิจารณาให้ถูกต้อง อันเนื่องมาจากเหตุปัจจัยบางประการ เช่น เป็นผู้ไม่ได้สั่งสมปัญญามาแต่ปางก่อนก็ดี เป็นผู้อยู่ในประเทศที่ไม่สมควรก็ดี เป็นผู้ชอบคบหาสมาคมกับพวกอสัตบุรุษก็ดี เป็นผู้ได้รับการศึกษาไม่ถูกต้องก็ดี เป็นผู้ไม่ตั้งตนไว้ในทางที่ชอบก็ดี เป็นต้น เหล่านี้ล้วนทำให้บุคคล เป็นผู้จมอยู่ในความคิดที่ไม่แยบคาย เป็นคนไม่มีสติปัญญาที่จะพิจารณาหาเหตุผลให้รู้เห็นตามความเป็นจริง ถึงแม้จะมีบุคคลที่มีปัญญามาแนะนำให้ ก็ไม่ยอมเปิดใจยอมรับฟัง หรือไม่ตอบสนองต่อความจริงนั้น หรือสมรรถภาพแห่งสติปัญญาไม่สามารถรับรู้ถึงความจริงนั้นได้ อันเนื่องมาจากความเห็นผิดได้ห่อหุ้มจิตใจไว้จนมืดมิด ด้วยเหตุนี้ เมื่อบุคคลนั้นได้รับรู้อารมณ์อย่างใดอย่างหนึ่งทางทวาร ๖ ย่อมเกิดการตอบสนองต่ออารมณ์นั้นด้วยความเห็นผิด


เกี่ยวกับตำราอภิธรรม ออนไลน์ (Disclaimer)
ตำราอภิธรรมออนไลน์ พัฒนาขึ้นโดยความร่วมมือของอภิธรรมมหาวิทยาลัย วัดระฆังฯ วัดญาณเวศกวัน และ หอจดหมายเหตุพุทธทาส อินทปัญโญ เพื่อนำเสนอสื่อธรรมสำหรับการศึกษาค้นคว้า โดยได้รับอนุญาต และเอกสารต้นฉบับจากผู้เขียน ดังนี้
(๑) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๒), จิตปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๑, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๒) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๕๖), เจตสิกปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๒, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
(๓) พระมหาชินวัฒน์ จกฺกวโร (๒๕๖๓), รูปปรมัตถ์: คู่มือศึกษาอภิธัมมัตถสังคหะ ปริเฉจที่ ๖, พิมพ์ครั้งที่ ๑.
ผู้สนใจศึกษาสามารถติดต่อสอบถามรายละเอียดเกี่ยวกับหนังสือ และหลักสูตรการศึกษาได้ที่ สำนักงานอภิธรรมมหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทย วัดระฆังโฆษิตารามวรมหาวิหาร (คณะ ๗) แขวงศิริราช เขตบางกอกน้อย กรุงเทพฯ ๑๐๗๐๐ โทร ๐๒ ๔๑๑ ๔๕๔๖, ๑๒ ๔๑๒ ๑๐๘๔, ๐๘๖ ๐๓๘ ๒๙๓๓


  |